อัดฉีดเงินอุ้มทั้งประเทศ งัดจิตวิทยา “ทหารเอาใจชาวนา” รบ. ชู 5 ปีรวย ฝ่าวิกฤต “ข้าว”

เป็นอีกบททดสอบฝีไม้ลายมือรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้รับโจทย์ใหญ่และยาก อย่างการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาราคาข้าวตกต่ำมีมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน แต่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ราคาข้าวดันตกต่ำถึงขนาดมีคนนำไปเปรียบเทียบว่าข้าวเปลือกต่อกิโลกรัมยังถูกกว่าราคาต่อซองของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเสียอีก สิ่งที่ชาวนาคาดหวังคงไม่พ้นมาตรการระดับนโยบายของรัฐบาลที่จะออกมาช่วยชาวนาแบบเร่งด่วน

เนื่องด้วยกำลังเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งจะมีปริมาณข้าวออกมาสู่ตลาดอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ประเมินแล้วว่าสถานการณ์กำลังจะย่ำแย่ลงเรื่อยๆ หากไม่เร่งอัดฉีดนโยบายช่วยชาวนาให้เร็วที่สุด

คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ประกอบด้วย สินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกหอมมะลิราคาตันละ 13,000 บาท

โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะรับจำนำตามความเห็นชอบของ ครม. คือแบ่งเป็นรับจำนำข้าวเปลือกที่ราคาตันละ 9,500 บาท ค่าเก็บเกี่ยว 2,000 บาท ค่ายุ้งฉางอีก 1,500 บาท รวมเป็น 13,000 บาท

อย่างไรก็ตาม หากไม่มียุ้งฉาง รัฐบาลจะช่วยเก็บเกี่ยวและรักษาคุณภาพข้าวตันละ 2,000 บาท

s__36962311-696x522

แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะบานปลายยิ่งขึ้นเมื่อชาวนาภาคกลางซึ่งเป็นตัวแทนสภาเกษตรกรจังหวัดในเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง 31 จังหวัดเดินทางมายื่นข้อเสนอถึง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ศูนย์บริการประชาชนทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันมติ ครม. สินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกหอมมะลิราคาตันละ 13,000 บาทให้บังคับใช้ทั่วประเทศ ไม่ใช่ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือชาวนาเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือเพียงอย่างเดียว

เนื่องจากชาวนาภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างทั้งหมดก็มีความเดือดร้อนในปัญหาราคาข้าวขาวตกต่ำเช่นกัน เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว รุนแรงถึงขั้นการฆ่าตัวตาย จึงอยากให้รัฐบาลหันมาทบทวนมาตรการช่วยเหลือชาวนาภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง เพราะทุกคนมีความเสมอภาคกัน ไม่ควรจะแบ่งแยกการช่วยเหลือเป็นภาค

อีกทั้งสถานการณ์ในปัญหาราคาข้าวจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันและสะท้อนถึงการขาดความเชื่อมั่นของเกษตรกรต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจะยิ่งลดต่ำลงไปอีก

เมื่อ นายสุพกิจ ปั้นแปลก อายุ 47 ปี เกษตรกรบางมูลนาก จ.พิจิตร ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการผูกคอตาย ยืนยันจาก นางอุบล ปั้นแปลก ภรรยาคู่ชีวิต ให้เหตุผลการฆ่าตัวตายว่าเป็นเพราะกลัวว่าจะขายข้าวที่ปลูกไว้กว่า 80 ไร่ไม่ได้ราคามากพอที่จะนำมาปลดหนี้สินที่กู้ยืมจากสหกรณ์การเกษตรอำเภอบางมูลนาก กว่า 1 ล้านบาท

ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงว่า ได้รับการยืนยันจากคนในพื้นที่ว่านายสุกพิจประกอบอาชีพช่างแอร์และไม่เกี่ยวกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำ

จนภรรยาของผู้เสียชีวิต ต้องออกมาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวด้วยน้ำตานองหน้าอีกครั้งว่า ครอบครัวมีรายได้จากการทำนาเป็นหลัก ที่ผ่านมา สามีเคยเป็นช่างไฟฟ้าและช่างแอร์ ซึ่งเป็นเพียงงานอดิเรก เป็นอาชีพเสริมเท่านั้น งานหลักจริงๆ ของครอบครัวคือทำนามาทั้งชีวิต

กรณีดังกล่าวเหมือนเป็นก้าวที่พลาดของทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ไม่น้อยที่ไม่ศึกษาข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้ ทำให้การยืนยันอย่างเลื่อนลอยของโฆษกรัฐบาลเป็นการตอกลิ่มซ้ำเติมชาวนาลงไปอีก เหมือนไม่มีแก่ใจช่วยแก้ไขปัญหาจนต้องโบ้ยออกหน้าสื่อแบบไม่แคร์ความรู้สึกต่อกระดูกสันหลังของชาติ

ส่งผลให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องปรับยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาราคาข้าวจากการตั้งรับมาเป็นเชิงรุกอีกครั้ง

201610251012019-20061002145931

โดยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน หลังจากการเรียกร้องของเกษตรกรภาคกลาง ส่งผลให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการระลอกสองเพื่อลดแรงเสียดทานจากชาวนาภาคกลาง

ด้วยการที่ ครม. ได้มีมติขยายพื้นที่โครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ จากเดิมกำหนดที่ 23 จังหวัดที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ทั้งนี้ ได้มีการขยายความช่วยเหลือไปยังเกษตรกรที่ปลูกข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (ข้าวหอมปทุม)

โดยชาวนาที่เข้าร่วมโครงการกรณีข้าวเปลือกเจ้าจะได้รับเงินสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. เป็นเงิน 7,000 บาท คิดที่ไม่เกินร้อยละ 90 ของราคาตลาดขณะนี้ซึ่งอยู่ที่ตันละ 7,800 บาท

ส่วนข้าวปทุมธานี 1 จะได้รับสินเชื่อ 7,800 บาท คิดจากร้อยละ 90 ของราคาตลาดที่ตันละ 8,700 บาท รวมกับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวตันละ 2,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 12,000 บาท และค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางตันละ1,500 บาท

รวมเบ็ดเสร็จแล้วข้าวเปลือกเจ้าจะได้เงินตันละ 10,500 บาท และข้าวปทุมธานี 1 ตันละ 11,300 บาท

 

ประสานกับมาตรการที่เดาไม่ยากในรัฐบาลทหาร นั่นคือแอ๊กชั่นของกองทัพต่อการช่วยชาวนาผ่านกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ที่ได้รับคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวนา สำรวจและขอความร่วมมือโรงสีไม่ให้กดราคามากเกินไป

รวมถึงการเข้าไปช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิต และการรับซื้อข้าวจากชาวนาผ่านระบบสหกรณ์การเกษตรและรับซื้อจากชาวนาโดยตรง

ถือว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการที่ คสช. ใช้จิตวิทยาเพื่อให้บรรดาเกษตรกรรู้สึกว่าปัญหาของพวกเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง

AFP PHOTO / MADAREE TOHLALA
AFP PHOTO / MADAREE TOHLALA

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่รัฐบาลและ คสช. กำลังพลิกตำราแก้ปัญหาอยู่นั้น นอกจากปัจจัยเรื่องกลไกตลาดที่มีส่วนสำคัญส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำอยู่ในขณะนี้

ปัจจัยทางการเมืองก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง วิเคราะห์แล้วว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีท่าทีออกมาระหว่างประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่ามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีการร่วมมือกันระหว่างนักการเมืองในพื้นที่ร่วมกับโรงสีบางโรงในการกำหนดราคาข้าวให้ต่ำลง โดยหวังให้เกิดประเด็นเพื่อให้ประชาชนต่อต้านหรือขัดแย้งกับรัฐบาล ขณะนี้รัฐบาลก็ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ชัดว่ากลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่ร่วมมือกับโรงสีมีใครบ้าง

สุดท้ายคงต้องคอยดูกันต่อไปว่าวัฏจักรการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่มักจะมาแวะเวียนมาเป็นโจทย์ใหญ่ให้ทุกรัฐบาลได้แก้เกมหาคำตอบกันตลอด จะผ่านมือ พล.อ.ประยุทธ์ ไปได้แบบราบเรียบหรือขรุขระ

แน่นอนว่าหากรัฐบาลและ คสช. แก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำได้ ย่อมได้ใจเกษตรกรที่ถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุไว้เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า “รัฐบาลนี้กำลังแก้อยู่ แต่มันแก้สิ่งที่เกิดมา 20-30 ปี คงแก้ไม่ได้ภายในวันเดียว คงต้องแก้ทั้งระบบ ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง หากแก้เช่นนี้ได้ผมรับรองไม่เกิน 5 ปี ชาวนา ชาวไร่จะรวยขึ้นเยอะ”

แต่หากผลการแก้ไขปัญหาราคาข้าวเป็นไปในทางตรงกันข้าม ย่อมส่งผลสะเทือนถึงเสถียรภาพของรัฐบาลและ คสช. อย่างแน่นอน