มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส / ย้อนอดีต อีสเทิร์นซีบอร์ด (2)

มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส

 

ย้อนอดีต อีสเทิร์นซีบอร์ด (2)

 

ตั้งใจจะพาไปมองแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC แท้ๆ แต่พอย้อนอดีตไปมองโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard Development (ESD) ก็มีเรื่องให้มองมากมาย จนต้องมาต่อในสัปดาห์นี้

เริ่มเมื่อรัฐบาลคิดจะนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นฝั่งมาแยกใช้ เลยจะมีอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ว่าต้องไปเริ่มต้นที่ท่าเรือน้ำลึกเสียก่อน ท่าเรือแห่งใหม่นี้ นอกจากรองรับโครงการพัฒนาต่างๆ แล้ว ยังเป็นแผนรองรับการขยายตัวการขนส่งทางทะเล แทนท่าเรือกรุงเทพฯ ที่คลองเตย ที่คับแคบ และล้าสมัย

แต่ความเป็นได้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในภูมิภาคตะวันออกมีได้เพียง 4 แห่งเท่านั้นคือ สัตหีบ มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกได้สมบูรณ์แบบ แต่พื้นที่เกือบทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของกองทัพเรือ

เกาะสีชัง มีศักยภาพสามารถรับเรือขนาดใหญ่ได้ ด้วยระดับน้ำทะเลที่ลึกถึง 25 เมตร แต่พื้นที่เกาะคับแคบ และต้องเสียค่าก่อสร้างสร้างสะพานเชื่อมกับฝั่งศรีราชา

ระยอง บริเวณที่ระดับน้ำทะเลลึกเกิน 10 เมตร อยู่ห่างจากชายฝั่งถึง 5 กิโลเมตร อีกทั้งมีสภาพเป็นฝั่งทะเลเปิด ทำให้ได้รับลมมรสุมโดยตรง จำเป็นต้องสร้างเขื่อนกันคลื่นและขุดลอกร่องน้ำอยู่เสมอ

และแหลมฉบัง ที่มีความเหมาะสม แต่ต้องลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะมีต่อพัทยา ที่อยู่ใกล้เคียง

 

จึงเป็นที่มาของท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังในวันนี้ อย่างไรก็ตาม มีแผนส่งเสริมให้บริเวณรอบเกาะสีชัง เป็นสถานที่ขนถ่ายสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์น้ำมันและสินค้าอันตราย โดยใช้เรือลำเลียงจากเรือใหญ่

รวมทั้งกำหนดให้โรงงานก๊าซธรรมชาติตั้งอยู่บริเวณระหว่างสนามบินอู่ตะเภาและมาบตาพุด เนื่องจากเป็นที่ราบกว้าง สภาพดินมีคุณค่าทางเกษตรต่ำ ประชาชนอาศัยอยู่เบาบาง ทำเลใกล้แหล่งบริการพื้นฐานสำหรับการผลิตและขนส่ง และสามารถควบคุมมลพิษได้

ส่วนอุตสาหกรรมหลัก ที่จะอยู่ใกล้บริเวณโรงงานก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและเหล็กพรุน อยู่บริเวณบ้านมาบชะลูด ระยอง อุตสาหกรรมเปโตรเคมีคอลอยู่บริเวณมาบตาพุด ระยอง อุตสาหกรรมโซดาแอช อยู่บริเวณบ้านมาบชะลูดหรือตรงข้ามฐานทัพเรือสัตหีบ

ส่วนอุตสาหกรรมอื่นอยู่ในพื้นที่ระหว่างสนามบินอู่ตะเภาและมาบตาพุด ในขณะที่อุตสาหกรรมขนาดเล็กและกลาง ให้รวมอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง

สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน ให้ก่อสร้างการทางรถไฟแยกจากสถานีเขาชีจรรย์ไปยังแหล่งอุตสาหกรรมมาบตาพุด และเร่งรัดโครงการสร้างทางรถไฟสายฉะเชิงเทราผ่านชุมทางบ้านภาชีไปอุดรธานี โดยไม่ผ่านกรุงเทพฯ

 

นอกจากนี้ บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก มีสภาพทางธรณีวิทยาใต้พื้นผิวดินเป็นหินแกรนิต มีเนื้อแน่นและแข็ง แต่ไม่มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำ และไม่สามารถสูบน้ำบาดาลมาใช้ได้ จึงต้องอาศัยการกักเก็บน้ำผิวดินเท่านั้น

คณะกรรมการจึงกำหนดให้ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเดิม และสร้างใหม่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางพระ (100 ล้านลูกบาศก์เมตร) สำหรับการประปาชลบุรี และอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมันในศรีราชา และโรงไฟฟ้าบางปะกง อ่างเก็บน้ำหนองค้อ (19 ล้านลูกบาศก์เมตร) มีท่อส่งน้ำเชื่อมต่อกับอ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำมาบประชัน (14 ล้านลูกบาศก์เมตร) สำหรับเมืองพัทยา อ่างเก็บน้ำคลองบางไผ่ (12 ล้านลูกบาศก์เมตร) อ่างเก็บน้ำพลูตาหลวง (2.8 ล้านลูกบาศก์เมตร) สำหรับฐานทัพเรือสัตหีบ อ่างเก็บน้ำดอกกราย (58 ล้านลูกบาศก์เมตร) สำหรับอุตสาหกรรมบริเวณมาบตาพุดและชุมชน ที่จะเกิดบริเวณสัตหีบและแหลมฉบัง อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ใกล้กับอ่างเก็บน้ำดอกกราย (100 ล้านลูกบาศก์เมตร) สำหรับเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ (45 ล้านลูกบาศก์เมตร) เชื่อมต่ออ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล

ทั้งนี้ กำหนดให้ชลบุรีเป็นชุมชนเศรษฐกิจหลักของภาคตะวันออก ด้านการบริหารการปกครองและการพาณิชย์ ชุมชนเมืองระยองและฉะเชิงเทรา เป็นชุมชนเศรษฐกิจรอง ยกระดับสุขาภิบาลพนมสารคาม เทศบาลเมืองพนัสนิคม เทศบาลตำบลศรีราชา สุขาภิบาล ทางเกวียน

และพัฒนาบ้านมาบตาพุดให้เป็นชุมชนใหม่

 

ทั้งหมดคือแผนพัฒนาที่วางไว้เมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้ว

จะเห็นได้ว่ามีความชัดเจน ทั้งโครงการ ทั้งที่ตั้ง ทั้งรายละเอียดครบถ้วน

ส่งผลให้การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกประสบความสำเร็จ เช่นที่เห็นในปัจจุบัน

ส่งผลต่อการพัฒนาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตอุตสาหกรรม และการขนส่งผ่านท่าเรือ

จนบางเรื่องก็มากเกินแผนงานที่วางไว้ อย่างการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและชุมชน ที่เกิดขึ้นในชลบุรีและระยอง ตั้งแต่พานทอง ไปจนถึงบ่อวินและปลวกแดง

รวมทั้งปัญหามลภาวะและชุมชนที่เป็นข่าว ล้วนมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นเกินแผน ไม่อยู่ในแผน หรือไม่ทำตามแผนบ้างเท่านั้น

ก็ไม่รู้ว่าบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ยุค 4.0 ได้กำหนดรายละเอียดของแผนพัฒนาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่ท่าเรือ ทางรถไฟ ทางหลวง ทางหลวงพิเศษ พลังงานไฟฟ้า จนถึงแหล่งน้ำ และการใช้ที่ดินสำหรับอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างไร

โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ ต้องดูว่า อะไรจะอยู่ตรงไหน

จะได้เตรียมการ เตรียมตัว ไม่ให้ตกขบวน