โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง / ประวัติศาสตร์ของชาติเล็กๆ

โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง / [email protected]

 

ประวัติศาสตร์ของชาติเล็กๆ

 

การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ของไทยปลูกฝังไว้เฉพาะเรื่องของกษัตริย์และการสร้างชาติ การกอบกู้เอกราช การต่อสู้กับศัตรูผู้มารุกราน วัตถุประสงค์เพื่อให้รู้จักบุญคุณของกษัตริย์พระองค์ต่างๆ ปลูกฝังความรักชาติจนกลายเป็นความหลงชาติ ช่างเป็นมุมมองที่คับแคบเสียนี่กระไร

การศึกษาประวัติศาสตร์แบบนี้ทำให้ “เด็กของเรา” กลายเป็นคนที่คับแคบไปด้วย

หากแต่ว่ายังโชคดีที่ในโลกสมัยใหม่ คนรุ่นใหม่สามารถรับข้อมูลได้เองจากอินเตอร์เน็ต

อยากรู้อะไรก็ค้น อยากมีประสบการณ์อะไรก็ออกไปท่องเที่ยว ดูให้เห็นด้วยตา และเข้าใจด้วยการมองจากข้างนอกกลับเข้ามาในประเทศเรา รวมทั้งเข้าใจชาติอื่นแบบไม่มีอคติ

โชคยังดีที่มีมุมมองของนักประวัติศาสตร์ที่นำเสนอข้อมูลความเป็นจริงอย่างสุจิตต์ วงษ์เทศ ให้เราได้ตื่นขึ้นมาและมองต่างจากที่เคยเรียนตั้งแต่ยังเด็กจากห้องเรียนของเรา

ถ้าเราไม่มีเวลาไปค้นคว้าเอง ก็อ่านจากที่คุณสุจิตต์ย่อยมาให้นี่แหละ

ผู้เขียนได้มาเยือนสิงคโปร์อีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาสิงคโปร์ทีไรก็ถือเป็นกิจวัตรที่ต้องไปเยี่ยม Singapore National Museum เพราะว่าที่นี่มีทั้งนิทรรศการประจำ และนิทรรศการหมุนเวียนที่น่าสนใจ

ไปคราวนี้ก็ได้ความคิดว่าเรื่องของประวัติศาสตร์ชาตินั้น ใช่ว่าต้องเป็นชาติเก่าแก่พันปีถึงจะมีประวัติศาสตร์ได้ ชาติใหม่ๆ ก็มีเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต้องเกี่ยวกับกษัตริย์แต่เกี่ยวกับผู้คนธรรมดาที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชาติ อย่างเช่นการสร้างชาติของติมอร์ตะวันออก ซึ่งเพิ่งเริ่มเมื่อปี 2539 นี่เอง

ผู้เขียนเชื่อว่าหนึ่งในนิยามของประวัติศาสตร์ก็คือความเปลี่ยนแปลง

เมื่อย้อนกลับคิดถึงเมืองไทย ประวัติศาสตร์ยุคใหม่น่าจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475  การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2489 การลุกขึ้นมาของนิสิต-นักศึกษาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519

ความเป็นมาของสิงคโปร์ล้วนเกี่ยวข้องกับคนธรรมดาที่มีส่วนสร้างชาติ เริ่มตั้งแต่ปี 1819 เมื่อเซอร์สแตมฟอร์ด รัฟเฟิลส์ Raffles ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทอีสต์อินเดียได้เดินทางมายังสิงคโปร์ และพบว่าน่าจะเป็นสถานีการค้าที่สำคัญจึงได้รายงานกลับไปยังสหราชอาณาจักร และขออนุญาตจากสุลต่านยะฮอร์ตั้งสถานีการค้าที่นี่ มีพ่อค้าชาติต่างๆ เดินเรือเข้ามา

ต่อมาอังกฤษก็ได้อธิปไตยเหนือเกาะใน ค.ศ.1824

สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรใน ค.ศ.1963

ประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์และการเงินที่สำคัญของโลกในลำดับต้นๆ

ที่Singapore National Museum ในเดือนนี้มีนิทรรศการเกี่ยวกับ “ผู้หญิง” กับความเปลี่ยนแปลง พูดถึงสถานะของผู้หญิงในการดูแลครอบครัวและการศึกษาหาความรู้เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง

เป็นนิทรรศการที่นำเสนอด้วยสิ่งของและภาพเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจและชวนให้ค่อยๆ ดู ค่อยๆ ฟัง

มีดิสเพลย์ของใช้ส่วนตัวที่แสดงถึงสถานะ บทบาทและอิสรภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น หน้ากระจก จักรเย็บผ้า เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องแต่งกาย รองเท้าตั้งแต่ยุคมัดเท้า เป็นต้น ดูไม่วิชาการ แต่สื่อสารได้

สำหรับภาพเคลื่อนไหวใช้เทคนิคฉายภาพสตรีหลายคนบนกระจก และเสียงสัมภาษณ์ถึงชีวิตของเธอ ให้ความรู้สึกว่าเป็นของจริงจากเสียงของพวกเธอ เข้าใจง่าย ผู้เขียนรู้สึก “อิน” กับนิทรรศการนี้เป็นอันมาก

นี่คือตัวอย่างของเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่โฟกัสไปที่คนธรรมดาๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละยุคสมัย ดูแล้วรู้สึกว่า

“เรานี่แหละที่สร้างการเปลี่ยนแปลง”

เมืองไทยเองก็อาจจะมีเรื่องราวทำนองนี้ ซึ่งถูกเขียนอยู่ในหนังสือหรืองานวิจัย แต่ไม่มีใครเห็นความสำคัญพอที่จะหยิบยกมานำเสนอในเทคนิคใหม่ๆ แบบนี้ ความรู้ต่างๆ ถูกจำกัดอยู่ในหมู่ปัญญาชน ไม่ได้นำออกมาแชร์กับคนทั่วๆ ไปด้วยวิธีการนำเสนอที่มีสีสัน ใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงก็เข้าใจเรื่องราว

นิทรรศการยังไม่ละเลยที่จะเอ่ยถึงหญิงที่ทำงานเป็นคนรับใช้ซึ่งเขาใช้คำว่า Under the Stairs : The Working Class พูดถึงหญิงที่ทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านของผู้มีอันจะกิน ทำทั้งงานบ้านและเป็นพี่เลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวชาวตะวันตก ผู้หญิงที่ทำงานรับใช้ถูกเรียกว่า “อาม้า” เราจะเห็นภาพในสโมสรของชาวตะวันตกที่ “อาม้า” อยู่กับเด็กเวลาไปว่ายน้ำ เป็นต้น

อาม้า คือคนที่มีความสำคัญในสังคมสิงคโปร์อย่างไม่ต้องสงสัยในยุคอาณานิคม เช่นเดียวกับในยุคปัจจุบันที่ผู้สูงอายุยังคงเป็นส่วนสำคัญในภาคบริการของสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นคนเดินโต๊ะในร้านอาหาร คนทำความสะอาด พนักงานในพิพิธภัณฑ์

สังคมไทยถูกปลูกฝังให้รับฟังแต่เรื่องราวของเจ้านาย ชนชั้นสูง คนร่ำรวย คนดัง จนลืมไปว่าเรื่องราวของคนธรรมดาก็น่าสนใจไม่น้อย และเมื่อเสพติดเรื่องราวของชนชั้นสูงจนเคยชิน ก็จะมองข้ามแง่มุมอื่นๆ ที่มีสีสันและน่าสนใจไม่แพ้กัน

แต่ “การนำเสนอ” ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างมีศิลปะเช่นกัน