บทวิเคราะห์ : ที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ค่อยๆเลือนหาย?

คําว่า “ที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย” ในระยะหลังๆ เราไม่ค่อยได้ยินคำคำนี้กัน

ตอนแรกๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบันเคยมีโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยเหมือนกัน โดยจะนำเอาที่ดินของกรมธนารักษ์มาให้บริษัทเอกชนพัฒนา เพื่อให้เช่าซื้อราคาไม่แพงแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง แต่หลังๆ โครงการนี้ค่อยๆ เงียบหายไป

ที่นึกถึงเรื่องที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยขึ้นมาได้ เพราะเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสแวะไปดูการเปิดตัวโครงการ “ไอดิลล์ พานทอง” ทาวน์เฮาส์ชั้นเดียวบนที่ดิน 18 ตารางวา ราคา 1.3-1.5 ล้านบาท จำนวน 300 กว่ายูนิต ที่ตัวเมืองอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่โครงการนี้ผลิตทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยรูปแบบที่สามารถทำให้ราคาต่ำที่สุดในแนวราบ ทำให้ได้ราคาขายที่ 1.3-1.5 ล้านบาท ผ่อนเดือนละ 8,000-10,000 บาท

 

ฐานกำลังซื้อใหญ่ของโครงการคือกลุ่มคนที่ทำงานโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะที่อยู่ห่างออกไป 4-5 กิโลเมตร

ผลตอบรับการแกรนด์โอเพ่นนิ่งเปิดตัวโครงการ ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายมากมายล้นหลาม ทางโครงการให้บริการตรวจสอบเครดิตกับ “เครดิตบูโร” แก่ผู้ที่สนใจจองโครงการด้วย

ปรากฏการณ์นี้ยืนยันให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง-ล่างนั้น ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยอีกมาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า คนกลุ่มนี้ขาดแคลนที่อยู่อาศัยอีกมหาศาล

สังเกตได้เมื่อมีการเปิดตัวโครงการระดับราคาล้านต้นๆ ที่มีรูปแบบและทำเลที่เหมาะสม ก็จะได้รับความสนใจมากมาก หรือเมื่อมีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงของทางราชการในสื่อโซเชียล ก็จะได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก

ปัญหาที่ไม่มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่แพงทั้งที่มีความต้องการมากเนื่องจากบริษัทอสังหาฯ ภาคเอกชนเจอปัญหาราคาที่ดินดิบแพงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การจะหาที่ดินในราคาและทำเลที่ทำโครงการที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่แพงนั้น ยากขึ้นเรื่อยๆ

 

สําหรับโครงการที่เป็นของภาครัฐ ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า การดำเนินการเรื่องนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่แล้วโครงการไม่สำเร็จ หรือยุคก่อนโน้นมีบ้างที่สำเร็จ แต่ส่วนใหญ่ทำเลก็ไม่ตอบโจทย์ชีวิตจริงของคน

ก็หวังอยู่ว่า เมื่อประเทศเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง จะมีนโยบายจากพรรคการเมืองเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและกลางล่างบ้าง

สนับสนุนให้บริษัทอสังหาฯ เอกชนนั่นแหละเป็นผู้ดำเนินการ โดยรัฐให้การอุดหนุนด้านภาษีหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยลดต้นทุนหรือลดภาษีให้เอกชนสามารถทำได้

มิใช่มีแต่มาตรการควบคุมโน่นนี่นั่นยุ่บยั่บไปหมด ราวกับธุรกิจเอกชนมีแต่จะก่อปัญหา สร้างปัญหาให้กับระบบเศรษฐกิจ ประชาชนก็มีแต่ความอยากความโลภ ซึ่งความจริงส่วนใหญ่ไม่ใช่เช่นนั้นเลย

ผู้ประกอบธุรกิจเอกชนเขาก็มีความรับผิดชอบกับลูกค้าตามสัญญา ตามกฎหมาย มีความรับผิดชอบกับแบรนด์ของตนเอง ส่วนประชาชนผู้ซื้อ เขาก็ต้องการที่อยู่อาศัยซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต

รัฐควรคิดให้การส่งเสริมมากกว่าการจะมาควบคุม

หากปล่อยให้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยสะสมมากขึ้นๆ ระวังจะเกิดปัญหาทางสังคมด้านอื่นๆ ที่รุนแรงขึ้น

 

มีตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้มีการโพสต์โครงการที่อยู่อาศัยระดับอภิมหาลักซ์ชัวรีระดับราคานับร้อยล้านโครงการหนึ่งขึ้นในโลกโซเชียลออนไลน์ ปรากฏว่ามีคอมเมนต์ในเชิงลบ ไปจนถึงคอมเมนต์แบบเสียๆ หายๆ เยอะมาก ทั้งที่โครงการนั้นก็ไม่ได้ไปทำผิดอะไรเลย แบรนด์บริษัทแม่ของโครงการนี้มีภาพลักษณ์ทางสังคมด้านบวกเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ

มันเป็นการระบายความเครียดจากความแตกต่างสุดขั้วผ่านทางโซเชียลออนไลน์

รัฐและพรรคการเมืองต้องคิดแก้ตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่เรื่องราวจะขยายไปมากกว่านี้ เพราะความขัดแย้งต่อไปจะไม่ใช่เหลืองกับแดง แต่จะกลายเป็นรวยสุดขั้วกับจนสุดขั้ว