บทวิเคราะห์ : ทำไมเมืองเลสเตอร์ ถึงรัก “คุณวิชัย”

การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ และประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ทำให้ผมได้รับรู้เรื่องราวน่าทึ่งประการหนึ่ง นั่นคือ คนที่นั่นรัก “คุณวิชัย” กับครอบครัวศรีวัฒนประภาเหลือเกิน

ผมเน้นตรงคำว่า “คุณวิชัย” เพราะทึ่งที่แม้แต่ร็อบ แทนเนอร์ บรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างเลสเตอร์เชียร์ไลฟ์ ยังเรียกขานประธานวิชัย ตามธรรมเนียมไทยๆ ว่า “คุณวิชัย” ไม่ได้เรียกตามแบบฝรั่งอย่างมิสเตอร์ศรีวัฒนประภา หรือมิสเตอร์วิชัย ในข้อเขียนที่เขียนถึงแต่อย่างใด

ทึ่งที่ได้เห็นช่อดอกไม้และสิ่งของมากมายวางเรียงรายเต็มพื้นที่บริเวณด้านหน้าสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ เป็นการแสดงถึงความอาลัยรักและชื่นชมต่อบุคคลคนหนึ่งอย่างสูงและลึกซึ้ง

ทึ่งจนอดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมชาวเมืองเลสเตอร์ โดยเฉพาะในเขตปกครองเลสเตอร์เชียร์ ถึงได้รักและชื่นชมคุณวิชัยนัก

เพราะโดยธรรมชาติแล้วบุคคลจากสังคมหนึ่งในอีกประเทศหนึ่ง ยากมากที่จะสามารถทำตัวให้กลมกลืนจนได้รับการยอมรับว่าเป็นเส้นใยเส้นหนึ่งที่ถักทอขึ้นมาเป็นสังคมในอีกสังคมหนึ่ง อย่าว่าแต่จะได้รับความเคารพ รักและอาลัยเหมือนเช่นที่คุณวิชัยได้รับ

ตัวอย่างเช่น มิลาน มันดาริช นักธุรกิจอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย คนที่เป็นเจ้าของเลสเตอร์ก่อนหน้าเจ้าสัววิชัยก็ถือเป็นเศรษฐีเงินถุงเงินถังเช่นเดียวกัน มีทรัพย์สินส่วนตัวนับเป็นพันๆ ล้านบาท แต่ไม่ถูกพูดถึงในแบบเดียวกัน

 

ร็อบ แทนเนอร์ เขียนไว้ในเลสเตอร์เชียร์ไลฟ์ ว่า ตอนที่ “คุณวิชัย” เข้ามาซื้อกิจการสโมสร ด้วยเงิน 39 ล้านปอนด์ เขาต้องสืบค้น ควานหาข้อมูลกันยกใหญ่ว่าเป็นใครมาจากไหน เพราะถามใครต่อใครก็ได้รับคำตอบเหมือนๆ กันว่า ใครวะ? ทำให้เกิดความไม่แน่นอนใจ และไม่ไว้วางใจขึ้นในระดับหนึ่ง แต่เอาเข้าจริง ร็อบ แทนเนอร์ บอกว่า เหมือนกับถูกหวยแจ๊กพ็อตยังไงยังงั้น

ร็อบบอกเอาไว้ด้วยว่า ทุกคนมารู้ว่าเจ้าสัวรวยแค่ไหนก็ตอนที่มีการจ่ายหนี้เดิมของสโมสรจนหมด ซื้อสนามแข่งกลับคืนมา แล้วก็วางโปรแกรมสำหรับการลงทุนทั้งส่วนที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับการแข่งขันในสนามออกมา

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอัจฉริยะอย่างแท้จริง แล้วก็ทำให้ผู้เป็นเจ้าของกลายเป็นที่รักของแฟนสโมสรทั้งเมืองมากยิ่งกว่าความสำเร็จของเกมในสนามก็คือ การที่พวกเขายืนกรานที่จะรักษาประวัติศาสตร์ และค่านิยมของการเป็นคนในครอบครัวเดียวกันของสโมสรเอาไว้

“คุณวิชัยและทีมบริหาร ทะนุบำรุงขนบประเพณีของสโมสรเอาไว้ ไม่เคยพยายามที่จะบีบบังคับให้เอาแบบฉบับของตัวเองมาใช้กับสโมสร เหมือนอย่างที่เจ้าของรายอื่นๆ เขาทำกัน” ร็อบระบุ

ทั้งให้การสนับสนุนแฟนบอลของทีมในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่อาหารเช้าฟรี เครื่องดื่มฟรี เรื่อยไปจนถึงผ้าพันคอสัญลักษณ์สโมสรอย่างที่ที่นั่นเรียกว่า สคาร์ฟ, ธง และอื่นๆ อีกจิปาถะ อะไรก็ตามที่จะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ดีๆ ของแฟนบอลชนิดเหนียวแน่นของทีม ซึ่งเรียกตัวเองว่า “บลู อาร์มี่” ขึ้นมาได้

แล้วก็ไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่กับที่ หรือทำให้สโมสรจมอยู่กับประวัติศาสตร์ ด้วยการประกาศหลังจากที่ก้าวสู่พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จว่า ภายใน 3 ปีจะนำเลสเตอร์ติด 1 ใน 5 อันดับแรก

เป็นคำประกาศที่บีบีซีบรรยายไว้เห็นภาพว่า เรียกรอยยิ้มน้อยยิ้มใหญ่จากผู้คนทั่วประเทศอังกฤษ ในทำนองเอาเถอะ เดี๋ยวก็รู้ อะไรทำนองนั้น

 

ปีแรก เลสเตอร์ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน ไม่ให้ตกกลับไปเล่นในลีกแชมเปี้ยนชิพ ที่เพิ่งปีนข้ามมาหยกๆ เปิดฤดูกาลถัดมา วงการพนันถูกต้องตามกฎหมายในอังกฤษให้อัตราต่อรอง 5,000 ต่อ 1 คือพร้อมที่จะจ่าย 5,000 ปอนด์ให้กับเค้าพนัน 1 ปอนด์ที่แทงว่าเลสเตอร์จะได้แชมป์พรีเมียร์ลีก

จบฤดูกาล 2015/2016 บ่อนในอังกฤษควักเงินจ่ายเดิมพันเลสเตอร์กันพัลวัน มีคนที่ถือหางเลสเตอร์เล่นๆ เป็นเศรษฐีไปหลายคน

กลายเป็นหนึ่งในเรื่องราวมหัศจรรย์ในแวดวงกีฬาทั้งของประเทศอังกฤษและของโลกไปในที่สุด

 

ร็อบ แทนเนอร์ บอกเล่าเอาไว้ว่า ทุกคนรู้ว่าคุณวิชัยมีเงิน แต่คุณวิชัยไม่ได้ทำตัวแปลกแยกกับสังคมรอบด้านเหมือนเศรษฐีอื่นๆ ตรงกันข้าม กลับมีเวลาให้กับนักฟุตบอลและแฟนบอลเสมอ เช่นเดียวกับการทุ่มเทให้กับตัวเมือง การสาธารณสุขในเมือง และการศึกษาของเมือง

“(คุณวิชัยและพวก) อาจไม่ได้เป็นคนท้องถิ่นเลสเตอร์ แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ ผ่านฟ็อกซ์ ฟาวน์เดชั่น ทั้งระดมเงินและควักกระเป๋าตัวเองหลายต่อหลายล้านให้กับการดำเนินการใดๆ ที่ทรงคุณค่าต่อทั่วทั้งชุมชน ทุกคนสามารถใช้ได้ สามารถได้ประโยชน์จากเงินเหล่านั้นได้”

ร็อบ แทนเนอร์ ปิดท้ายข้อเขียนของตัวเองเอาไว้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมืองเลสเตอร์และชุมชนเลสเตอร์เชียร์ จะอยู่ข้างครอบครัวศรีวัฒนประภาต่อไป

“พวกเขาจะอยู่ในใจของทุกคน และไม่มีวันเดียวดาย”