ผ่าปรากฎการณ์ “ประเทศกูมี” แร็พเขย่าประเทศ ตัวชี้วัด “การเมือง”

เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นใจ ทำเอา “คอเพลง” เลิ่กลั่ก ต้องรีบเปิดยูทูบรับฟังทันที

ผลงานของกลุ่ม “แร็พต่อต้านเผด็จการ” หรือ Rap Against Dictatorship ชื่อย่อ RAD ถึงวันที่ 30 ตุลาคม ยอดวิวทะลุเกิน 20 ล้านไปไกลเหมือนกัน

และยังเป็นที่กล่าวขวัญในต่างประเทศ เพราะฮิปฮอปเป็นภาษาสากลของคนรุ่นใหม่ เมื่อแพร่กระจายไปในช่องทางที่ใช่ แถมมีเจ้าหน้าที่รัฐไทยส่งเสียงคำรามใส่ ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจ

ก็ต้องขอบคุณรัฐไทย ที่พร้อมใจกัน “โปรโมต” เพลงนี้ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

บัดนี้ “ประเทศกูมี” กระจายไปทั่ว มีทั้งซับอังกฤษ จีน เกาหลี และคงจะอีกหลายภาษา

นี่คือ “พลัง” ของเพลง ที่ก่อให้เกิดอาการ “สติแตก” พลิกกฎหมาย กวัดแกว่งสารพัดข้อหา และตั้งคำถามถึงผู้อยู่เบื้องหลัง

ฟังแล้วฮาไปอีกแบบ ประเทศเรามาถึงจุด “คนแดนไกล” หรือพรรคการเมือง จะมาอยู่เบื้องหลังเพลงฮิปฮอปกันแล้วหรือไง

ส่วนข้อกล่าวหาจาก “กองเชียร์” ที่ผ่านการเป่านกหวีด และแต่งกลอนอวยกันเองจนประเทศรุ่งเรือง ก็จะเป็นแนวจริยธรรม มีการกระทำอันไม่เป็นพลเมืองดี เอาประเทศไปประจาน

สุดท้าย “พี่ศรีฯ” และคณะ ยอมถอย บอกว่า เนื้อเพลงไม่ระบุวันเวลา สถานที่ ยังไม่เข้าข่ายความผิด ประชาชนฟัง ร้อง และแชร์เพลงนี้ได้

นั่นคือเรื่องของเพลง “ประเทศกูมี” ฮิปฮอปแนวโอลด์สกูลสักหน่อย แต่เนื้อหาเด็ดขาด แร็พเปอร์ที่ผลัดกันออกมาแร็พแต่ละคนมีลีลาเด็ดขาดร้อนแรง สื่อสาระได้ชัด และทรงพลัง

ทีมโปรดิวเซอร์ของเพลงนี้ บอกว่า เนื้อหาของเพลงมาจากการเซิร์ชดูหัวข้อเรื่องที่คนไทยพูดถึงกันมากที่สุด ก่อนจะมาเขียนเป็นเนื้อเพลง

ประเทศกูมี เปิดขึ้นมาด้วยท่อนที่ว่า “…ประเทศที่เสือดำหน้าคะมำเพราะ Riffle ประเทศที่พล่ามแต่ศีลธรรมแต่อาชญากรรมสูงกว่า Eiffel…” ก็ต้องถือว่า เป็นเนื้อหาที่กระแทกใจคนฟังได้ทันที

จากนั้น ร่ายยาวไปถึงปัญหาการใช้กฎหมาย ค่านิยมสังคมที่ยกย่องคนเป็นไอดอล ใจกลางกรุงกลายเป็นทุ่งสังหาร การทุจริตคอร์รัปชั่นที่ไม่มีการตรวจสอบ กรณีนาฬิกา ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ ศิลปินวางท่าเป็นขบถ แต่เดินตามรัฐเป็นฝูงมด

คนใส่สูทปากว่าตาขยิบ ประเทศที่บอกเสรีแต่ดันไม่มีสิทธิ์เลือก ด่าไม่ได้ ประเทศที่รัฐบาลไม่มีใครกล้าลบหลู่ มีกฎหมายไว้ให้ตำรวจข่มขู่ ประเทศที่บอกให้อยู่เฉยๆ ถ้าไม่อยากนอนเรือนจำ

ประเทศที่พรรคการเมืองเสือกแบ่งเป็นสองขั้ว พลเมืองแบ่งเป็นสองข้าง คนตายในม็อบทั้งสองขั้ว ประเทศที่ 4 ปียังไม่เลือกตั้ง ประเทศที่เลือกนายกฯ ต้องให้ทหารมาเลือกให้ คนยังสุขสำราญแต่ใช้ชีวิตอยู่ในกะลา

นั่นคือเนื้อหาโดยย่อและสรุปของเพลงประเทศกูมี มิวสิกวิดีโอใช้ฉากฝูงชนยืนเชียร์ คนถูกแขวนคอ ที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์รุนแรงในอดีต ก็มีคนที่บอกว่า เป็นคนเดือนตุลาฯ ออกมาโวยวายว่า เอาเหตุการณ์มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง

ซึ่งเป็นตรรกะที่ประหลาดเหลือเชื่อ เพราะ “14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519” คือประวัติศาสตร์การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย จนถูกไล่เข่นฆ่าโดยคนที่อยากทำรัฐประหาร

ถ้าจะเอามาใช้ต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตยจะผิดตรงไหน

การไม่ให้ใช้ เพื่อจะปกป้องเผด็จการขวัญใจตัวเองไม่ผิดกว่าหรือ

เนื้อหาว่าไปก็เหมือนเพลงเพื่อชีวิตในยุคหลัง 14 ตุลาคม ซึ่งบัดนี้ ศิลปินแปรสภาพ กลายเป็นศิลปินตามเนื้อเพลง “ประเทศกูมี” ไปแล้ว

ปฏิกิริยาต่างๆ ทั้งจากวงการเพลง ศิลปินด้วยกัน (บางคน) ก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากช่วยยืนยันเรื่องราวในเนื้อเพลง “ประเทศกูมี” นั่นเอง (ฮา)