บทวิเคราะห์ : “ไมโครพลาสติก” ภัยเร้นใกล้มนุษย์ (กว่าที่คิด)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

กระทรวงมหาดไทยทำเป็นตื่นตกใจ หลังสำนักข่าวเอเอ็นเอ็นนิวส์ของญี่ปุ่นทำสกู๊ป แฉให้เห็นกองขยะใหญ่เบ้อเริ่มบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

ที่ตื่นตกใจเพราะเกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

การทำรายงานข่าวของญี่ปุ่นชิ้นนี้เท่ากับประจานความไม่เอาไหนในการแก้ปัญหาขยะของเมืองไทย

ขยะที่กองอยู่บนเกาะสมุยมีปริมาณมากกว่า 2 แสนตัน ตกค้างมานาน 2 ปีแล้ว

แถมเตาเผาขยะใช้การไม่ได้มาตั้งแต่ปี 2552

ขณะที่นักท่องเที่ยวแห่กันมาชื่นชมธรรมชาติของเกาะสมุยในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนขยะมีแต่เพิ่ม เมื่อการบริหารจัดการไร้ประสิทธิภาพขยะบนเกาะสมุยจึงพอกพูนเป็นภูเขาเลากา

ขยะบนเกาะสมุยเป็นแค่เสี้ยวหนึ่ง ปัญหาขยะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ

 

แม้รัฐบาลชุดนี้จะยกปัญหาขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ดูเหมือนการทำงานที่ไม่สอดคล้องประสานกัน

ฝ่ายชาวบ้านยังขาดสำนึกในการทิ้งขยะ ทิ้งชุ่ย ทิ้งโดยไม่แยกแยะชนิดขยะ

ขณะที่ฝ่ายรัฐเองไม่ได้ปลุกจิตสำนึกสาธารณะ และขาดการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ ทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดความเสียหายยับเยิน

อย่างเช่นขยะพลาสติกซึ่งควรจะคัดแยกเพื่อนำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้อีกครั้ง กลับทิ้งอยู่ในกองขยะ วันหนึ่งเมื่อฝนชะ ขยะพวกนี้ไหลลงแม่น้ำลำคลอง ในที่สุดไปอยู่ปากอ่าวแล้วย่อยสลายจมอยู่ใต้ท้องทะเล หรือไม่ก็ลอยไปติดอยู่ตามชายหาด

พลาสติกย่อยสลายเป็นเศษชิ้นเล็กๆ หรือที่เรียกว่าไมโครพลาสติกซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร กำลังคืบคลานกลายเป็นภัยร้ายของชาวโลกไปแล้ว

 

“เดอะ เทเลกราฟ” รายงานด้วยการอ้างผลวิจัยล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรีย ซึ่งพบว่าเดี๋ยวนี้ไมโครพลาสติกที่เห็นกระจัดกระจายเกลื่อนกลาดในสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นในแม่น้ำลำคลอง ชายหาด ท้องทะเลนั้นได้แทรกตัวเข้าไปอยู่ในร่างกายของคนเรา

ในผลการวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งออสเตรียและมหาวิทยาลัยเวียนนา ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอุจจาระของคนใน 8 ประเทศทั่วโลกรวมถึงชาวอังกฤษด้วย พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ด้วย

ที่นักวิจัยประหลาดใจไปกว่านั้นคือ ในกลุ่มตัวอย่าง มี 2 คนพบไมโครพลาสติกอยู่ในอุจจาระ ทั้งๆ ที่ตลอดทั้งสัปดาห์ทั้งสองคนไม่ได้กินปลาชนิดใดๆ เลย

อย่างที่ทราบกันดี ปลาจำนวนมากกินไมโครพลาสติกเข้าไป เมื่อชำแหละเนื้อปลานำไปวิจัยพบว่ามีไมโครพลาสติกแทรกซึมในเนื้อปลา

การวิจัยดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการตรวจพบเศษชิ้นส่วนอันตรายในร่างกายมนุษย์ครั้งแรก

ถึงแม้จะใช้ตัวอย่างซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก แต่เป็นการยืนยันว่าในตัวอย่างที่ตรวจมีไมโครพลาสติกแทรกอยู่ด้วย

บางตัวอย่างตรวจพบไมโครพลาสติกถึง 9 ชนิด

ค่าเฉลี่ยที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ นักวิจัยพบไมโครพลาสติก 20 ชนิดต่ออุจจาระ 10 กรัม

 

ดร.ฟิลิปป์ ชวาลเบิล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารที่เข้าร่วมในการประชุมประจำปีของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งยุโรประบุว่า นี่เป็นผลการศึกษาซึ่งยืนยันสิ่งที่เราสงสัยมานานแล้วว่าพลาสติกทะลุทะลวงเข้าไปในตัวคนได้อย่างไร

ก่อนหน้านี้เคยมีการวิจัยพลาสติกในคนมาแล้ว ผลการวิจัยในครั้งนั้นระบุว่า ชาวยุโรปย่อยอาหารที่มีพลาสติกปนเปื้อนราว 11,000 ชิ้นต่อปี แต่ผลวิจัยดังกล่าวยังไม่สามารถระบุให้ชัดๆ ได้ว่ามีไมโครพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 ม.ม. อยู่ในร่างกายของเรา

ดังนั้น การวิจัยของคณะนักวิจัยชาวออสเตรียนจึงเป็นการพิสูจน์ว่าไมโครพลาสติกแทรกอยู่ในร่างกายคนอย่างแน่นอนแล้ว

 

ผลวิจัยล่าสุดนำไปสู่ข้อกังวลว่า ไมโครพลาสติกที่แทรกอยู่ในแทบทุกอณูของโลกใบนี้ไม่เพียงทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากยังทำให้สุขภาพของคนย่ำแย่ด้วย

นักวิจัยชี้ว่า เมื่อไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายคนจะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เกิดโรคภูมิแพ้ และทำลายระบบฮอร์โมน มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็ง

ไมโครพลาสติกบางชนิดมีส่วนผสมของปรอทและยาฆ่าแมลง เมื่อแทรกไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร เช่นเนื้อปลาที่เรากินเข้าไป ปรอทหรือยาฆ่าแมลงกลายเป็นยาพิษขั้นดีที่พร้อมจะทำลายเนื้อเยื่อและเซลล์ของมนุษย์

นักวิจัยเชื่อมานานแล้วว่า ไมโครพลาสติกมีส่วนสำคัญในการทำลายกระบวนการสืบพันธุ์ของสัตว์ในทะเล เช่น วาฬ สัตว์ที่มีเปลือกแข็งอย่างหอยนางรม ในมหาสมุทรแปซิฟิกพบมีการขยายพันธุ์ลดลง

ศาสตราจารย์เจมี วู้ดเวิร์ด แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เป็นอีกคนหนึ่งที่แสดงความกังวลถึงภัยร้ายของไมโครพลาสติก

“เจมี” เป็นกลุ่มนักวิจัยชุดแรกที่ศึกษาถึงเส้นทางของไมโครพลาสติกที่กระจัดกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ลำคลอง

“พลาสติกอยู่ในทุกๆ แห่ง นักชีววิทยาเคยบอกว่ามันอาจวิ่งเข้าสู่กระแสเลือด ปนเปื้อนในระบบไหลเวียนของเลือด เราต้องวิจัยกันต่อว่าจะส่งผลกระทบกับร่างกายของเราอย่างไร”

 

ตั้งแต่เริ่มใช้พลาสติกกันเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1950 ประเมินว่าทั่วโลกมีเศษพลาสติกสะสมอยู่ราว 8,300 ล้านตัน ใช้เวลาราว 1,000 ปีจึงจะย่อยสลายหมด

สำหรับไมโครพลาสติกมีประมาณ 1 แสนล้านชิ้น กระจัดกระจายอยู่ในท้องทะเล อยู่ในตัวปลา สัตว์น้ำต่างๆ หรือแม้กระทั่งในเกลือใช้ผสมอาหาร

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ประเทศอังกฤษ เผยแพร่ผลการศึกษาไมโครพลาสติกในแม่น้ำเวลส์ พบแทรกเข้าไปอยู่ในแมลงวันและแมลงชนิดอื่นๆ

องค์การอนามัยโลก กำลังศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์หลังจากที่ตรวจตัวอย่างไมโครพลาสติกที่เก็บได้จาก 9 ประเทศ มียี่ห้อต่างๆ รวม 11 ยี่ห้อ

นักวิจัยของ “โปรเจ็กต์อะแวร์” ซึ่งเป็นกลุ่มศึกษาผลกระทบจากไมโครพลาสติกกับทะเลระบุว่าไมโครพลาสติกมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เนื่องจากปริมาณขยะที่ลอยหรือฝังจมอยู่ใต้ท้องทะเลจะทำให้การไหลเวียนของกระแสน้ำเปลี่ยนไป

ประเมินว่า ภายในปี 2568 ปริมาณขยะในทะเลจะมีมากถึง 20 เท่าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน

ถ้าชาวโลกไม่ช่วยกันกำจัดขยะพลาสติก แน่นอนว่าอนาคตอีกไม่นานขยะเหล่านี้จะย้อนกลับมาทำลายสุขภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง