ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 พฤศจิกายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
วิกฤตราคาข้าวตกต่ำ รัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์มองว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลังจับมือกลุ่มโรงสีทุบราคา หวังสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล
ที่ว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ไม่มีการพูดชื่อตรงๆ แต่ทุกคนรู้ว่าหมายถึงพรรคใด
จึงไม่แปลกหากการลงพื้นที่ภาคอีสานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวนาอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์
แต่กลับได้ยินเสียงเหน็บแนมให้ร้ายจากคนในรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์
ทั้งที่การลงพื้นที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจชาวนาที่กำลังประสบทุกข์ร้อนจากราคาข้าวเปลือกตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี
รวมถึงการรับซื้อข้าวสารหอมมะลิที่กลุ่มชาวนาเกี่ยวเอง สีเอง ขายเอง ตามแนวทางที่รัฐบาลสนับสนุน
และซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากชาวนาจำนวน 10 ตัน นำมาสีเป็นข้าวสาร วางขายในกรุงเทพฯ บริเวณลานจอดรถหน้าห้างแฟชั่น ไอส์แลนด์ ก่อนสร้างปรากฏการณ์ขายหมดในเวลา 1 ชั่วโมง
หากมองตามสายตาคนปกติ ไม่มีการเมืองเกี่ยวข้อง การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย่อมเป็นเรื่องน่าส่งเสริม
เพราะไม่เพียงเป็นการปลุกกระแสช่วยเหลือชาวนาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ “ดีแต่พูด”
ยังเป็นการสร้างทางออกใหม่ให้ชาวนา จากเดิมต้องพึ่งพาแต่โรงสีขนาดใหญ่ หันมาพึ่งโรงสีระดับชุมชน หลีกเลี่ยงการถูกกดราคา เมื่อสีเสร็จก็นำมาวางขายและขายได้จริง
ตามข่าวระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สอบถามเรื่องราคาข้าวกับกลุ่มชาวนาอำเภอเดชอุดม ม่วงสามสิบ เหล่าเสือโก้ เขื่องใน และอำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี ประมาณ 20 ราย ซึ่งสีข้าวสารหอมมะลิ 3 ตัน มาวางขายเอง
ได้รับคำตอบว่า ข้าวเปลือกสีใหม่สดโรงสีรับซื้อกิโลกรัมละไม่เกิน 7 บาท ตามความชื้นของข้าว บางรายข้าวยังเปียกน้ำ เครื่องไม่สามารถตรวจวัดความชื้นได้ โรงสีจะหักร้อยละ 10 ของข้าวเปลือกที่นำไปขายให้
ชาวนาจึงตัดสินใจรวมกลุ่มนำข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวไปตากแห้ง นำไปให้โรงสีในหมู่บ้านสีเป็นข้าวสารนำมาขายกิโลกรัมละ 20 บาท หักต้นทุนค่าผลิต ค่าสีและค่าขนส่ง
ยังได้กำไรเพิ่มอีกกิโลกรัมละ 5 บาท
ในทางการเมืองเรื่องที่ว่าดี อาจถูกบิดเบือนได้
สิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำ ไม่ว่าซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากชาวนาโดยตรง ไม่ว่าการนำข้าวเปลือกที่ซื้อมาสีเป็นข้าวสาร 10 ตัน วางขาย 1 ชั่วโมงหมดเกลี้ยง
กลับถูกการเมืองฝ่ายตรงข้ามเหน็บแนม บิดเบือนและใส่ร้าย
ไม่ใช่แค่ “เบอร์ 2” ของรัฐบาลที่กล่าวท้าทาย “ถ้าอย่างนั้นก็รับซื้อข้าวให้หมดเลยสิ”
ขนาดเบอร์ท้ายๆ ก็ยังใช้วาจาเชือดเฉือนกล่าวหาว่าจัดฉาก โหนกระแส สร้างข่าว สร้างเรื่องดราม่า หวังกลบความผิดและคดีความ
หรือแม้แต่ “เบอร์ 1” อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังแสดงความเห็นแบบครึ่งๆ กลางๆ กรณีนักการเมืองช่วยซื้อข้าวจากชาวนาว่าทำได้ แต่อย่าสร้างภาพ
กับอีกคนคือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ คนแรกๆ ที่เปิดประเด็นนักการเมืองจับมือโรงสีทุบราคาข้าวชาวนา ก่อนคนในรัฐบาลจะนำไปขยายความต่อจนบานปลาย นายกและกรรมการสมาคมโรงสีข้าวไทยประกาศลาออกยกชุด
ครั้งนี้ “หมอวรงค์” เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการรัฐบาลตรวจสอบขบวนการ “ถล่มราคาข้าว” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
กรณีนำข้าวสารหอมมะลิจากชาวนามาขายกิโลกรัมละ 20 บาท ขณะที่ราคาทั่วไปขายกิโลกรัมละ 30-35 บาท
ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่าทั้งหมดอาจเป็นแค่การ “จัดฉาก” ชาวนาที่นำข้าวมาขายไม่ใช่ชาวนาจริง และให้ตรวจสอบด้วยว่าข้าวสารที่ซื้อนำมาบรรจุถุงขายต่อมาจากโรงสีขนาดใหญ่หรือไม่
ท่ามกลางเสียงท้าทายสลับข้อโจมตีต่างๆ นานา
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถอยู่เฉยเป็นเป้านิ่งได้
“ถ้าดิฉันเป็นรัฐบาล จะทำแบบนั้น” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวตอบหลังผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี “พี่ใหญ่” ในรัฐบาล ท้าให้ซื้อข้าวจากชาวนาให้หมดทั้งประเทศ
ส่วนที่รัฐบาลมองว่าการซื้อข้าวจากชาวนาเป็นการจัดฉากดราม่า เพื่อหวังผลทางการเมืองนั้น
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนเองมาจากประชาชน เป็นนายกฯ ที่มาจากประชาชน รู้ซึ้งถึงบุญคุณประชาชน
“วันนี้ชาวนาและประชาชนเดือดร้อน แม้จะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ทำในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่เห็นใจประชาชนและชาวนาที่ลำบาก ไม่ได้มุ่งหวังทางการเมือง”
หลายคนมองว่าข้อชี้แจงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยก “บุญคุณ” ของประชาชนและชาวนาขึ้นมากล่าวอ้าง อาจเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะเข้าใจได้สำหรับกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากประชาชน
นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ข้อกล่าวหา “ถล่มราคาข้าว” สรุปใจความได้ว่า
การที่ผลผลิตข้าวในประเทศมีมากเกือบ 30 ล้านตัน การซื้อขายข้าวร้อยตัน พันตัน หรือหมื่นตัน จะไม่มีผลในการกดราคาหรือถล่มราคาได้
ส่วนราคาขายข้าวหอมมะลิกิโลกรัมละ 20 บาท ใกล้เคียงราคาขายส่งข้าวสารหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 2 และที่ขายราคาถูกกว่าทั่วไปเพราะรับซื้อจากชาวนาโดยตรง
ไม่ต้องเสียค่าการผลิตและค่าการตลาด ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และไม่ได้ขายเพื่อแสวงหาผลกำไร
สิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำจึงเท่ากับบรรเทาความเดือดร้อน เพิ่มอำนาจต่อรองให้ชาวนา
มีทางเลือกมากขึ้นในการขายตรงให้ผู้บริโภค
นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ชี้ข้อแตกต่างระหว่างรัฐบาลชุดนี้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีการช่วยเหลือชาวนาให้พ้นจากวิกฤตราคาข้าวตกต่ำว่า
ขณะที่หลายฝ่ายรวมถึงกองทัพแสดงน้ำใจ ถึงขนาดใส่เครื่องแบบลงไปช่วยเกี่ยวข้าวและช่วยซื้อข้าว แต่ก็ไม่เคยมีคำพูดเชิงกระแหนะกระแหนออกมาจากพรรคเพื่อไทย
แต่พอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนและรับซื้อข้าวของชาวนา กลับถูกตำหนิจากคนในรัฐบาลว่าสร้างภาพ
ก่อนหน้านี้นายวัฒนา ยังออกมาชำแหละมาตรการ “จำนำยุ้งฉาง” ว่าโดยหลักการแล้วไม่ต่างจาก “จำนำข้าว”
เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่เก็บข้าวจากโกดังกลางมาเป็นยุ้งฉางของชาวนา ซึ่งในอดีตเคยทำมาแล้ว แต่ยกเลิกไปเพราะเกิดความเสียหายมาก
เนื่องจากยุ้งฉางไม่ได้สร้างตามมาตรฐาน จึงไม่อาจรักษาคุณภาพข้าวเปลือกได้ อีกทั้งมีอยู่กระจัดกระจายจำนวนมาก การตรวจสอบทำได้ไม่ทั่วถึง
ที่สำคัญเคยมีการกล่าวหารัฐบาลยิ่งลักษณ์ กำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด ถือเป็นความผิด
ขณะที่รัฐบาลชุดนี้รับจำนำรวมแล้วอยู่ที่ตันละ 11,500 บาท ไม่รวมค่าฝากเก็บ 1,500 บาท ขณะที่ราคาตลาดของโรงสีรับซื้อตกตันละ 8,000 บาท ดังนั้น ราคาที่รัฐบาลรับจำนำจึงสูงกว่าราคาตลาด 3,500 บาท
กล่าวโดยสรุป ไม่ว่า จำนำข้าว หรือจำนำยุ้งฉาง หลักการก็คือการช่วยชาวนาด้วยการให้ราคาสูงกว่าราคาตลาด โดยไม่คิดเรื่องผลกำไรหรือขาดทุน
แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะมีคำว่า “จำนำ” เข้ามาเกี่ยวข้อง
ต้องไม่ลืมว่าโครงการจำนำข้าว คืออาวุธมหาประลัยที่ฝ่ายตรงข้ามใช้ทำลายล้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลเพื่อไทย
ชะตากรรม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกเรียกชดใช้ค่าเสียหาย 3.5 หมื่นล้านบาท รวมถึงคดีความในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็เป็นผลพวงจากโครงการจำนำข้าว
โครงการจำนำยุ้งฉาง ถึงจะเพื่อช่วยเหลือชาวนาเช่นกัน
แต่ด้านหนึ่งก็ทำให้รัฐบาลต้องตกอยู่ในสภาพพะอืดพะอม พรรคประชาธิปัตย์ก็เกิดอารมณ์หงุดหงิดงุ่นง่านอย่างยิ่ง
ก่อนทุกอย่างจึงระบายใส่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำอะไรก็ผิด
ผิดแม้กระทั่งการลงไปเยี่ยมเยียนชาวนา