ต่างประเทศอินโดจีน : “พซาร์ ทเมย” สตอรี่

ที่มาภาพ : Vivutravel

ผู้ที่แวะเวียนผ่านไปยังกรุงพนมเปญ มักได้รับคำแนะนำให้หาเวลาเดินทางไป “พซาร์ ทเมย” อยู่บ่อยๆ

เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าอยากได้อะไร หากไม่เหนือบ่ากว่าแรงจริงๆ ก็หาซื้อได้ที่นี่เสมอ

เหตุผลประกอบอื่นๆ ก็มี อย่างเช่น เดินทางไปง่ายเพราะอยู่ใจกลางเมืองหลวง จะเลือกไปรถเมล์ ก็มีป้ายรถเมล์อยู่ใกล้ทางออกด้านตะวันตกเฉียงใต้

หรือหากเลือกใช้บริการแท็กซี่ก็มีคิวอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ

“พซาร์ ทเมย” คือ “ตลาดกลาง” ที่คึกคักอยู่ตลอดเวลา มีสินค้าสารพัดให้เลือกซื้อหาตั้งแต่เครื่องทอง “เครื่องเงิน” ไปจนถึงของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ดอกไม้ เสื้อผ้า ไปยันเครื่องอิเล็กทรอนิกส์

หิวขึ้นมาก็ไม่ต้องไปหาอะไรใส่ท้องที่อื่น เพราะที่นี่มีตั้งแต่ของสด ไปจนถึงอาหารปรุงสำเร็จที่เป็นอาหารท้องถิ่นดั้งเดิม

แต่ต้องดูเวลากันนิดหน่อย เพราะตลาดบนถนนสาย 128 กัมพูเจียกรอม ในคอมมูน พซาร์ ทเมย เขตเดือนเพ็ญแห่งนี้เปิดบริการตั้งแต่เช้าราว 06.30 น.

แต่ปิดตลาดเร็วแค่ 17.30 น.เท่านั้น

 

เคยมีคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ตลาดพซาร์ ทเมย แปลกแยกออกไปจากสิ่งปลูกสร้างโดยรอบไม่น้อย ถึงกับมีคนพาดพิงถึงเอาไว้ว่า ถ้ามองเผินๆ แล้วเหมือนหุ่นยนต์ขนาดยักษ์เพิ่งปักหลักลงกลางกรุงพนมเปญแล้วยืดขาทั้งสี่ข้างออกไปจนสุดยังไงยังงั้น

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่ว่า สาเหตุเป็นเพราะอาคารทรงโดมมีปีก 4 ด้านที่ว่านี้ไม่ได้ออกแบบและก่อสร้างโดยชาวกัมพูชา แต่เป็นผลงานที่ฝรั่งเศสทิ้งเอาไว้ให้เป็นมรดกตั้งแต่ยุคอาณานิคม

นั่นไม่เพียงทำให้พซาร์ ทเมย เป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่โตที่สุดของเอเชียเท่านั้น ยังถือว่าเป็นหนึ่งในตลาดเก่าแก่ที่สุดของภูมิภาคนี้อีกด้วย

ก่อนหน้าที่จะกลายมาเป็นตลาด พื้นที่นี้เคยเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง กลายเป็นหนองบึงในหน้าน้ำ และรองรับน้ำจากทุกทิศทาง

การมีแหล่งน้ำท่วมขัง ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลก็เน่าเสียและทั้งไม่น่าทอดทัศนาและกระสาต่อนาสิกประสาทของผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสที่ครอบครองพนมเปญอยู่ในเวลานั้นแน่นอน

นั่นคือที่มาของคำสั่งให้จัดการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ออกจนหมด แล้วจัดการปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างตลาดขนาดใหญ่ขึ้นแทนที่

 

คนที่ออกแบบตลาดพซาร์ ทเมย คือสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ฌ็อง เดส์บัวส์ ที่มีผลงานออกแบบอาคารอยู่กว่า 20 แห่งทั่วกัมพูชา ส่วนผู้ที่รับผิดชอบในการก่อสร้างเป็นสถาปนิกชาวฝรั่งเศสเช่นเดียวกันคือ ลุยส์ โชช็อง

พซาร์ ทเมย สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 1937 มูลค่าก่อสร้างทั้งหมดคิดเป็นเงินสกุลยูโรในยุคปัจจุบันเท่ากับ 4 ล้านยูโร ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียวในยุคนั้น

แต่แล้วปัญหาก็เกิดตามมา ประเดิมด้วยปัญหาน้ำท่วมเพราะเป็นแหล่งรับน้ำมาแต่เดิม แต่ยังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับสงครามที่เกิดขึ้นตามมาไม่นาน คือสงครามไทย-ฝรั่งเศส ระหว่างปี 1940-1941

พซาร์ ทเมย ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอิทธิพลของระเบิดที่เครื่องบินรบของไทยหย่อนลงใส่พนมเปญในช่วงเวลาดังกล่าว

ตลาดกลางแห่งนี้ปิดทำการชั่วขณะ กว่าจะมีการบูรณะอีกครั้งก็หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วนั่นแหละ

 

ถึงอย่างนั้น พซาร์ ทเมย ก็ตกอยู่ในสภาพโกโรโกโสเรื่อยมา จนกระทั่งสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศสเข้ามาทุ่มเงิน 4.2 ล้านดอลลาร์ บูรณะตลาดกลางแห่งนี้ใหม่ทั้งหมด โดยคงสภาพให้ใกล้เคียงของเดิมให้มากที่สุด แล้วเสร็จเมื่อปี 2011 นี่เอง

ปัจจุบันโดมของพซาร์ ทเมย ยังคงจัดว่าเป็นโดมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลาง 45 เมตร และสูง 26 เมตร ปีกอาคารที่ยื่นยาวออกไปแต่ละด้านมีระยะทางประมาณ 50 เมตร

ในทางสถาปัตยกรรม ถือว่าพซาร์ ทเมย คือ “อลังการศิลป์” จากยุคอาณานิคม ที่หลงเหลืออยู่ไม่มากแล้วในอุษาคเนย์!