ผมเป็นเผด็จการ? : โดยสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

—————–

ผมเป็นเผด็จการ?

—————–

“(ผมเป็น)เผด็จการมากขนาดนั้นเชียวหรือ”

วาทะตอบโต้ กระแสแร็พ “ประเทศกูมี” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าพิจารณา

อย่างที่ทราบกันดี

หลังการปฏิวัติ 22 พฤษภาคม 2557

คณะรัฐประหาร ชูธง “ต้องไม่เสียของ” เป็นเป้าหมาย

อันนำไปสู่การวางแผน”เพื่อการดังกล่าวร วมถึงการสืบอำนาจมากมายอย่างที่เราไม่เคยเห็นจาก คณะปฏิวัติชุดไหนมาก่อน

จะว่า เป็นการสรุปบทเรียนของ ฝ่าย “อำนาจนิยม” ก็ได้

เราเห็น นวัตกรรมใหม่ ที่ดึงเอาผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่มิได้ร่วมการยึดอำนาจ เข้ามาเป็น สมาชิกคณะรัฐประหาร “โดยตำแหน่ง” มาแล้วถึง 2 ยุค

เพื่อค้ำอำนาจให้ตนเอง ไปกระทั่งนาทีสุดท้ายที่มีรัฐบาลใหม่ (ซึ่งก็ถูกออกแบบไว้แล้วเช่นกันว่าจะต้องสืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร)

เมื่อ”พิมพ์เขียว”ถูกกำหนดดังกล่าว เหล่าเนติบริกร ก็พากันขยายแบบโครงสร้างการสืบทอดอำนาจอย่างเจนจัด

ทำให้เรามีรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ว่ากันว่าซุ่มซ่อน ยอกย้อน ที่จะทำให้ คณะรัฐประหาร ลอกคราบไปสู่อำนาจใหม่ในกรอบประชาธิปไตยอย่างราบรื่น

และ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ที่ผูกมัดให้ต้องเดินตามทางที่กำหนด ยาวนาน ถึง 20 ปี

ประกัน “การไม่เสียของ” อย่างเข้มข้น

อย่างไรก็ตาม การจะให้ถึงเป้าหมายนั้น ไม่อาจปฏิเสธ “การเลือกตั้ง” ที่ จะตีตราความชอบธรรมให้ได้

จึงมีการวางยุทธวิธี ให้ ฝ่ายบริหาร มีอาวุธที่จะเอาชนะในการเลือกตั้งมากมายคู่ขนานไป

แนวทางหลักหนึ่ง คือ “ประชารัฐ”

ที่เป็นยุทธวิธีเบิกทางให้ ฝ่ายบริหารระดมสรรพกำลังทั้ง งบประมาณ ข้าราชการ ต่อเชื่อมไปถึงกลุ่มทุน นักธุรกิจ ผลักดันนโยบายต่างๆลงไปสู่ประชาชน

4 ปีของรัฐบาล มีเงินจำนวนมหาศาลผ่านโครงการประชารัฐนี้

จนทำให้ ฝ่ายบริหารมั่นใจว่า นี่คือ ใบการันตี ที่น่าจะเรียกเสียงสนับสนุน จากประชาชน

แล้วคำว่าประชารัฐ ก็แปลงร่างไปสู่ พรรคการเมือง

ด้วยความหวังอันสูงสุดว่านี่คือ แกนหลักที่จะรวบรวมเสียง เพื่อ “ตั้งรัฐบาล”ที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างมีความชอบธรรม

ขณะที่ผู้นำ ก็พยายาม ลดภาพ”นายทหาร”

กลายเป็น”ลุงใจดี” “ลุงผู้ใกล้ชิดชาวบ้าน” เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนในอีกฟากหนึ่ง

นี่คือ การผสานกำลังเพื่อสืบเนื่องอำนาจต่อไป

ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อย เชื่อว่าด้วยความพร้อมต่างๆ น่าจะเป็นไปพิมพ์เขียวดังกล่าว

ส่วนคนที่ขัดขืน หรือเห็นต่างๆก็อาจจะเจอ อำนาจเหล็ก ผ่านคำสั่งคณะรัฐประหาร มาตรา 44 รวมถึง กฏหมายบางตัว ที่กลายเป็น ยาสมัญประจำบ้านที่เอาไว้ใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม เช่นพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

พิจารณาตามเหตุผลนี้ เส้นทางแห่งอำนาจ ของ คณะรัฐประหาร น่าจะไร้ปัญหา

แต่เป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ นั่นคือคำถาม

ถ้าตอบแบบไม่เอาใจกัน 4 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ราบรื่นเท่าใดนัก

ยังมีการท้าทาย ยังมีคำถามว่า บนเส้นทางที่”บังคับให้คนไทยเดิน” นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าจริงหรือ

การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่คาดหวังภายใต้วาทกรรม”ปฏิรูป”เกิดขึ้นจริงหรือไม่

เราจะฝากฝีฝากไข้กับ “ทางพิเศษ”ที่บังคับให้คนไทยเดินได้หรือไม่

และแน่นอน ปรากฏการณ์ “ประเทศกูมี”ก็เป็นหนึ่งในหลายปรากฏการณ์ ที่ท้าทายและตั้งคำถามต่อสิ่งที่คณะรัฐประหารทำมา 4 ปี

โดยไม่ว่าจะประแป้ง หรือฉาบปูนอย่างไร

ที่สุด คำว่า”เผด็จการ”ก็มาตั้งตรงหน้าชาวบ้าน ตามเสียงตะโกนของฝ่ายแร๊พ ประเทศกูมี อยู่นั่นเอง

โดยมีคำถามคับข้องใจ “(ผมเป็น)เผด็จการมากขนาดนั้นเชียวหรือ”

นั่นสิ ทำไม??

—————-