ชาวนาหรือช่างแอร์ วิวาทะ-จากทำเนียบ ถึง “ท้องทุ่งพิจิตร”

ราคาข้าวเป็นปัญหาใหญ่ รัฐบาลต้องเร่งผลักดันมาตรการ จำนำยุ้งฉาง ออกมาช่วยชาวนาในภาคเหนือ อีสาน ก่อน

ขณะที่ชาวนาทางภาคกลางออกมาเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือ

วันที่ 3 พฤศจิกายน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปเยี่ยมประชาชนภาคอีสาน ได้ซื้อข้าวจากชาวนาอุบลฯ มา 2.4 พันกิโล ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ

นักข่าวถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งไปทอดกฐินที่วัดชิโนรสารามวรวิหาร ในวันเดียวกัน รองนายกฯ ประวิตร กล่าวว่า จะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ไม่ทราบ ต้องไปถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ เอง แต่ก็ไม่มองว่าเป็นการตัดหน้ารัฐบาล เพราะรัฐบาลทำทั้งประเทศ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำแค่ส่วนเหนึ่งเท่านั้น

“ถ้างั้นก็รับซื้อข้าวให้หมดเลยสิ” พล.อ.ประวิตร กล่าวช่วงหนึ่ง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ นำข้าวมาขายที่หน้าห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ในราคากิโลละ 20 บาท ปรากฏว่าขายหมดในช่วงเวลาสั้นๆ

 

แต่เรื่องที่ร้อนกว่าการขายข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือ ข่าว นายสุพกิจ ปั้นแปลก อายุ 43 ปี ชาวนาพิจิตร ผูกคอตายที่ท้องนา ใกล้บ้านที่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ในวันที่ 4 พฤศจิกายน

โฆษกรัฐบาล เจ้าของฉายาโฆษกไก่อู พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ออกมายันว่า นายสุพกิจ มีอาชีพหลักเป็น “ช่างแอร์” ทำนาเป็นอาชีพเสริม ฉะนั้น การผูกคอตายไม่เกี่ยวกับราคาข้าว

โฆษกไก่อู ให้สัมภาษณ์ว่า ประชาสัมพันธ์จังหวัดและผู้ว่าฯ พิจิตรได้ลงไปทำความเข้าใจ พร้อมทั้งปลอบใจภรรยาและญาติของผู้เสียชีวิตแล้ว เพราะตัวผู้ตายประสบปัญหามาก

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ล้วนยืนยันตรงกันว่าตัวผู้ตายมีอาชีพหลักเป็นช่างแอร์ และก็มีอาชีพเสริมเป็นชาวนา ซึ่งย้ำว่าผู้ตายไม่ได้มีอาชีพหลักชาวนาอย่างที่สื่อบางสำนักพยายามผูกโยงประเด็นว่ามีชาวนาเสียชีวิตระหว่างที่มีปัญหาราคาข้าวตกต่ำ

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า หากครอบครัวผู้เสียชีวิตมีอะไรขาดตกบกพร่อง ให้ประสานไปยังหน่วยงานราชการในพื้นที่ได้ทุกเมื่อ หากดำเนินการได้ก็ทำได้ทันที แต่ถ้าอะไรที่ดำเนินการไม่ได้ก็ให้รายงานมาตามสายการบังคับบัญชา ซึ่งรัฐบาลจะช่วยแก้ปัญหาให้ แต่อะไรที่สามารถทำในพื้นที่ได้ก็ดำเนินการได้เลย

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เอง พบว่า นายสุพกิจ เป็นชาวนา และมีอาชีพเสริมเป็นช่างแอร์ เหมือนกับชาวนาทั่วไป ที่มักมีมากกว่า 1 อาชีพ

เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.พิจิตร ได้เดินทางไปที่งานศพของนายสุพกิจ ที่วัดวังสำโรง หมู่ที่ 3 ต.วังสำโรง อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือครอบครัวของนายสุพกิจ

นางอุบล ปั้นแปลก ภรรยาของผู้เสียชีวิต เปิดเผยด้วยน้ำตานองหน้าว่า อยู่กินกับนายสุพกิจมานานกว่า 20 ปี ครอบครัวมีรายได้จากการทำนาเป็นหลัก ที่ผ่านมาสามีเคยเป็นช่างไฟฟ้าและช่างแอร์ ซึ่งเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น

งานหลักจริงๆ ของครอบครัวนั้นคือทำนามาตลอดทั้งชีวิต ที่ผ่านมาตนและสามีทำนาทั้งหมด 90 ไร่ โดยเป็นที่นาของนายระทม พ่อสามี 55 ไร่ เช่านาทำอีก 35 ไร่ โดยทำนาเองบ้าง จ้างเขาทำบ้าง และกู้เงินจากสหกรณ์การเกษตรอำเภอบางมูลนากมาลงทุนทำนา 8 แสนกว่าบาท รวมดอกเบี้ยและเงินต้นประมาณเกือบล้านบาท ซึ่งปีนี้ก็ครบกำหนดต้องชำระเงินให้กับทางสหกรณ์

นอกจากนี้ ยังมีหนี้สินกับเงินกองทุนหมู่บ้านอีก 5 หมื่นบาท พอรู้ว่าราคาข้าวตกต่ำ สามีบอกว่าตอนนี้หนี้สินเยอะ จะอยู่กันอย่างไร เงินค่าข้าวปีนี้ตกต่ำ เราจะทำอย่างไรกับปัญหาหนี้สิน ซึ่งตนก็ให้กำลังใจให้สู้กันต่อไป ที่ผ่านมาสามีเป็นคนร่าเริง ชอบช่วยเหลือคนในหมู่บ้าน ซึ่งกังวลเรื่องหนี้สินมาก

“ที่มีข่าวออกมาว่าสามีเป็นช่างแอร์ ไม่ได้เป็นชาวนานั้น ถามจริงๆ ไปเอาข่าวมาจากไหน สามีเคยทำแอร์จริง แต่เลิกทำนานแล้ว เคยลงมาดูชาวนาบ้างหรือเปล่าว่าเขาอยู่กันอย่างไร ให้มาถามคนที่วังสำโรงดูว่าสามีทำนาหรือเปล่า อย่าไปพูดแบบนั้นเพราะไม่เป็นความจริง” นางอุบล กล่าว

เช่นดียวกับ น.ส.สมจิตร ปั้นแปลก อายุ 45 ปี พี่สาวของนายสุพกิจ กล่าวว่า สาเหตุที่น้องชายผูกคอตายเกิดจากความเครียดเรื่องหนี้สะสม และเป็นหนี้สหกรณ์การเกษตร นอกจากนี้ ยังมีหนี้สินกับเงินกองทุนหมู่บ้านอีก

พอมารู้ว่าข้าวในปีนี้ราคาตกต่ำ ขายข้าวก็ไม่พอใช้หนี้ กลัวว่าพ่อจะเดือดร้อน เพราะเป็นคนไปกู้เงินให้น้องชายมาทำนา ยืนยันว่าน้องชายเลิกเป็นช่างแอร์นานแล้ว อาชีพหลักคือทำนา การเสียชีวิตของน้องชายตนนั้นขอให้เป็นรายสุดท้ายที่ชาวนาผูกคอตาย เพราะปัญหาเรื่องราคาข้าวตกต่ำ ฝากบอกรัฐบาลว่าขอให้ช่วยเหลือชาวนาอย่างจริงจัง

อีกคนคือ นายราชัน เขียวงาม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.วังสำโรง อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร เผยว่า ครอบครัวของนายสุพกิจจริงๆ แล้วทำนาเป็นอาชีพหลัก ที่ข่าวลงว่าเป็นช่างแอร์นั้น เคยเป็นช่างแอร์จริง แต่เลิกมานานแล้ว และทำนามาตลอด คนที่วังสำโรงเขารู้กันทั้งนั้น

นอกจากนี้ ยังมีรายงานของกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ผู้ตายมีอาชีพทำนา มีรายได้จากการทำนา 90 ไร่ (เป็นของตนเอง 55 ไร่ เช่า 35 ไร่) ได้ผลผลิตจากการทำนาเป็นข้าว 45 เกวียนต่อปี

รายได้ต่อปีโดยไม่หักต้นทุน 250,000-300,000 บาท ส่วนรายจ่ายในครอบครัวประกอบด้วย ค่าเทอมให้บุตรชาย ปีละ 30,000 บาท ค่าเทอมให้ลูกสาว ปีละ 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเดิมผู้เสียชีวิตเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

 

ข่าว “ช่างแอร์-ชาวนา” จางไป พื้นที่ต่างๆ ปรากฏว่า มีทหารในเครื่องแบบ ลงไปช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว ปรากฏเป็นภาพข่าวในหน้าสื่อต่างๆ

สะท้อนความกังวลของรัฐบาลต่อปัญหาราคาข้าว

วันที่ 7 พฤศจิกายน คณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. ได้เคาะมาตรการจำนำยุ้งฉาง สำหรับชาวนาในภาคกลาง วงเงิน 108 หมื่นล้านบาท โดยจำนำข้าวเจ้า ในราคา 10,500 บาทต่อตัน ส่วนข้าวปทุมธานี หรือข้าวหอม ตันละ 11,300 บาท โดยขออนุมัติ ครม. ในวันที่ 8 พฤศจิกายน

รวมกับโครงการช่วยเหลือในปี 2559 ได้แก่ ให้เงินช่วยชาวนา 3 ล้านราย ไร่ละ 1 พันบาท ใช้เงิน 3 หมื่นล้านบาท, จำนำยุ้งฉางข้าวเหนียว ข้าวหอม ชาวนา 2 ล้านราย ใช้เงิน 27,400 ล้านบาท รวม 3 โครงการ 74,500 ล้านบาท

ขณะที่การแก้ปัญหาที่ “ต้นทาง” ด้วยการลดพื้นที่ปลูก ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ปลูกพืชหมุนเวียน ฯลฯ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลพยายามผลักดัน ยังอยู่ในกระบวนการ

การแก้ไขปัญหารอบนี้ จึงยังคงดำเนินไปอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต