บทวิเคราะห์ : อาณาจักรจิ้นภายใต้ตระกูลหวัง-หม่า

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ดังนั้น เมื่อจิ้นตะวันตกล่มสลายและวงศานุวงศ์ที่เหลืออพยพมาทางใต้พร้อมเหล่าเสนามาตย์แล้ว หวังเต่าจึงมีบทบาทสูงในการผลักดันให้ซือหม่าญุ่ยก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ และทำให้ชนชั้นผู้ดีเสนามาตย์ที่อยู่ทางใต้เดิมหันมายอมรับอำนาจของจิ้นหยวนตี้

จากเหตุนี้ จิ้นหยวนตี้จึงทรงแต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรี (เฉิงเซี่ยง) และแต่งตั้งให้พี่ชายของเขาคือ หวังตุน (ค.ศ.266-324) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ต้าเจี่ยงจวิน) สกุลหวังจึงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทั้งในกิจการทหารและพลเรือนอันเป็นกิจการหลักทางการเมือง

การปกครองในช่วงนี้จึงมีผู้เรียกขานว่า “หวังกับหม่าครองใต้หล้า” (หวังอี๋ว์หม่าก้งเทียนเซี่ย)1

คำเรียกนี้ทำให้เห็นว่าสกุลหวังกับสกุลซือหม่ามีอำนาจเสมอกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วจะเห็นได้ว่าสกุลหวังต่างหากที่มีอำนาจเหนือสกุลซือหม่า

 

กล่าวกันว่า แม้การปกครองจะเป็นไปในลักษณ์ดังกล่าว และทำให้จิ้นตะวันออกตั้งอยู่มาได้อย่างมีเสถียรภาพก็จริง แต่คำเรียกขาน “หวังกับหม่าครองใต้หล้า” ก็กระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของจิ้นหยวนตี้อยู่ไม่มากก็น้อย เพราะคำเรียกขานนั้นได้เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงหาได้มีอำนาจที่แท้จริงไม่

จากเหตุนี้ จิ้นหยวนตี้จึงทรงมีความคิดที่จะให้พระองค์มีอำนาจที่แท้จริง พระองค์จึงทรงปรับเปลี่ยนตัวแม่ทัพนายกองให้เป็นคนของพระองค์มากขึ้น แต่วิธีเช่นนี้ทำให้หวังตุนเห็นว่าเป็นการ “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” ของจิ้นหยวนตี้ หวังตุนจึงขุ่นเคืองใจยิ่งนัก

ดังนั้น ในปี ค.ศ.322 หวังตุนจึงรุกเข้าสังหารเสนามาตย์ที่เป็นคนของจิ้นหยวนตี้ไปจำนวนหนึ่ง โดยบางคนในจำนวนนี้หนีไปอยู่กับชนชาติอื่นที่กำลังตั้งตนเป็นใหญ่ จากนั้นหวังตุนก็ยกกำลังบุกเข้าเมืองหลวงหมายจะยึดอำนาจ แต่เขากลับถูกหวังเต่าน้องชายของเขาห้ามไว้และร้องขอให้เขาถอนกำลังกลับไป

หวังตุนยอมทำตามที่น้องชายร้องขอ เหตุการณ์จึงได้สงบลง แม้จะจบลงเช่นนี้ แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของจิ้นหยวนตี้อย่างลึกซึ้ง

พระองค์ทรงตรอมใจเป็นที่ยิ่ง หลังจากนั้นใน ค.ศ.323 พระองค์ก็สิ้นพระชนม์

ส่วนหวังตุนที่ล้มเหลวในเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เสียชีวิตในปีถัดมา ในขณะที่หวังเต่านั้น หลังจิ้นหยวนตี้สิ้นพระชนม์แล้วเขาก็ยังอยู่รับใช้จักรพรรดิจิ้นอีกสองพระองค์ การเมืองที่อยู่ภายใต้การค้ำจุนของชนชั้นผู้ดีจึงยังคงอยู่สืบมา

 

การที่เสถียรภาพของจิ้นตะวันออกตั้งอยู่ได้ด้วยการค้ำจุนของชนชั้นผู้ดีดังกล่าว ส่งผลให้เกิดภาวะที่ย้อนแย้งกันเองขึ้นมา นั่นคือ ในด้านหนึ่ง จิ้นตะวันออกต้องระมัดระวังมิให้อำนาจของตนตกอยู่กับชนชั้นผู้ดีตระกูลใดตระกูลหนึ่งโดยเด็ดขาด หาไม่แล้วจักรพรรดิของราชวงศ์ก็จะไร้ความหมาย

ถึงแม้ว่าการอยู่โดยพึ่งพาการค้ำจุนของชนชั้นผู้ดีจะทำให้อำนาจของราชวงศ์ไม่สมบูรณ์ แต่การที่มีกลุ่มอำนาจหลายสกุลคอยค้ำจุนก็ทำให้เกิดการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ไม่มีสกุลใดมีอำนาจเด็ดขาดเช่นกัน

ส่วนอีกด้านหนึ่ง จิ้นตะวันออกเองก็พอใจกับสภาพการค้ำจุนที่เป็นแบบถ่วงดุลเช่นนี้ แต่ก็ทำให้จิ้นตะวันออกขาดความกระตือรือร้นที่จะแย่งชิงดินแดนทางเหนือกลับคืนมา ทั้งๆ ที่ตนเองก็มีเสนามาตย์ที่มีความสามารถและจงรักภักดีอยู่ไม่น้อย

ภาวะที่ย้อนแย้งกันเช่นนี้จึงทำให้จิ้นตะวันออกเสียโอกาสในการสร้างจักรวรรดิให้แข็งแกร่ง

 

กรณีที่เห็นได้ชัดถึงการเสียโอกาสดังกล่าวตัวอย่างหนึ่งคือ ในระยะแรกเปลี่ยนผ่านจากจิ้นตะวันตกสู่จิ้นตะวันออกนั้น จิ้นมีขุนศึกผู้หนึ่งนามว่าจู่ที่ (ค.ศ.266-321) จู่ที่มีภูมิหลังมาจากครอบครัวขุนนางตระกูลใหญ่ เขาจึงมีความรู้สูงและใฝ่คุณธรรม เมื่อจิ้นเสื่อมถอยลงเขาจึงมีปณิธานที่จะฟื้นฟูจิ้นขึ้นมาอีกครั้ง

ด้วยปณิธานนี้ทำให้จู่ที่ตั้งใจฝึกฝนการสู้รบ โดยทุกวันในเวลาย่ำรุ่งที่ได้ยินเสียงไก่ขัน จู่ที่จะตื่นจากที่นอนขึ้นมารำกระบี่เพื่อปลุกเร้าปณิธานของตนให้คงอยู่เสมอ พฤติกรรมอันสะท้อนปณิธานของจู่ที่นี้ต่อมาได้เป็นที่กล่าวขานกัน

จนเป็นที่มาของคำพังเพยที่ว่า “ยินเสียงไก่ขัน พลันตื่นขึ้นรำ” (เหวินจีฉีอู่) อันหมายถึง บุคคลมานะบากบั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอเพื่อบรรลุปณิธานที่ตั้งไว้

ตราบจน ค.ศ.311 เมื่อเมืองหลวงลว่อหยังถูกตีแตกและจิ้นตะวันตกล่มสลายลง จู่ที่จึงนำคนในตระกูลและในหมู่บ้านหลายร้อยชีวิตหนีภัยสงคราม ระหว่างนั้นเขาได้แสดงให้เห็นถึงความเสียสละ การดูแลเอาใจใส่ และการวางแผนที่ดีแก่ทุกชีวิตที่หนีภัย จนเป็นที่เคารพนับถือของคนเหล่านั้นและยกย่องให้เขาเป็นผู้นำ

ระหว่างนั้นเองจู่ที่ได้รู้จักกับซือหม่าญุ่ย โดยที่ได้เห็นความรู้ความสามารถของจู่ที่ ซือหม่าญุ่ยจึงแต่งตั้งให้จู่ที่เป็นขุนศึก ถึงตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จู่ที่จะได้ทำตามปณิธานที่ตั้งเอาไว้

ดังนั้น ในปี ค.ศ.313 จู่ที่ได้ขอกำลังทหารจากซือหม่าญุ่ยเพื่อบุกขึ้นเหนือแย่งชิงดินแดนกลับคืนมา แต่ซือหม่าญุ่ยกำลังสาละวนอยู่กับอำนาจที่ไม่แน่นอนของตนจึงให้กำลังทหารแก่จู่ที่เพียง 1,000 นายพร้อมกับยุทธปัจจัยอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนยุทโธปกรณ์ให้จู่ที่หาเอาเองข้างหน้า

แม้จะเป็นเรื่องที่ชวนให้ผิดหวัง แต่ก็มิอาจทำลายปณิธานของจู่ที่ลงไปได้

 

จากนั้นจู่ที่ก็นำทัพบุกขึ้นเหนือ จนครั้งหนึ่งขณะกำลังข้ามแม่น้ำหยังจื่ออยู่นั้น จู่ที่ได้ใช้พายเคาะแคมเรือเบาๆ แล้วให้สัตย์สาบานว่า “หากแม้นมิอาจมีชัยในศึกแย่งยึดที่ราบภาคกลางแล้วไซร้ ข้าจักเป็นดุจดั่งสายน้ำนี้ที่ไหลเชี่ยวกรากสู่เบื้องบูรพาทิศมิหวนกลับ”

สัตย์สาบานของเขาได้ปลุกเร้าจิตใจของทหารที่มีอยู่ไม่มากคนให้ฮึกห้าวเหิมหาญ จนกลายเป็นที่มาของวลีที่ถูกเอื้อนเอ่ยในกาลต่อมาว่า “เคาะพายกลางสายน้ำ” (จงหลิวจีจี๋)

เมื่อข้ามฝั่งมาแล้ว จู่ที่ในด้านหนึ่งก็ผลิตยุทโธปกรณ์เพิ่ม อีกด้านหนึ่งก็รวบรวมกำลังพลได้เพิ่มขึ้น แม้จะยังคงมีอยู่เพียงหลักพันก็ตาม แต่ทัพของจู่ที่ก็ต่อสู้อย่างห้าวหาญและได้ชัยโดยตลอด ทั้งที่ข้าศึกได้เปรียบในทางกำลังรบมากกว่า

จู่ที่ทำศึกตั้งแต่ซือหม่าญุ่ยยังมิได้เป็นจักรพรรดิ ครั้นเป็นจักรพรรดิจิ้นหยวนตี้แล้วจึงได้แต่งตั้งจู่ที่ให้เป็นขุนศึกในตำแหน่งที่สูงขึ้น หลังจากนั้นจู่ที่ก็ยังคงใช้เวลาอยู่กับการทำศึกทางเหนือไม่หยุดหย่อน

ตราบจนเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่หวังตุนบุกเมืองหลวงเพื่อหมายโค่นจิ้นหยวนตี้นั้นเอง แต่เดิมที่จิ้นหยวนตี้ทรงขาดความกระตือรือร้นที่จะบุกตีทางเหนืออยู่แล้ว เหตุการณ์ที่ว่าก็ยิ่งทำให้พระองค์ยิ่งขาดความกระตือรือร้นมากกว่าเดิม

และในทางตรงกันข้าม กลับยิ่งทำให้ทรงใส่ใจกับความมั่นคงทางการเมืองของพระองค์มากขึ้น

จากเหตุนี้ จิ้นหยวนตี้จึงทรงระแวงว่าสักวันหนึ่งจู่ที่อาจเป็นเหมือนหวังตุน พระองค์จึงทรงแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดให้เข้ามาคุมกองทัพเหนือจู่ที่ ที่ด้านหนึ่งเพื่อป้องกันการก่อกบฏของหวังตุน แต่อีกด้านหนึ่งเพื่อควบคุมจู่ที่

 

เมื่อประสบเข้ากับท่าทีเช่นนี้ของจิ้นหยวนตี้ จู่ที่ซึ่งอุทิศตนเพื่อราชวงศ์จนเหน็ดเหนื่อยสายใจแทบขาดก็สุดที่จะยืนอยู่ได้อีกต่อไป เขาตรอมใจจนล้มป่วยลงอย่างหนักและเสียชีวิตใน ค.ศ.321

กรณีจู่ที่จากที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นว่า แม้จิ้นตะวันออกจะมีเสถียรภาพที่เปราะบางก็ตาม แต่จิ้นตะวันออกมิได้ขาดกำลังที่จะสร้างจักรวรรดิให้สมบูรณ์ แท้จริงแล้วจิ้นตะวันออกตกอยู่ในกับดักความมั่นคงภายในของตน และเมื่อมิอาจขึ้นมาจากหลุมกับดักนั้นก็ย่อมมิอาจนำตนไปสู่จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ไปด้วย

แต่ประเด็นนี้ยังไม่น่าสังเกตเท่ากับที่บันทึกฝ่ายจีนได้บอกเล่าเรื่องราวของจู่ที่ ว่ามีความ “รักชาติ” อย่างไรบ้าง เช่น กรณี “ยินเสียงไก่ขัน พลันตื่นขึ้นรำ” หรือกรณี “เคาะพายกลางสายน้ำ” โดย “ชาติ” ที่จู่ที่ “รัก” นั้นคือราชวงศ์จิ้น อันเป็นชาติของชนชาติฮั่น และด้วยความ “รักชาติ” เช่นนั้นจู่ที่จึงยอมอุทิศตนจนต้องตรอมใจตาย

และที่ตายก็เพราะบุคคลในราชวงศ์นี้มิได้ “รักชาติ” ดังเช่นที่จู่ที่เป็น

———————————————————————————————————————–
(1) คำว่า หม่า ในที่นี้เป็นการเรียกย่อจากคำว่า ซือหม่า