วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / For Beginner : ริอุสและมาร์กซ์ (1)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

For Beginner : ริอุสและมาร์กซ์ (1)

 

ในปี 2017 หนึ่งปีก่อนวาระครบรอบ 200 ปีของคาร์ล มาร์กซ์ “ริอุส” นักวาดการ์ตูนชาวเม็กซิกัน ผู้เขียน Marx for Beginner ซึ่งโด่งดังเพราะเป็นหนังสือเล่มแรกที่เล่าประวัติและความคิดของมาร์กซ์ในรูปของการ์ตูน ได้สิ้นชีวิตลงเมื่ออายุได้ 83 ปี

ริอุสเป็นฝ่ายซ้าย และงานของเขาเป็นการ์ตูนที่โจมตีทั้งจักรพรรรดินิยม ศาสนา คอร์รัปชั่น บริโภคนิยม และนักการเมือง

เขาเริ่มงานการ์ตูนเมื่อห้าสิบปีก่อน และตลอดเวลาที่ผ่านมามีผลงานเป็นการ์ตูนนับพันรูปและหนังสือแนวสารคดีกว่าร้อยเล่ม ทั้งหมดยึดแนวทาง “ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย”

เป็นที่รู้จักขนาดไหน?

คาลอส มอนซิเวส นักเขียนชาวเม็กซิกัน ซึ่งเคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับเขา บอกว่า “ในประเทศนี้ คนจะได้รับการศึกษาจากสามแหล่งคือ กระทรวงศึกษาธิการ, โทรทัศน์ และริอุส”

 

ริอุสมีชื่อจริงว่า เอ็ดดัวโด เดล ริโอ เกิดเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ.2477 ในเมืองซาโมร่า ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เมื่ออายุได้หกเดือน พ่อตายและทิ้งหนี้สินไว้มาก แม่จึงหอบลูกชายสองคนไปอยู่เม็กซิโกซิตี้

ที่นั่น เขาได้อ่านการ์ตูนและหนังสือคลาสสิคตามร้านหนังสือ เรียนจนจบชั้นประถม และทำงานขายของจิปาถะ

ต่อมาได้ทำงานรับโทรศัพท์ในสุสานแห่งหนึ่งทำให้มีเวลาว่างมาก เขาจึงหัดวาดรูปอย่างจริงจัง และเริ่มวาดการ์ตูนให้นิตยสาร Ja Ja

หนังสือการ์ตูนหรือที่เรียกกันว่า historietas (little stories) เป็นที่ชื่นชอบกันมาก ในชีวิตประจำวันของชาวเม็กซิกัน เราจะเห็นคนอ่านการ์ตูน ทั้งในบ้าน ตามโรงเรียน บนรถประจำทางและบนรถไฟ ทั้งที่เป็นกรรมกรก่อสร้างระหว่างพักกลางวัน ไปจนถึงคนชั้นกลางระหว่างช้อปปิ้งในพลาซ่า

บางคนว่าจุดเริ่มวัฒนธรรมการ์ตูนของเม็กซิโกไม่ได้ย้อนไปถึงเพียงยุคโมเดิร์น แต่ไปถึงยุค Aztec หรือหลายพันปีที่แล้ว และมีความสำคัญมากต่อการอ่านของชาวเม็กซิกัน

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นยุคทองของสิ่งพิมพ์ในเม็กซิโก การ์ตูนเข้าไปอยู่ทุกหนทุกแห่งและมีหลายประเภท ทั้งสำหรับชนชั้นล่าง (คล้ายการ์ตูนเล่มละบาท มีทั้งผี เซ็กซ์ และดราม่า) สำหรับชนชั้นกลาง และที่อิมพอร์ตเข้ามาจากยุโรปและอเมริกา

ขณะนั้นเม็กซิโกอยู่ในยุคเผด็จการทหาร ซึ่งถูกต่อต้านโดยประชาชน ริอุสวาดการ์ตูนให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับ และถูกสอดส่องอยู่เป็นประจำทั้งจากรัฐบาลและบรรณาธิการ

เขาเคยเล่าว่าต้องวาดวันละสองสามรูป เพื่อให้บรรณาธิการเลือกเอาอันที่ปลอดภัยที่สุดหรือแย่ที่สุด

ที่สำคัญ การเป็นลูกจ้างสำนักพิมพ์ที่กลัวการถูกปิด มักจะจบลงด้วยการถูกไล่ออก

ต่อมาเขาจึงหันมาออกนิตยสารของตัวเอง นิตยสารเหล่านี้มีหลายเล่ม ที่เด่นคือ Los Supermachos ซึ่งมีเรื่องขำๆ เกี่ยวกับคนในเมืองเล็กๆ และที่ออกมาไม่นานนี้คือ Los Agachados (The Stooped Ones)

เมื่อร่วมงานกับฝ่ายซ้าย เขาตั้ง Popular Insurgency นิตยสารของพรรคกรรมกร และเริ่มใช้นามปากกาว่าริอุส งานเหล่านี้ซ้ายจนเขาถูกอุ้มไปฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาล แต่รอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด

อีกหลายปีต่อมาเขาพิมพ์ “The Manual of the Perfect Atheist” ซึ่งทำให้ถูกคว่ำบาตรจากศาสนจักร เพราะไม่เพียงไม่เชื่อพระเจ้า แต่พูดถึงการกดขี่ของพระนิกายนี้

 

หนังสือ Marx for Beginners ของเขาได้ชื่อว่าสร้างชุด for Beginners ขึ้นมา เพราะเป็นครั้งแรกที่เรื่องยากๆ ทางปรัชญาปรากฏ ในรูปของการ์ตูนซึ่งยาวกว่าร้อยหน้า นอกจากการ์ตูนของเขา ริอุสใช้ภาพพิมพ์จากศตวรรษที่ 19 และที่เก่ากว่านั้น หนังสือมีสามส่วนคือ ส่วนแรกเป็นประวัติของมาร์กซ์ ส่วนที่สองเป็นบริบททางปรัชญา และส่วนที่สามเป็นข้อเขียนของมาร์กซ์ โดยเฉพาะจาก The Communist Manfesto

นอกจากข้อหาเผยแพร่ลัทธิ อุปสรรคอีกอันที่เขาต้องเจอคือบรรดาปัญญาชนที่ไม่ชอบการเอามาร์กซ์มาล้อเลียน ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อว่าเรื่องนี้ยากเกินไปและสติปัญญาของชาวบ้านยังไม่ดีถึงขนาด

จุดเด่นของหนังสือคือเอาอารมณ์ขันมาช่วยย่อยแนวคิดที่ยากๆ และปรากฏว่าประสบความสำเร็จ จนแรนดอมเฮาส์ของสหรัฐเอาไปจัดพิมพ์จำหน่าย เขาบอกว่า “นักปรัชญาพูดให้คนฟังไม่รู้เรื่อง แต่อารมณ์ขันจะทำให้คนฟังหัวเราะได้ ศิลปินอย่างเราจึงเป็นที่อิจฉาของปัญญาชน เหมือนกับที่นักวาดการ์ตูนล้อเป็นที่อิจฉาของจิตรกร”

ตัวอย่างอารมณ์ขันแบบริอุส :

– เมื่อมาร์กซ์เข้าเรียนปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน พระเอกของเราจะเจอคำถามแบบนักศึกษา เช่น “Who is God?” “What is Man?” “Why Do We Live?”

– ถ้าคำถาม “World History is the Progress in the Con-sciousness of Liberty.” (ของเฮเกล) ยากเกินไป จะมีคนตัวเล็กๆ ถามว่า (“Am I making myself clear?”) หรือให้กำลังใจด้วยการบอกว่า “There’s an example coming soon”

– เมื่อกำลังพูดถึง “the laws of historical development” หรือจุดจบของระบบทุนนิยม ก็จะมีคนถามว่า “Why struggle for socialism if it will happen anyway?”

ริอุสไม่ได้อวดอ้างว่าอ่านงานที่ทำรายชื่อไว้ท้ายเล่มทั้งหมด แต่ก็อาจจะใช้ความทรหดอดทนไม่น้อยเลยในการอ่านและย่อยออกมาเป็นคำอธิบายและเส้นสายการ์ตูนที่ง่ายและสวยงาม แม้จะใช้คำสบถประเภท “โว้ย…ยากจริง” เปลืองอยู่เหมือนกัน

ชื่อหนังสือเล่มอื่นๆ แสดงอารมณ์ขันหรือความกวนตีนของเขา เช่น “The Dictionary of Human Stupidity” “The True History of Uncle Sam” “100 Proposals to Save What Is Left of Mexico” “Hitler for Masochists” “The Stomach Is First” และ “Would Jesus Christ Have Been Catholic?”

การเอาประวัติศาสตร์อันขมขื่นระหว่างเม็กซิโกกับนักล่าเมืองขึ้นสเปนและสหรัฐอเมริกามาถากถาง เขียนประวัติของพระเยซูกับเลนินในลักษณะเดียวกัน รวมทั้งตีแผ่ปัญหาสังคมอีกหลายแง่หลายมุม ทำให้เขาเป็นที่เกลียดชังของรัฐบาลและศาสนจักรในสมัยนั้นมาก

นอกจากนั้น ด้วยความที่เป็นซ้าย เขาจึงแยกตัวออกมาจากสิ่งพิมพ์หรือการ์ตูนกระแสหลัก แต่ก็ยังใช้อารมณ์ขันในการวาดการ์ตูน หรือที่เขาเรียกว่าทำงานการเมือง