กรุงเทพ : หัวเลี้ยวหัวต่อจากอดีตสู่ปัจจุบัน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

กรุงเทพฯ ในช่วงทศวรรษจากนี้ ถือเป็นช่วงเวลา “หัวเลี้ยวหัวต่อ” อีกช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์

ที่สำคัญ มีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและสังคม กับผู้คนฐานะปัจเจกในวงกว้างมากกว่าครั้งใดๆ ในฐานะเมืองหลวงที่มีประชากรมากแห่งหนึ่งของโลก

ทั้งมีความหลากหลายวัย ตั้งแต่ผู้อยู่ในวัยเรียน ด้วยในสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศกระจุกตัวอยู่ที่นี่มากเป็นพิเศษ ในวัยทำงานอยู่ ณ ศูนย์กลางสำนักงานของคนหนุ่มสาว ผู้มีอนาคต กับโอกาสที่เชื่อว่าเปิดกว้างในระบบเศรษฐกิจมากกว่าทุกที่ในประเทศ และผู้คนสูงอายุปักหลักเป็นที่พำนักในวัยเกษียณซึ่งมีจำนวนมากขึ้นๆ มากกว่ายุคใดๆ

หากย้อนกลับไป กรุงเทพฯ ปรับโฉมครั้งสำคัญ ครั้งแรกๆ ตั้งแต่ยุคอาณานิคม ด้วยปรากฏการณ์ 2 กรณีที่ผมให้ความสำคัญ

 

หนึ่ง-สร้างเครือข่ายการเข้าถึง เปิดฉากด้วย ระบบคลองรังสิต (ช่วงปี 2433-2448) ดำเนินการบริษัทขุดคลองแลนาสยาม ผู้ได้รับสัมปทาน 25 ปี ดำเนินการก่อสร้างระบบคลองในบริเวณพื้นที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เรียกว่าทุ่งรังสิต โดยขุดคลองสายใหญ่-คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงไปยังแม่น้ำนครนายก และขุดคลองหกวาสายบนกับคลองหกวาสายล่างควบคู่กันไปด้วย พร้อมกับการสร้างประตูระบายน้ำ โครงการระบบคลองรังสิต

ถือเป็นโครงการภายใต้ระบบสัมปทานครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่รัฐไทยทำกับชาวต่างชาติในยุคอาณานิคม

เป็นปรากฏการณ์เกื้อหนุนกรุงเทพฯ ในฐานเมืองหลวงให้เดินหน้าไป

ประการแรก-การบริหาร ควบคุมการเก็บกักน้ำเพื่อการเพาะปลูก ตอบสนองวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาการขยายตัวมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

และ ประการที่สอง-สร้างเครือข่ายการสัญจรทางเรือ สามารถสัญจรตลอดทั้งปี เพื่อเข้าถึงพื้นที่สำคัญๆ ไม่ว่าเป็นความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและเป็นไปตามยุทธศาสตร์การปกครอง

อีกด้านหนึ่งคือการสร้างเครือข่ายการสัญจรทางบก เริ่มต้นด้วย การสร้างทางรถไฟ เริ่มต้นจากสายใต้ตั้งแต่ปี 2444 เริ่มก่อสร้างจากฝั่งธนบุรี บริเวณริมฝั่งเจ้าพระยา ในช่วงแรก สามารถสร้างถึงเพชรบุรีในปี 2446 ด้วยเงินทุนไม่พอจึงหยุดสร้างไปหลายปี กว่าจะสร้างต่ออีกครั้งในปี 2452 จนถึงสงขลา (2458) และต่อเนื่องถึงปลายทางที่ปาดังเบซาร์ (2461)

เชื่อกันว่าการสร้างรถไฟสายใต้เป็นยุทธศาสตร์ความพยายามผนวกระบบเศรษฐกิจทางภาคใต้ที่กำลังเติบโต หลังจากการค้าข้าวและสัมปทานไม้สักในภาคกลางและภาคเหนือถึงจุดอิ่มตัว การค้าแร่ดีบุกทางภาคใต้เพิ่งเริ่มต้นขึ้น

 

สอง-ตามกระบวนการต่อเนื่อง ที่เรียกว่า Westernization of Siam แผนการที่สำคัญและจับต้องได้ คือการปรับโฉมหน้ากรุงเทพฯ

ขบวนการก่อสร้างอาคารสำคัญๆ เริ่มต้นด้วยพระราชวังดุสิต (ปี 2442) พร้อมๆ กับการสร้างถนนราชดำเนิน (2444) และพระที่นั่งอนันตสมาคม (2451) ถือเป็นจุดเริ่มต้นศูนย์กลางของความทันสมัย การปรับโฉมหน้าของกรุงเทพฯ ด้วยการสร้างแลนด์มาร์กใหม่ ยังถือว่าเริ่มต้นยุคอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยมีนัยยะสำคัญ ความเชื่อมั่นว่าโฉมหน้าใหม่กรุงเทพฯ เป็นกระบวนการ และสะท้อนการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในยุคอาณานิคม

เป็นช่วงเวลาเดียวกัน การก่อสร้างวังหรือที่อยู่อาศัยเป็นไปอย่างครึกโครม ต่อเนื่อง โดยเฉพาะของชนชั้นนำไทยด้วยสถาปัตยกรรมในยุคอาณานิคม อาทิ วังปารุสกวัน (2446) วังลดาวัลย์ (2449) วังพญาไท (2452) วังจันทรเกษม (2453) วังเทวะเวสม์ (2457) วังสระปทุม (2459) ฯลฯ

 

อีกยุคหนึ่งของกรุงเทพฯ ต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ยุทธศาสตร์เปลี่ยนผันไปอย่างชัดแจ้ง การสร้างเครือข่ายการสัญจรทางบกอย่างจริงจัง เพื่อเข้าแทนที่การสัญจรทางน้ำ เป็นไปตามยุคสมัย วิถีชีวิต และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อกระจายความเจริญออกไปจากเมืองหลวงให้มากขึ้น (โปรดพิจารณารายละเอียด ใน “เหตุการณ์สำคัญ”)

จากนั้นเมื่อล่วงเลย ก้าวสู่ ยุคสงครามเวียดนาม ขณะสร้างเครือข่ายถนนสู่หัวเมืองและชนบทมากขึ้น กรุงเทพฯ ค่อยๆ กลายเป็นเมืองทันสมัยมากขึ้นตามลำดับ ตามอิทธิพลโลกตะวันตก ตามอิทธิพลสหรัฐอเมริกาที่มีมากอย่างเหลือเชื่อ เชื่อมโยงปัจเจกเข้ากับวิถีชีวิตแบบตะวันตกอย่างแนบแน่น

โมเมนตัมนั้นเดินหน้าต่อเนื่องมาอย่างไม่หยุดหย่อนตลอดช่วง 2 ทศวรรษก็ว่าได้

 

ช่วงเวลานั้นกรุงเทพฯ พัฒนาโครงข่ายคมนาคมครั้งใหญ่ ตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเติบโตประชากรในเมืองหลวง ด้วยโครงการใหม่ที่สำคัญๆ

โดยเฉพาะโครงข่ายทางด่วนยกระดับ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก (2524-2530) เพื่อตอบสนองการเดินทางโดยรถยนต์ของผู้คน โดยเฉพาะจากชุมชนชานเมืองที่เติบโตขึ้นมากเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ จึงสะดวกขึ้น จากนั้นมีโครงการขยายเส้นทางให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากขึ้น ตามแผนระบบทางด่วนขั้นที่ 2 หรือที่เรียกว่า ทางพิเศษศรีรัช สามารถเปิดใช้บริการได้ในช่วงปี 2536-2539

เป็นช่วงเวลากรุงเทพฯ ยุคใหม่เปิดฉากขึ้นอย่างแท้จริง ตั้งแต่ยุคทองทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2530 สามารถอ้างอิงกับโครงการครั้งสำคัญๆ ต่อเนื่องมาอีก

ไม่ว่าการเกิดขึ้นของระบบขนส่งมวลชนระบบรางครั้งแรกในกรุงเทพฯ

บีทีเอส ดำเนินการโดยบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือชื่อเดิม-ธนายง กิจการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่รายหนึ่ง ดำเนินธุรกิจเชิงรุกในช่วงตลาดหุ้นบูมตั้งแต่ปี 2531 และในปี 2533 ได้ก้าวข้ามสู่ธุรกิจใหม่ สร้างและบริหารระบบรถไฟฟ้าลอยฟ้า โดยลงนามในสัญญาสัมปทานเพื่อดำเนินการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสกับกรุงเทพมหานคร

จนมาถึงการก่อตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร (ปี 2535) เพื่อการจัดระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยใช้รถไฟฟ้า จากนั้นในปี 2543 ไม่เพียงเปลี่ยนเป็นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พร้อมกับบทบาทที่เพิ่มขึ้น กับแผนการลงทุนครั้งใหญ่กำลังดำเนินไป

ท่ามกลางช่วงเวลากรุงเทพฯ ซึ่งผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและความวุ่นวายทางการเมือง แม้สะท้อนภาวะและวิถีชีวิตผู้คนที่กดดันและอึดอัด แต่กรุงเทพฯ ได้เคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างมีพลัง อย่างไม่หยุดยั้ง

 

เหตุการณ์สำคัญ

2325 สถาปนากรุงเทพมหานคร

2326 สร้างพระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วย พระราชมณเฑียร พระมหาปราสาท เปลี่ยนเสาระเนียด จากเครื่องไม้เป็นก่อกำแพงอิฐ สร้างประตูรายรอบพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนสร้างพระอารามในพระราชวังหลวง คือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

2380 ขุดคลองแสนแสบเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน

2404 ตัดถนนสายแรกในกรุงเทพมหานคร-ถนนเจริญกรุง

2433-2448 สร้างระบบคลองรังสิต

2439 เปิดการเดินรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ ถึงอยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร

2442 ก่อสร้างพระราชวังดุสิต พร้อมๆ กับการสร้างถนนราชดำเนิน (2444) และพระที่นั่งอนันตสมาคม (2451) ถือเป็นจุดเริ่มต้นศูนย์กลางของความทันสมัย หรือที่เรียกกันว่า Westernization of Siam

2457 เปิดท่าอากาศยานดอนเมือง

2479 เปิดใช้ถนนสุขุมวิทช่วงแรก (เดิมชื่อถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ) ปลายทางถึงตัวเมืองสมุทรปราการ

2483 ขยายถนนพหลโยธินถึงลพบุรี

2493 เปิดใช้ถนนมิตรภาพช่วงแรกจากสระบุรีถึงนครราชสีมา เป็นเส้นทางหลักเข้าสู่ภาคอีสาน

2493 ถนนเพชรเกษม เส้นทางสู่ภาคใต้

2514 รวมจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2515 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรุงเทพมหานคร แต่นิยมเรียกกันว่า กรุงเทพฯ

2515 จัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อสร้างระบบทางยกระดับในกรุงเทพฯ รวมทั้งเชื่อมกับเส้นทางสู่ต่างจังหวัด เริ่มต้นสายดินแดง-ท่าเรือ ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร เปิดให้บริการในปลายปี 2524

2519 จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภทกิจการสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม บริการรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และนครปฐม มีผู้ใช้บริการประมาณกว่า 3 ล้านคนต่อวัน

2521-2553 ก่อสร้างถนนกาญจนาภิเษก หรือทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) เป็นถนนสายสำคัญ มีเส้นทางเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองกรุงเทพฯ ตัดผ่านพื้นที่บางส่วนของนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และอยุธยาด้วย

2537 เปิดเส้นทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ จากดินแดงถึงดอนเมือง

2542 รถไฟฟ้าบีทีเอสสายแรกของประเทศไทยเปิดดำเนินการ โดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโครงการลงทุนโดยเอกชน เปิดให้บริการครั้งแรกใน 2 เส้นทาง คือสายสุขุมวิท ระยะทาง 17 ก.ม.

2552 ได้เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีลม ระยะทาง 2.2 ก.ม. จากสถานีสะพานตากสินถึงสถานีวงเวียนใหญ่ ระยะทางในการให้บริการรวม 30.95 ก.ม.

2554 ได้เปิดให้บริการส่วนต่อขยาย สายสุขุมวิท ระยะทาง 5.25 ก.ม. จากสถานีอ่อนนุชถึงสถานีแบริ่ง และสายสีลม ระยะทาง 6.5 ก.ม.

2547 รถไฟฟ้ามหานคร ระบบขนส่งมวลขนแบบใหม่-รถใต้ดิน เปิดบริการเป็นครั้งแรก สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ หลังจากองค์การรถไฟฟ้ามหานครก่อตั้งเมื่อปี 2535

2549 เปิดสนามบินสุวรรณภูมิ

2559 รถใต้ดินสายสีม่วงเปิดบริการ ช่วงบางบัวทอง นนทบุรี-บางซื่อ