วิรัตน์ แสงทองคำ ว่าด้วย ซีพี-ทีซีซี : ยุทธศาสตร์ภูมิภาค (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
นายธนินทร์ เจียรวนนท์

หมายเหตุ – ซีรี่ส์ว่าด้วยธุรกิจครอบครัวไทย กับยุทธศาสตร์ภูมิภาค มองผ่านเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับเครือไทยเจริญ (ทีซีซี)

ว่าด้วยยุทธศาสตร์ภูมิภาคมองผ่านซีพี แม้บุคลิกและพัฒนาการแตกต่างกัน แต่ละช่วงเวลา แต่ถือว่าเป็นความต่อเนื่องที่สุดในสังคมธุรกิจไทย

“ซีพี มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับภูมิภาคมาตั้งแต่เริ่มต้น ตามจังหวะก้าวค่อยเป็นค่อยไป จนพัฒนายุทธศาสตร์ธุรกิจภูมิภาคได้อย่างลงตัว เป็นผู้นำ ผู้บุกเบิกอย่างแท้จริง ส่วนทีซีซี ผันจากธุรกิจสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นเฉพาะสังคมไทย เพิ่งก้าวออกสู่ภูมิภาคเพียงทศวรรษเดียว ด้วยแผนการเชิงรุก” ประเด็นที่ตั้งขึ้นครั้งแรกในการนำเสนอซีรี่ส์นี้ตั้งแต่ต้น (ซีพี-ทีซีซี : บทนำ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2559)

ทั้งนี้ ซีพีได้ผ่านช่วงเวลาพัฒนาการสร้างเครือข่ายธุรกิจภูมิภาคมาก่อนหน้า ทีซีซี ถึง 7 ทศวรรษเลยทีเดียว

ว่าไปแล้ว ประวัติศาสตร์ซีพียุคก่อตั้งในประเทศไทย เมื่อปี 2464 ด้วยการเปิด ร้านเจียไต๋

“ร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชเล็กๆ เริ่มหยั่งราก ณ ถนนทรงวาด ประเทศไทย โดยนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศจีนเข้ามาจำหน่ายโดยใช้ชื่อ ตราเรือบิน นับว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาดเมล็ดพันธุ์ผักเป็นรายแรกในประเทศไทย”( http://cpgroupglobal.com/) นั้น ควรถือเป็นเครือข่ายธุรกิจภูมิภาคแล้วก็คงได้

ในเชิงพัฒนาการแล้ว อาจถือเป็นส่วนหนึ่งในโมเดลธุรกิจ “ชาวจีนโพ้นทะเล” ในสังคมไทยในเวลานั้นด้วยก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจทรงอิทธิพลภายใต้ตระกูล-แซ่ ผู้มาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ควรอ้างถึง คือ พันธมิตรชิดใกล้ ตระกูลหวั่งหลี-ล่ำซำ-บูลสุข นอกจากปักหลักสร้างเครือข่ายธุรกิจสำคัญๆ ในสังคมไทยแล้ว ยังมีเครือข่ายธุรกิจเชื่อมโยงย่านชาวจีนโพ้นทะเล ฮ่องกง-อินโดนีเชีย-สิงคโปร์-มาเลเซีย และไทย โดยเฉพาะธุรกิจการค้าและการเดินเรือ

โดยเปรียบเทียบ กรณีร้านเจียไต๋ ถือเป็นจุดเริ่มต้นเพียงธุรกิจเล็กๆ ภายใต้ธุรกิจครอบครัว อาจยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

เรื่องราวยุคก่อตั้งที่มีสีสันและอ้างอิงได้ในหลายช่วงหลายตอนต่อจากนี้ ได้ตัดตอนและเรียบเรียงมาจากงานเขียนซึ่งปรากฏในสื่อยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น NIKKEI เพิ่งเผยแพร่เรื่องราวชีวิต ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ใน “บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History ความยาว 30 ตอน ตีพิมพ์ต้นฉบับเป็นภาษาญี่ปุ่น (–http://www.nikkei.com/ และเผยแพร่ออนไลน์ไปทั่วโลกในภาษาจีน และภาษาอังกฤษ–http://asia.nikkei.com/ ซีพีเองได้จัดการแปลเป็นภาษาไทยอย่างทันท่วงที–https://www.facebook.com/cpgroupnews..)

“ผักของแต้จิ๋วมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและรสชาติ แต่เมื่อนำเมล็ดพันธุ์นี้ไปปลูกในต่างประเทศ จะสามารถปลูกได้แค่ครั้งเดียว ไม่สามารถนำมาขยายเมล็ดพันธุ์แล้วนำไปปลูกซ้ำได้อีก ไม่เช่นนั้นคุณภาพและปริมาณผลผลิตจะลดลง ดังนั้น ในแต่ละปีต้องมีการซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ จากเมืองแต้จิ๋ว คุณพ่อเห็นว่านี่เป็นโอกาสในการค้าขาย จึงเริ่มคัดสรรเมล็ดพันธุ์ผัก และทำธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ผัก โดยคุณพ่อตัดสินใจเลือกมาทำการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

จากตอนหนึ่ง ขอยกมาอีกครั้งเป็นเบื้องต้น สะท้อนยุคต้น ยุคก่อตั้งโดยบิดาของ ธนินท์ เจียรวนนท์ (เจี่ย เอ็กชอ) แผนการและลักษณะธุรกิจ บ่งบอกโมเดลธุรกิจภูมิภาคไว้

“นอกจากคุณพ่อจะเปิดร้านเจียไต๋จึงที่กรุงเทพฯ แล้ว ยังเปิดร้านกวงไต๋ในซัวเถาอีกด้วย ร้านกวงไต๋ที่ซัวเถาส่งออกเมล็ดพันธุ์” เรื่องเล่ากล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างซัวเถากับกรุงเทพฯ ในยุคนั้นไว้

สอดคล้องกับประวัติทางการซีพี (อ้างจาก http://cpgroupglobal.com/) กล่าวถึงช่วงเหตุการณ์ราบรื่นก่อนพายุใหญ่ สงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะปะทุ กว้างขวาง กระทบย่านชาวจีนโพ้นทะเลโดยตรง

“ปี 2482 เจียไต๋ สามารถขยายธุรกิจออกสู่ต่างจังหวัดโดยเริ่มต้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมกันนั้นก็ขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศใน 3 แห่ง คือ ปีนัง มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีนโพ้นทะเล รวมทั้งยังได้ขยายกิจการค้า ด้วยการส่งเมล็ดพันธุ์ผัก ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชไปจำหน่ายในประเทศกัมพูชา พม่า ลาว และเวียดนาม”

แม้กระทั่งช่วงวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในสังคมจีนหลังสงครามโลครั้งที่สองช่วงแรกๆ ก็ยังถือว่ายังไม่กระทบเครือข่ายการค้าเจียไต๋โดยตรง ดังที่ ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าเอาไว้อีกตอนหนึ่ง

“เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นถอยทัพกลับ ภายหลังจีนก็เกิดสงครามในประเทศซึ่งลุกลามขยายเป็นวงกว้าง เป็นสงครามระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง และประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2492 ในช่วงแรกของการขึ้นมาของพรรคคอมมิวนิสต์ ธุรกิจของคุณพ่อที่ซัวเถายังคงเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

ฮ่องกงในฐานะเมืองท่าหน้าด่าน ย่อมมีความสำคัญในช่วงเวลาแผ่นดินใหญ่ระส่ำระสาย ฮ่องกงในอาณัติของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ยุคอาณานิคมจึงมีความสำคัญ กลายเป็นฐานการสร้างโอกาสธุรกิจใหม่บรรดาชาวจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋ว ดังที่ ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้กล่าวถึงไว้อย่างเจาะจง “ลี กา ชิง (Li Ka Shing) มหาเศรษฐีแห่งเกาะฮ่องกงก็เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว”

ซีพีเองได้วางฐานธุรกิจสำคัญไว้ที่ฮ่องกง ข้อมูลทางการซีพีกล่าวถึงเครือข่ายธุรกิจฮ่องกงยุคแรกๆ ไว้ โดยให้ข้อมูลชัดเจนว่าเริ่มต้นในปี 2502 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเหตุการณ์สำคัญในจีนแผ่นดินใหญ่

“การเติบโตทางธุรกิจไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังได้แผ่ขยายสู่ต่างประเทศมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายงานในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดตั้ง สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ ฮ่องกง”

“ฮ่องกงเป็นหนึ่งในฐานสำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์มานาน โดยในปลายทศวรรษ 2490 เครือได้เข้าไปตั้งบริษัทอาหารสัตว์และบริษัทนำเข้าไข่ไก่ พอมาถึงทศวรรษ 2510 ก็ได้สร้างโรงงานอาหารสัตว์ นอกจากนี้ ยังได้ตั้งบริษัทลูกของเครือ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company : บริษัทที่ประกอบธุรกิจลงทุนในหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของหุ้นใหญ่ในบริษัทอื่นๆ) เช่น บริษัทการค้า บริษัทประกันภัย และบริษัทการเงิน เป็นต้น ปัจจุบันยังมีอีกหลายบริษัทในเครือที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เช่น C.P. Pokphand ที่บริหารงานด้านการเกษตร เป็นต้น”

“บันทึกความทรงจำ” ข้างต้นขยายความความสำคัญต่อเนื่อง กรณี C.P. Pokphand ควรเพิ่มเติมด้วยว่า บริษัทดังกล่าวก่อตั้งอย่างเป็นทางการ หลังจากซีพีกลับเข้าไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ โดยจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทขึ้นที่ Bermuda เมื่อปี 2530 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงปี 2531(อ้างจาก http://www.cpp.hk/) ปัจจุบัน C.P. Pokphand ดูแลการลงทุนในธุรกิจที่เรียกว่า Agri-Food Business ในจีนและเวียดนาม (บริษัทนี้มีความสำคัญในยุทธศาสตร์ใหม่ๆ จะกล่าวถึงอย่างเจาะจงในตอนต่อๆ ไป)

และแล้วการเปลี่ยนแปลงในช่วง “ทศวรรษแห่งความเจ็บปวด” ในยุคต้นคอมมิวนิสต์จีนได้เกิดขึ้น ช่วงเวลาที่เรียกว่าการปฏิวัติวัฒนธรรม (2503-2513) ว่าไปแล้วเป็นภาพที่ยากจะเห็นและเข้าใจของสังคมธุรกิจไทย เนื่องด้วยอยู่ท่ามกลางกระแสใหญ่ในภูมิภาค อันเนื่องมาจากยุคต้นๆ สงครามเวียดนาม คงมีซีพี ยุคก่อน ธนินท์ เจียรนวนนท์ เท่านั้น ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ

“ปลายทศวรรษ พ.ศ.2490 ในตอนนั้นประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเศรษฐกิจอย่างชัดเจน จากเดิมในช่วงเริ่มก่อตั้งชาติในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศจีนเคยสนับสนุนนักธุรกิจบริษัทเอกชนและต้อนรับชาวจีนโพ้นทะเล แต่ภายหลังมีนโยบายแปรเปลี่ยนมาต่อต้านบริษัทเอกชนและระบบเศรษฐกิจทุนนิยม รัฐบาลเริ่มเวนคืนที่ดินของเอกชน และสนับสนุนเกษตรกรรมแบบคอมมูนแทน ด้วยเหตุนี้คุณพ่อซึ่งมีบริษัทและสวนเกษตรที่ซัวเถาจึงกลับกลายเป็นนายทุนและเจ้าของที่ดินที่รัฐบาลต้องการโค่นล้ม” (อ้างแล้ว)

ไม่เพียงกิจการในซัวเถาต้องปิดตัว ผลกระทบต่อเนื่องมาอีก ดังอีกตอนที่ ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าถึงช่วงชีวิตบิดาช่วงหนึ่ง ต้องห่างครอบครัวในเมืองไทย

“คุณพ่อของผมดำเนินธุรกิจฟาร์มเกษตรที่ซัวเถา ถ้าตอนนั้นท่านไม่ออกจากประเทศจีนเนื่องจากต้องมารักษาตัวที่ฮ่องกง ท่านอาจไม่มีชีวิตรอดแล้วก็ได้ ในช่วงนั้นรัฐบาลไทยก็ดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ คุณพ่อจึงไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ ต้องอาศัยอยู่ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์”

ข้างต้นล้วนเป็นเรื่องราวซีพีก่อนยุค ธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งมีความหมายต่อยุคปัจจันอย่างมาก อย่างน้อย 2 มิติ

หนึ่ง-ความต่อเนื่องเครือข่ายธุรกิจภูมิภาค จากยุค “ชาวจีนโพ้นทะเล” ในยุคก่อตั้ง สู่ยุคต่อมาซึ่งมีบุคลิกเฉพาะให้ความสำคัญประเทศจีนเป็นพิเศษ (2520-2540) ก่อนจะพัฒนาเป็นเครือข่ายธุรกิจระดับโลก

และ สอง-ความสำคัญฐานธุรกิจในเมืองไทย

“ที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยให้การสนับสนุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ และยอมรับตระกูลเจียรวนนท์ที่เป็นคนต่างถิ่นย้ายมาพำนัก และให้โอกาสในการทำมาหากินอย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าในยุคหนึ่งประเทศไทยจะมีข้อขัดแย้งด้านการเมืองกับประเทศจีน แต่รัฐบาลไทยก็ไม่เคยขับไล่ชาวจีนโพ้นทะเลออกจากประเทศไทย และในช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนในประเทศจีน คุณพ่อของผมต้องสูญเสียกิจการที่ลงทุนในจีนไป แต่ที่เมืองไทยคุณพ่อของผมยังคงรักษากิจการของครอบครัวไว้ได้ นับว่าเป็นโชคดีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่คุณพ่อของผมเลือกตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย หากวันนั้นคุณพ่อเลือกตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศจีน เราอาจไม่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์เช่นในวันนี้”

เรื่องเล่าตอนสำคัญของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ไม่เพียงสะท้อนมิติประวัติศาสตร์ธุรกิจระดับโลกของไทย บางทีให้บทเรียนบางแง่ค่อนข้างละเอียดอ่อน

ซึ่งอาจกำลังเกิดขึ้นในเมืองไทยเวลานี้ด้วยก็ได้