ปมลึกปลัดกระทรวงดีอี เซ่นโปรเจ็กต์ หมู่บ้าน 1.3 หมื่นล้าน เอกชนวิ่งฝุ่นตลบขอเอี่ยว “ทีโอที”

ปรับโฉมกระทรวงไอซีที เป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ยังไม่ทันครบ 2 เดือน ปลัดกระทรวงหญิงคนแรกก็มีเหตุให้โดนปลดฟ้าผ่าจากคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่ระบุให้ “นางทรงพร โกมลสุรเดช” พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงดีอี ไปนั่งเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ “นางสาววิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล” พ้นตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ มานั่งเป็นปลัดกระทรวงดีอีแทน ตั้งแต่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

คล้อยหลังเพียงไม่กี่วัน หลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (2 พฤศจิกายน 2559) ซึ่งในการประชุมวันนั้น นางทรงพร ปลัดกระทรวงดีอีคนแรกก็เข้าร่วมประชุมด้วย

และที่ประชุมในวันนั้นมีมติเห็นชอบให้กระทรวงดีอี โอนเงินงบประมาณโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านให้ “ทีโอที” เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด

โดย “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” รองนายกรัฐมนตรี รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ได้ขีดเส้นตายการทำงานมาอีกครั้ง ด้วยการกำชับให้ “ทีโอที” ดำเนินการให้ได้ภายในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ เพื่อให้การขยายโครงข่ายทำได้ครบ 85% ภายในสิ้นปี 2560 และครบทั้งหมดต้นปี 2561

%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b8%9e%e0%b8%a3-%e0%b9%82%e0%b8%81%e0%b8%a1%e0%b8%a5%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%8a-%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%94
นางทรงพร โกมลสุรเดช

ต้องยอมรับว่าโครงการนี้ล่าช้าไปจากกำหนดเดิมมาก ทั้งที่ถือเป็นโครงการสำคัญเพื่อนำร่องนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลของรัฐบาลชุดนี้

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 20,000 ล้านบาท ให้กระทรวงไอซีทีเดิม เป็นผู้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2559

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีไอซีทีในขณะนั้นเคยอธิบายว่า โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นการขยายขีดความสามารถของอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยและพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มูลค่า 15,000 ล้านบาท ภายในปี 2559 อีกส่วน เป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ มูลค่า 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2560

ผ่านมาเกือบปี แต่กลับไม่มีอะไรคืบหน้า

ว่ากันว่าหนึ่งในสาเหตุหลักของเหตุการณ์ปลดฟ้าผ่า รัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งกระทรวงดีอี มาจากความล่าช้าของโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ที่ถือเป็นโครงการนำร่องนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาลนั่นเอง

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b8%ad%e0%b8%b5
นางสาววิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล

แหล่งข่าวในกระทรวงดีอี กล่าวว่า ความล่าช้าของโครงการนี้มาจากการยกร่างเงื่อนไขโครงการทางเทคนิค (TOR) ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นกระทรวงไอซีทีเดิม เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงไอซีทีเปลี่ยนนโยบายไปมา เช่น เดิมแม้ ครม. จะมอบหมายชัดเจนให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) ร่วมกันทำโครงการนี้ โดยแบ่งพื้นที่กันดำเนินการ ในฐานะรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมที่รัฐบาลพยายามปรับบทบาทให้ดูแลโครงข่ายบริการโทรคมนาคมของประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งก็เพื่อหาทางอยู่รอดให้กับทั้งคู่ โดยเฉพาะ “ทีโอที”

“ในระหว่างทาง จู่ๆ กระทรวงไอซีทีก็มีแนวคิดใหม่ที่จะเปิดกว้างให้บริษัทเอกชนที่รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 3 ของ กสทช. เข้าร่วมเสนอราคาเพื่อติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านได้ด้วย ทำให้คณะทำงานร่าง TOR กังวลมาก ว่ากันว่าระดับรองปลัดไอซีทีบางรายที่ยื่นหนังสือลาออกไปก็เพราะกังวลว่าหากเขียน TOR เอื้อให้เอกชนอาจมีปัญหาภายหลังได้”

แต่ในท้ายที่สุด TOR ของโครงการนี้ก็สามารถสรุปได้ และมีการประกาศราคากลางเพื่อการประกวดราคาได้เมื่อ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ 10,830.87 ล้านบาท จากงบประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยเปิดให้ยื่นซองประมูลไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559 มี “ทีโอที” ยื่นข้อเสนอมาเพียงรายเดียว

ยังไม่ทันทำอะไร มีสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

เหตุการณ์แรก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือท้วงติงเกี่ยวกับความคุ้มค่าของโครงการดังกล่าว และความซ้ำซ้อนกับโครงการขยายบริการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างทั่วถึง (USO) ของสำนักงาน กสทช.

ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีไอซีที “อุตตม สาวนายน” ยื่นใบลาออก ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่กระทรวงดีอี

ทำให้ “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” รองนายกรัฐมนตรี มานั่งเป็นรักษาการรัฐมนตรีดีอี

ในการประชุมเพื่อมอบนโยบายให้กับหน่วยงานในสังกัด เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 “พล.อ.อ.ประจิน” สั่งการให้กระทรวงดีอีทบทวนโครงการอีกรอบหลังได้รับการท้วงติงจาก “สตง.” โดยให้มีการประสานงานกับ กสทช. เพื่อเคลียร์พื้นที่ในการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และไม่ลงทุนซ้ำซ้อน

คำสั่งปลดฟ้าผ่าปลัดดีอีคนแรกกระตุ้นให้โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านติดสปีดเร็วขึ้นภายในไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมง

แหล่งข่าวจากกระทรวงดีอี เปิดเผยว่า ทีมงานกำลังเร่งทบทวนและแก้ไขรายละเอียดโครงการใหม่ทั้งหมดในประเด็นที่ สตง. ท้วงติงมา เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ โดยหลัง ครม. อนุมัติแล้ว งบประมาณยังอยู่ที่กระทรวงดีอี แต่ทีโอทีเป็นผู้เบิกจ่ายแทน และเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์โครงข่าย ก่อนเริ่มลงพื้นที่ติดตั้งได้ทันที โดยมีดีอีคอยกำกับ

ปลัดกระทรวงดีอีคนใหม่ “วิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล” กล่าวว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ได้มีการมอบหมายนโยบายและเรียกประชุมหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเกี่ยวกับโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน โดยได้มอบหมายให้ทีโอทีเป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณแทนกระทรวงดีอี

 

ฟาก “ทีโอที” ก็พร้อมเต็มที่ โดยแหล่งข่าวจากทีโอทีระบุว่า พร้อมเริ่มโครงการได้ทันที หากมีการแจ้งอย่างเป็นทางการจากกระทรวงดีอีแล้ว โดยขณะนี้ได้เตรียมเอกสารขออนุมัติที่ประชุมบอร์ด เพื่อขอจัดประกวดราคาจัดซื้ออุปกรณ์วางโครงข่ายทั้งหมด และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ให้ใช้การประกวดราคาแทนการจัดซื้อด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว

โดยจะซื้อเป็นล็อตใหญ่ แต่ทยอยจัดส่ง คาดว่าจะใช้เวลาส่วนนี้ไม่เกิน 90 วัน

ก่อนลงพื้นที่วางโครงข่ายเอง โดยแบ่งหน้าที่ผู้บริหารในแต่ละระดับควบคุมการติดตั้งในแต่ละพื้นที่แล้ว เฉลี่ยจังหวัดละ 3 ทีม เพื่อให้ติดตั้งโครงข่ายได้อย่างน้อยเดือนละ 3,000 หมู่บ้าน

“ถ้าลงนามในสัญญาจ้างกับกระทรวงดีอีในธันวาคมนี้ได้ จะติดตั้งเฟสแรก 24,700 หมู่บ้าน ทันสิ้นปี 2560”

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา “ทีโอที” มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการดำเนินโครงการต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งความไม่โปร่งใส และความล่าช้า

เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโครงข่าย 3G โครงการใหญ่หลักหมื่นล้านบาทในอดีต ที่ ครม. อนุมัติงบฯ ให้ปี 2553 เปิดประมูลได้ผู้ชนะ มกราคม 2554 แต่กว่าจะติดตั้งเฟสแรก 5,200 แห่งได้ก็ปลายไตรมาสแรก ปี 2557 โดยมีเอกชนที่ยื่นซองประมูลหลายรายร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสในการกำหนดสเป๊กและคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลอย่างไม่เป็นธรรม มีการยื่นฟ้องและเป็นคดีค้างอยู่ในศาลปกครองจนถึงทุกวันนี้

และมีอีกหลายโครงการที่ “สตง.” ทำหนังสือแจ้งให้กระทรวงไอซีทีในขณะนั้นตรวจสอบ

 

ถึงจุดนี้ โครงการดังกล่าวเริ่มเป็นที่จับตาในแวดวงธุรกิจโทรคมนาคมว่า เน็ตหมู่บ้านมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบประมาณลงทุน 80-90% จะอยู่กับเครือข่ายไฟเบอร์ ออฟติก และอุปกรณ์รับส่งข้อมูลบนเครือข่าย ส่วนงานติดตั้งน่าจะอยู่ที่ 10% หรือแค่ 1,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น

คาดว่าจะได้รับความสนใจจากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ และบริษัทผู้รับติดตั้งระบบ ที่จะเสนอตัวเพื่อเข้าร่วมโครงการด้วย เนื่องจากถือเป็นโครงการใหญ่ โดยแต่ละบริษัทต่างกำลังรอดูเงื่อนไขการจัดซื้ออุปกรณ์ของทีโอทีอย่างใจจดใจจ่อ

เน็ตหมู่บ้าน 1.3 หมื่นล้านบาท จึงเป็นอีกโครงการที่วิ่งกันฝุ่นตลบอย่างแน่นอน และหากมี “ทีโอที” เป็นเจ้าภาพหลัก จะเกิดขึ้นจริงอย่างรวดเร็ว หรือจะซ้ำรอยเดิมอีก ยังต้องติดตามกันต่อไป