หากจะ “ยุบพรรคการเมือง” ทำอย่างไรได้บ้าง ?

สมชัย ศรีสุทธิยากร

เหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ตั้งอยู่บนความเชื่อของแนวคิด ตั้งยาก อยู่ยาก ยุบง่าย คือกว่าจะจัดตั้งขึ้นมาก็แสนยากลำบาก ตอนอยู่เป็นพรรคก็มีกติกาต้องทำตามเงื่อนไขต่างๆ มากมาย

แต่พอบทจะยุบก็ดูง่ายๆ เสียนี่กระไร

เช่น ข่าวเกี่ยวกับการจะยุบพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง ดูจะเป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน สร้างความหวั่นไหวแก่ผู้เป็นสมาชิกพรรคว่า จะเป็นเหตุแห่งการไม่สามารถลงสนามแข่งขันในจังหวะช่วงใกล้เลือกตั้งหรือไม่

การจะยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ต้องมีเหตุที่นำไปสู่การยุบพรรค มีกระบวนการดำเนินการ และมีระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการ

ดังนั้น หากศึกษาในรายละเอียด ประเด็นของการ “ยุบง่าย” อาจไม่เป็นไปตามความเชื่อก็ได้

ในด้านเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองนั้น ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้ระบุถึงเหตุแห่งการยุบไว้ถึง 11 ประการ คือ

(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(2) กระทำการอันอาจเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย

(3) ดำเนินกิจการที่มีลักษณะแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน

(4) ยอมให้บุคคลอื่นที่มิใช่สมาชิกพรรคมาควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคจนขาดความเป็นอิสระ

(5) มีการจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดนอกราชอาณาจักร

(6) มีการไปรับบริจาคเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจ หรือราชการแผ่นดิน

(7) พรรคการเมืองไปสนับสนุนการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไปทำลายทรัพยากรของประเทศ

(8) ไปยอมรับเงินหรือทรัพย์สิน โดยสัญญาว่าจะให้ตำแหน่งทางการเมืองตอบแทน

(9) ไปรับบริจาคเงิน ทั้งๆ ที่รู้ว่าเงินดังกล่าวได้มาอย่างไม่ถูกกฎหมาย

(10) ไปรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน จากคนที่ไม่มีสัญชาติไทย จากบริษัทหรือนิติบุคคลนอกราชอาณาจักร

(11) มีเหตุอื่นที่นำไปสู่การยุบพรรคตามที่มีกฎหมายกำหนด

เมื่ออธิบายอย่างเป็นรูปธรรมถึงสาเหตุตามที่กำหนดในกฎหมาย คงใช้ภาษาง่ายๆ ได้ว่า 2 ข้อแรกนั้น เป็นความผิดแบบมหันต์ที่พรรคการเมืองไปล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือกระทำการที่เป็นปรปักษ์ต่อการปกครองประชาธิปไตย

ดังนั้น หากมีพรรคการเมืองไหนตั้งขึ้นมาแล้วบอกว่าสนับสนุนเผด็จการ หรือมีนโยบายชัดเจนว่า หากได้รับเลือกตั้งจะยกเลิกรัฐสภาเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใหม่

หรือไม่ยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่ไปสนับสนุนให้คนจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง

อย่างนี้เป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองได้

พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเซ็งลี้หรือทำธุรกิจการเมืองก็นำไปสู่การยุบพรรคได้ เช่น ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อจัดอีเวนต์หาเงินมาแบ่งกันในกรรมการบริหาร ขายของที่ระลึกหรือสินค้าแล้วมาแบ่งกำไรกัน หรือไปเที่ยวขอรับบริจาคเงินจากนักธุรกิจนายทุนทางการเมืองแล้วสัญญาว่าจะให้ตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี เก้าอี้ในรัฐวิสาหกิจ ต่างๆ นานา เป็นทำนองราวกับกำหนดวงเงินว่า ถ้าให้ 10 ล้านจะมีตำแหน่งนี้ให้ ถ้าให้ 20 ล้านจะมีตำแหน่งนี้ให้

หรือรู้ทั้งรู้ว่าเป็นเงินผิดกฎหมาย เป็นเงินขายของหนีภาษี ทำธุรกิจผิดกฎหมาย ตั้งบ่อนทำซ่องและนำมาใช้ทางการเมือง

หากมีหลักฐานแบบนี้ชัดเจน นำไปสู่การยุบพรรคได้

การไปรับเงินจากคนนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล องค์การ บริษัทต่างๆ จากภายนอกประเทศก็ทำไม่ได้

หรือคนที่ไม่มีสัญชาติไทยก็ทำไม่ได้ เพราะจะเป็นเหมือนการแทรกแซงกิจการภายในประเทศจากต่างประเทศ

ดังนั้น พรรคการเมืองต้องระวัง บางทีไปเผลอรับความช่วยเหลือจากองค์การต่างประเทศ

เช่น เขาให้ทุนสนับสนุนในการทำกิจกรรมบางอย่างก็ไปรับเขามา

หากมีหลักฐานชัดเจนก็นำไปสู่การยุบพรรคได้

เรื่องที่สำคัญและพูดกันมากคือ หากพรรคการเมืองไปยอมรับการชี้นำ ควบคุม ครอบงำจากคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคมาบงการเรื่องโน้นเรื่องนี้ เช่น จะออกนโยบายก็ไปอ้างว่าคนนี้คิดให้ พรรคเราเป็นฝ่ายรับมาทำ (เช่น …คิด …ทำ) อย่างนี้เข้าทางแน่นอน

หรือการกำหนดตัวผู้สมัครแต่ละเขต ต้องไปขอไลเซนส์หรือคำอนุมัติจากคนบางคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เขาอุตส่าห์อยู่ในป่าเขาก็ยังดั้นด้นไปหา หรือเขาอยู่ในต่างประเทศก็ต้องบินไปพบเพื่อขอให้เขายอมให้เป็นผู้สมัคร หรือพรรคจะทำอะไรไม่ทำอะไรก็ต้องเป็นตามสัญญาณที่บุคคลนี้ส่งมา

หากมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ชัดเจนอย่างนี้ก็นำไปสู่การยุบพรรคได้ เพราะเป็นพรรคที่ยอมให้คนนอกมาครอบงำ

อย่างไรก็ตาม การพิสูจน์คงไม่ใช่เรื่องง่าย หากการดั้นด้นไปหาบุคคลถึงป่าเขาอาจมาจากศรัทธาที่ต้องการไปกราบไหว้ หรือการไปเยี่ยมเยือนบุคคลในต่างประเทศเป็นการไปพบในฐานะคนรู้จักมักคุ้น ไปพบเพื่อไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ไม่ได้ไปเพื่อเจรจาความเมือง จะไปหาเรื่องยุบพรรคเขาก็คงจะยาก

ถึงแม้ว่าหลวงปู่หรือคนคนนั้นจะเอ่ยปากว่า ครับๆ ผมจะช่วย และหากบังเอิญคนที่บนบานศาลกล่าวก็ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้สมัคร ก็ต้องหาทางพิสูจน์อีกว่า การได้เป็นผู้สมัครมาจากอิทธิฤทธิ์ของหลวงปู่ในป่าเขาหรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศจริง หรือมาจากคุณสมบัติและการพิจารณาอย่างเหมาะสมจากกรรมการบริหารพรรค

นอกจากสาเหตุต่างๆ ที่มีนับสิบข้อข้างต้น ในข้อท้ายสุดยังเปิดกว้างไว้อีกว่า อาจยุบได้ด้วยสาเหตุอื่นๆ ตามที่มีกฎหมายกำหนด

อันนี้ก็จนปัญญาที่จะไปค้นหาประเด็นข้อกฎหมายมาขยายความเพราะไม่รู้ว่าประเทศไทยยังมีกฎหมายอะไรซุกไว้ที่ไหนอีกที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรค

คงต้องขอให้ปรมาจารย์ทางกฎหมายหรือผู้ร่างกฎหมายเป็นผู้ขยายความเอง

ยกเว้นว่าท่านจะอายุมากจนหลงลืมไปแล้วว่าไปเขียนไว้ในที่ใดอีก

ในด้านกระบวนการและเวลาที่ใช้ในการดำเนินการนำไปสู่การยุบพรรค กฎหมายกำหนดให้มีกระบวนการสองขั้นตอนคือ เริ่มต้นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ในขั้นของกรรมการการเลือกตั้ง อาจมาจากการมีผู้มาร้อง หรือเป็นเรื่องที่ กกต.หยิบยกขึ้นมาเองก็ได้ ในกรณีคนที่มาร้องก็คือประชาชน หรือพรรคการเมืองอื่น ที่มีหลักฐานถึงการกระทำผิดชัดเจนสามารถนำหลักฐานมายื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ส่วนกรณีที่ กกต.หยิบยกมาเองนั้น อาจมาจากเจ้าหน้าที่ของ กกต. หรือตัว กกต.เองไปประสบพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว เรียกว่า “ความปรากฏ” ก็จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ กกต.

ซึ่งโดยวิธีการดำเนินการที่ทำมาในอดีตคือ กกต.ใหญ่จะพิจารณาเบื้องต้นว่าเป็นเรื่องที่พอจะมีมูลหรือไม่

ถ้ามีมูลก็จะรับเรื่องราวดังกล่าวไปพิจารณาโดยจะตั้งอนุกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อไปรวบรวมหลักฐาน วิเคราะห์ข้อเท็จจริงเพื่อกลับมานำเสนอให้ กกต.ลงมติอีกครั้ง

เวลาปกติที่ใช้ในการดำเนินการดังกล่าวอาจมีขั้นตอนการนำเรื่องเข้าสู่วาระการประชุมของ กกต.ประมาณ 2 สัปดาห์ การให้เวลาแก่อนุกรรมการวินิจฉัยโดยเฉลี่ยประมาณ 2 เดือน และการนำกลับมาลงมติในขั้น กกต.อีกประมาณ 2 สัปดาห์

รวมๆ แล้วประมาณ 3 เดือน

แต่หากจะเร่งรัดสุดๆ ก็ตัดขั้นตอนอนุกรรมการออก นำมาพิจารณาในขั้น กกต.ใหญ่เลยอาจเหลือเวลาเพียง 1 เดือนได้ (ยังไม่เคยเจอเคสนี้ ในสมัย กกต.ชุดที่ 4)

สำหรับกระบวนการในขั้นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องขอการให้โอกาสถูกร้องและผู้ถูกร้องมาให้ข้อเท็จจริง ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ศาลแต่ละคนต้องอ่านสำนวนและเขียนคำวินิจฉัยส่วนบุคคล ก่อนที่จะมาลงมติในคำวินิจฉัยกลางว่าผิดหรือไม่ผิด ยุบหรือไม่ยุบ ซึ่งที่ผ่านมาใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน หรือเร็วสุดก็คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน

ดังนั้น ในขั้นตอนและเวลาการยุบพรรค เร็วสุดทั้งสองขั้นอย่างน้อยต้องใช้เวลา 2 เดือนตั้งแต่มีคำร้องหรือความปรากฏ จนถึง 6 เดือน ภายใต้วิธีการทำงานปกติ หรือมากกว่านั้นหากมีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ต้องพิสูจน์เพิ่มเติม

การยุบพรรคพรรคหนึ่งจึงมิใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา

แต่หากมีการยุบพรรคกันง่ายๆ ในปัจจุบันด้วยเวลาที่รวดเร็วผิดปกติ

ผู้ตัดสินใจคงต้องตอบคำถามสังคมให้ชัดครับว่า ยุบไปตามหลักฐานเหตุผลหรือยุบเพราะสิ่งใด