บทวิเคราะห์ : ผ่าอาณาจักรธุรกิจแสนล้าน กลุ่ม “คิง เพาเวอร์” ในมือ “ศรีวัฒนประภา” รุ่น 2

นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของตระกูลศรีวัฒนประภา กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ และสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” ประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ และประธานกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวตกที่เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ หลังแมตช์การแข่งขันระหว่างเลสเตอร์ ซิตี้ กับเวสต์แฮมจบลง ในช่วงค่ำคืนของวันที่ 27 ตุลาคม ตามเวลาในประเทศอังกฤษ

สื่อทุกสำนักในอังกฤษและสำนักข่าวต่างประเทศทั่วโลกต่างเกาะติดและรายงานข่าวกันแบบเกาะขอบสนามนาทีต่อนาที

พร้อมชื่นชมยกย่อง “วิชัย ศรีวัฒนประภา” ทั้งในฐานะประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้

และนักธุรกิจที่ช่วยสร้างให้เมืองเลสเตอร์กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี

 

ในระดับโลก “วิชัย” เป็นมหาเศรษฐีไทยคนที่ 2 ที่เข้าไปซื้อทีมสโมสรฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ ด้วยเงินลงทุนราว 5 พันล้านบาท เมื่อปี 2553 หลังจากที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เคยไปประเดิมซื้อทีม “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” ก่อนหน้าวิชัย 3 ปี

เหตุผลที่เลือกซื้อ “เลสเตอร์ ซิตี้” นั้น “วิชัย” เล่าว่า ไม่ใช่เพราะเป็นทีมใหญ่ มีชื่อเสียง แต่เพราะเห็นว่าเป็นทีมเล็กที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาและต่อยอด

พร้อมมองว่าเป็นความท้าทายของเขาอีกอย่างหนึ่งด้วย

ที่สำคัญ ยังเป็นการทำความฝันของเขาให้เป็นจริงอีกด้วย เพราะก่อนหน้านั้นเขาได้ชิมลางวงการลูกหนังระดับโลกด้วยการเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนทีมเชลซี และซื้อโฆษณาบนขอบสนามการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในทวีปยุโรปมาเป็นเวลากว่า 10 ปี

“วิชัย” ใช้เวลาเพียงแค่ 3-4 ปีเท่านั้นในการผลักดันให้ทีมสโมสร “เลสเตอร์ ซิตี้” ก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับทีมระดับแถวหน้า และคว้าแชมป์ลีกแชมเปี้ยนชิพได้ในฤดูกาล 2013-2014 และได้สิทธิกลับมาเล่นในพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีอีกด้วย จากนั้นก็ประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ในฤดูกาล 2015-2016 (2558-2559)

เรียกว่าเป็นปีแห่งการเปิดประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับสโมสรแห่งนี้ได้สำเร็จอย่างสวยงาม

 

สําหรับประเทศไทยนั้น “วิชัย” คือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และถือเป็นบุคคลที่ครบเครื่อง หาคนเปรียบยาก ทั้งเรื่องเครือข่ายธุรกิจและการเมือง

โดยเขาเริ่มต้นสร้างธุรกิจในปี 2532 ด้วยการก่อตั้งบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และต่อมาได้เปิดให้บริการร้านค้าปลอดภาษี หรือดิวตี้ฟรี ในพื้นที่สนามบินดอนเมือง

กระทั่งปัจจุบัน “คิง เพาเวอร์” เปิดให้บริการดิวตี้ฟรีครอบคลุมทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้แก่ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ รางน้ำ (กรุงเทพฯ), คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ศรีวารี (กรุงเทพฯ), คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ พัทยา (ชลบุรี), คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ภูเก็ต และคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอีก 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง, สุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, หาดใหญ่, ภูเก็ต และอู่ตะเภา

จากข้อมูลของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ระบุว่า “วิชัย ศรีวัฒนประภา” ถือครองหุ้นและเป็นกรรมการอยู่ใน 8 บริษัท ได้แก่

1. คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำธุรกิจบริหารจัดการธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง จำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและปลอดอากร ณ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ถนนรางน้ำ, คิง เพาเวอร์ พัทยา คอมเพล็กซ์ และคิง เพาเวอร์ ศรีวารี คอมเพล็กซ์ และธุรกิจป้ายไฟโฆษณาภายในอาคารผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต รวมถึงบริหารโรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ร้านอาหารรามายณะ และร้านอาหารลามูน

2. คิง เพาเวอร์ โฮเทล เมเนจเมนท์ ประกอบกิจการโรงแรมและภัตตาคารโรงแรม พูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

3. คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ ฟรี ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ได้รับอนุญาตจาก ทอท. ให้สามารถประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต เป็นเวลา 10 ปี

4. คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ประกอบธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมดในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแต่เพียงผู้เดียว (ไม่รวมร้านค้าปลอดภาษีและอากรซึ่งบริหารจัดการโดยคิง เพาเวอร์ ภายใต้อีกสัมปทานที่แยกออกไป)

5. คิง เพาเวอร์ มาเก็ตติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรบนเครื่องบินโดยสารระหว่างประเทศ

6. คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี จำหน่ายสินค้าของที่ระลึกและสินค้าไทยในอาคารผู้โดยสารในประเทศและอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง

7. คิง เพาเวอร์ เอวิเอชั่น ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร ไปรษณีย์ สิ่งของ และพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ

และ 8. วี แอนด์ โฮลดิ้ง ประกอบธุรกิจให้บริการเครื่องหมายการค้า ร่วมลงทุนในกิจกรรมทุกประเภท จัดสรรที่ดิน บริการสนามกอล์ฟ สนามโปโล ให้บริการใช้สถานที่และอุปกรณ์เพื่อใช้ในการกีฬา

8 บริษัทดังกล่าวนี้มีสินทรัพย์รวมกัน 8.8 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ในปี 2560 รวมทั้งหมด 1.07 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.14 หมื่นล้านบาท

 

ส่วนในฟากของสโมสร “เลสเตอร์ ซิตี้” นั้น พบว่า Forbes ได้ประเมินมูลค่าจากข้อมูลผลประกอบการฤดูกาล 2016-2017 เมื่อมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมาว่ามีรายรับรวมก่อนหักค่าใช้จ่าย 407 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13,431 ล้านบาท ซึ่งหากรวมกับมูลค่าแบรนด์ 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้มูลค่าของสโมสรอยู่ที่ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อนหน้า

ด้วยทรัพย์สินอันมหาศาลนี้ส่งผลให้ “วิชัย” กลายเป็นนักธุรกิจที่ติดอันดับความร่ำรวยอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทยอย่างรวดเร็ว

โดยในปี 2560 นิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า เขาเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย ด้วยมูลค่าทั้งหมด 1.55 แสนล้านบาท

และปี 2561 นี้นิตยสารฟอร์บส์ยังได้จัดอันดับให้เขาเป็น “มหาเศรษฐี” ลำดับ 5 ของไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.62 แสนล้านบาท

 

มูลค่าทั้งหมดนี้ยังไม่รวมเครือข่ายธุรกิจของครอบครัวที่ถือครองหุ้นโดยนางเอมอร ศรีวัฒนประภา ภรรยา และลูกอีก 4 คน

โดยเฉพาะนางสาววรมาศ ศรีวัฒนประภา ลูกสาวคนโต และนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายคนเล็กที่โลดแล่นอยู่ในวงการธุรกิจเคียงข้าง “วิชัย” มาโดยตลอดอีกจำนวนหนึ่งด้วย

โดยนางเอมอร ภรรยา นางสาววรมาศ ลูกสาว และนายอัยยวัฒน์ ลูกชายนั้น นอกจากจะถือครองหุ้นอยู่ใน 8 บริษัทที่ “วิชัย” มีหุ้นอยู่แล้ว ทั้ง 3 คนยังถือครองหุ้นในอีกหลายบริษัท

อาทิ คิง เพาเวอร์ คลิก ประกอบกิจการประเภทการขายปลีกทางอินเตอร์เน็ต ให้บริการเว็บไซต์และระบบสำหรับซื้อสินค้าปลอดภาษี, บ้านพราวดาว ประกอบกิจการประเภทการซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย และเอม ธรรมชาติ ประกอบกิจการประเภทการขายส่งดอกไม้ ต้นไม้และเมล็ดพันธุ์พืช เป็นต้น

นอกจากนี้ นางเอมอรและนายอัยยวัฒน์ยังถือครองหุ้นอยู่ใน “คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์” ที่ประกอบธุรกิจให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีกด้วย

ขณะที่ “อัยยวัฒน์” ซึ่งเป็นลูกที่รับไม้ต่อจาก “วิชัย” อย่างเต็มตัวนั้น ยังถือครองหุ้นในชอปสปอท (ประเทศไทย) ซึ่งประกอบกิจการประเภทกิจกรรมของตัวแทนขายสื่อโฆษณาและขายสินค้าออนไลน์ และ “สยาม โปโล ปาร์ค” ที่ประกอบธุรกิจให้บริการดูแลม้าที่ใช้ในการเล่นกีฬาโปโลอีกด้วย

ล่าสุดที่เพิ่งปิดดีลไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาคือ ตั้งบริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด เพื่อเข้าซื้อหุ้นโครงการมหานคร 51% ในส่วนโรงแรมเอดิชั่น ชั้นชมวิว Observation Deck และส่วนมหานครคิวบ์ (พื้นที่ค้าปลีกและดิวตี้ฟรี) จากกลุ่มเพช ดีเวลอปเม้นท์

 

จากพอร์ตโฟลิโอธุรกิจของอาณาจักรคิง เพาเวอร์นี้เห็นได้ชัดเจนว่า แม้ในเครือจะมีธุรกิจมากมายหลากหลายกลุ่ม แต่ธุรกิจหลักของตระกูล “ศรีวัฒนประภา” ยังคงเป็นธุรกิจดิวตี้ฟรี รายได้และกำไรส่วนใหญ่ของกลุ่มมาจากบริษัทคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี, คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ และคิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นหลัก

ส่วนธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นก็ล้วนเป็นการต่อยอดจากธุรกิจดิวตี้ฟรี ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งสิ้น

ยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นวิสัยทัศน์ที่ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” ประธานกลุ่ม “คิง เพาเวอร์” ผู้ล่วงลับได้กำหนดและวางรากฐานไว้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่งแล้วทั้งสิ้น…

เป็นความท้าทายสำหรับทายาทที่จะต้องช่วยกันรับไม้ต่อ เพื่อผลักดันอาณาจักรคิง เพาเวอร์ ต่อไปในวันที่ไม่มี “วิชัย ศรีวัฒนประภา” อีกแล้ว