เปิดฎีกา-กางกฎหมาย ม.116-พ.ร.บ.คอมพ์ อาวุธยุค คสช.?

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ เคยเสนอบทความ ตั้งข้อสังเกตถึงการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีการแก้ไขใหม่ว่า กฎหมายดังกล่าวเริ่มจะเป็นที่รู้จักและถูกหยิบยกนำมาใช้กันมากยิ่งขึ้นในช่วงรัฐบาล คสช.ขึ้นมากุมอำนาจ

ศูนย์ข้อมูลไอลอว์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายดังกล่าวมีลักษณะการบังคับใช้ฟ้องคดีปิดปากต่อสื่อมวลชนและกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีความคิดเห็นต่างจากผู้มีอำนาจรัฐจนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่!?

บทความไอลอว์หลายชิ้นยังมีข้อวิตกกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกเป็นเครื่องมือไว้จัดการกับขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม และนักเคลื่อนไหวตรวจสอบ

พร้อมยกตัวอย่างตั้งแต่เรื่องที่มีการดำเนินคดีกับบุคคลที่โพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องการทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

จากข้อสังเกตและการเก็บข้อมูลของไอลอว์หลายชิ้น มองสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่ามีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ หรือจาก คสช.เองนั้นได้เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไปยังพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับกลุ่มที่ส่วนมากเป็นนักวิชาการ คนรุ่นใหม่ ซึ่งมีแนวคิดต่าง และนักการเมืองขั้วตรงข้าม

จนมีการทำสำนวนคดี 116-พ.ร.บ.คอมพ์ส่งอัยการและฟ้องต่อศาลอาญาอยู่เป็นจำนวนที่มากขึ้นกว่ายุครัฐบาลพลเรือน

ล่าสุด “เพลงแร็พประเด็นร้อน” อย่างเพลง “ประเทศกูมี” ที่ตอนนี้มียอดคนเข้าไปดูไม่ต่ำกว่า 22 ล้านวิว ก็ถูกจับตามองว่าบทเพลงดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ใน 2 มาตรานี้หรือไม่

แม้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล หรือ “บิ๊กปู” รอง ผบ.ตร.ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษจะออกมาให้ข่าว ดูคล้ายกลับลำจากท่าทีแรกๆ ปฏิเสธเบื้องต้นว่าในชั้นนี้ยังไม่พบหลักฐานที่จะเอาผิดได้ ประชาชนยังสามารถฟัง ร้อง และแชร์เพลงได้

แต่ “บิ๊กปู” ยังทิ้งท้ายว่า ได้สั่งการให้ตำรวจป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมและเทคโนโลยี หรือ ปอท. ตรวจสอบเนื้อหาของเพลงอย่างละเอียด รวมถึงเบื้องหลัง การแต่งเนื้อร้องและทำนองด้วย เพื่อจะดูว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นหรือไม่

กลายเป็นว่า #ประเทศกูมี #ตอนนี้ไม่ผิด #แต่ต่อไปไม่แน่

เช่นเดียวกันกับ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รรท.ผบ.สตม. ที่ตอนเช้าวันเดียวกัน มีข่าวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนขึงขัง มีพูดถึงหมายเรียก หมายจับ แต่พอมาตกเย็น กลับเสียงอ่อน ท่าทีเปลี่ยนไป พร้อมให้ความเห็นเกี่ยวกับเพลงดังกล่าวเป็น “ยุคที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกคน มีสิทธิแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมในทุกๆ ด้าน ซึ่งผู้ใหญ่ต้องยอมรับความจริงที่ว่า ไม่สามารถห้ามหรือจำกัดความคิดเห็นส่วนบุคคลได้โดยเฉพาะความคิดเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ถือเป็นการสะท้อนความคิดเห็นอีกมุมมองหนึ่งที่ผู้ใหญ่ควรรับฟัง ทั้งยังยืนยันว่าการดำเนินคดีจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”

เมื่อ 2 นายตำรวจใหญ่ออกมาแบะท่าเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไปว่า มาตรฐานการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการแสดงออกของประชาชนต่อไปจะมีแนวโน้มที่จะถูกโยงกฎหมาย 2 มาตรานี้แค่ไหน

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายถึงการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 นั้น จะต้องเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด ซึ่งไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

โดยในเรื่องนี้ศาลฎีกาเคยวางแนวทางวินิจฉัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกระทำความผิดมาตรา 116 ไว้ว่า การกล่าวหาของจำเลยแม้จะใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมหรือรุนแรงไปบ้าง แต่เมื่อคำนึงถึงสภาพการณ์และหลักการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ติชมรัฐบาลตามหลักประชาธิปไตยแล้ว การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2491)

สำหรับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในประเทศ ซึ่งลักษณะของการกระทำความผิดบางอย่างอาจจะเชื่อมโยงไปถึงการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 นั้น จะเป็นการกระทำความผิดใน 3 ลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คือ

1. การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

2. การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

3. การเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามที่กล่าวมาข้างต้น

ซึ่งการกระทำความผิดใดจะเข้าข่ายลักษณะเป็นความผิดตามมาตรา 14 ดังกล่าวนี้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายจะต้องพิจารณาดูว่าการกระทำนั้นกระทบต่อความมั่นคง ความปลอดภัยสาธารณะ สร้างความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน หรือเป็นการก่อการร้ายหรือไม่ ในกรณีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองก็คงต้องมาพิจารณาด้วยว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ติชมรัฐบาลตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่มาประกอบด้วย

เพราะฉะนั้น เพลงแร็พ “ประเทศกูมี” เจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องตระหนักให้ดีถึงการดำเนินคดีแก่ประชาชน มิใช่ดำเนินคดีตามความไม่พอใจของ “ผู้มีอำนาจ” เท่านั้น

มิเช่นนั้น กฎหมายที่ร่างมา สุดท้ายย่อมจะมีปัญหาในการบังคับใช้ต่อไปในอนาคต