ฉัตรสุมาลย์ : ไม่ได้กราบลาหลวงป๋า

พระภิกษุไทย ถ้าอายุคราวพ่อ เราก็จะเรียกท่านว่า หลวงพ่อ อายุคราวปู่เราก็เรียกว่า หลวงปู่ หนุ่มน้อย เราก็เรียกท่านว่าหลวงพี่ เป็นต้น

แต่ก็มีที่เราเรียกต่างไป เช่น หากตอนที่ท่านเป็นฆราวาส ลูกเรียกป๋า พอบวช ลูกๆ ก็เรียกว่า หลวงป๋า ถ้าเป็นเชื้อจีนก็เรียกหลวงเตี่ย เช่น อดีตสมเด็จวัดสระเกศ (สมเด็จเกี่ยว) เราก็จะเรียกท่านด้วยความสนิทสนมว่า หลวงเตี่ย บางครั้งเฉพาะลับหลัง แต่บางครั้งก็เรียกแม้ต่อหน้า

ที่จังหวัดราชบุรี ก็มีหลวงป๋าค่ะ ทั้งจังหวัดก็มีรูปเดียวนี่แหละ ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ท่านไปบุกเบิกเองเลยทีเดียว จนเป็นวัดที่ใหญ่โตในจังหวัดราชบุรีปัจจุบัน

ท่านมรณภาพอย่างกะทันหัน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา (2561) ตอน 11 โมง ท่านยังเทศน์สอนอยู่เป็นปกติ ข่าวไม่ได้ยืนยัน คือทราบจากแม่ค้าที่หลวงป๋าเคยไปซื้อของในตลาดปฐมมงคล ว่า ท่านล้มในห้องน้ำ ตอนบ่ายสามโมง และมีอาการเสลดติดคอ ส่งโรงพยาบาลดำเนินสะดวก ท่านไปมรณภาพที่นั่น

สิริรวมอายุ 89 ปี 31 พรรษา

 

การล้ม ก็ไม่ได้เกี่ยวกับเสลดติดคอ และเสลดติดคอก็ไม่ใช่เหตุของการล้มนะคะ ฟังหูไว้หู ความมันยังไม่ค่อยลงตัว บางคนที่ล้มแล้วเส้นเลือดในสมองแตก มักจะเป็นเพราะเส้นเลือดในสมองแตกแล้วจึงล้ม ขอให้ทางวัด หรือทางลูกหลานของท่านออกมาชี้แจงจะดีที่สุด

ท่านธัมมนันทาทราบข่าวว่าหลวงป๋ามรณภาพทางเฟซบุ๊กของศิษย์ท่านคนหนึ่งที่เคยบวชที่วัดนั้น เขาขึ้นรูปหลวงป๋า และขอแสดงความอาลัย

ผู้เขียนก็ยังไม่แน่ใจ เพราะการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กบางทีก็เชื่อไม่ได้ อย่างเช่นในกรณีของท่านพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ที่มีการโพสต์เรื่องราวแสดงความอาลัยทั้งๆ ที่ท่านยังนอนอยู่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นต้น

ท่านธัมมนันทาขอการยืนยันจากลูกศิษย์คนที่โพสต์ข้อความ ยืนยันว่าเป็นจริงตามนั้น เราคอยฟังข้อมูลที่มาโดยตรงจากทางวัด

 

ในที่สุด วันที่ 9 จึงมีข้อมูลว่าจะมีการสรงน้ำวันที่ 10 ตุลาคม อาจจะเป็นเพราะวันที่ 9 เป็นวันพระใหญ่ บรรดาพระสงฆ์จะไม่สะดวก เพราะต้องลงปาฏิโมกข์ และอาจจะเป็นเพราะต้องรอน้ำหลวงอาบศพ ซึ่งจะมาวันที่ 10

เราจึงไปร่วมงานสวดอภิธรรมคืนแรก คือวันที่ 10 ก่อนสวดอภิธรรม คืนนั้น พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี) จากวัดราชโอรสาราม เป็นพระผู้ใหญ่ที่มีความเมตตามาเทศน์หน้าศพ

ทางฝ่ายบ้านเมืองก็มีตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัดราชบุรีมากันพร้อมหน้าพร้อมตา

ทางฝั่งสงฆ์ มีท่านเจ้าคณะภาค ที่เป็นเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ มาเป็นประธาน แต่ไม่เห็นเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศ

คณะภิกษุณีสงฆ์เบียดกันไปในรถตู้ที่เช่ามาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ไปช้า แต่อาคารชั้น 3 อันเป็นที่ตั้งศพก็เต็มแน่น ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธเจ้า ตั้งศพหลวงป๋าไว้ที่ด้านซ้ายของพระประธาน พระสงฆ์สวดอภิธรรม 8 รูปนั่งเรียงกันลงมา

พระสงฆ์ที่มาหันหน้าเข้าหาศพ มีพระผู้ใหญ่นั่งเต็มจนยันประตู อีกล็อกหนึ่ง พระสงฆ์นั่งหันหน้าเข้าหาพระประธาน จัดเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นพระสงฆ์ อีกฝั่งหนึ่งเป็นญาติโยม ใส่ขาวหมดค่ะ คำนวณด้วยสายตาน่าจะประมาณ 400 รูป/คน

ภิกษุณีสงฆ์นั่งอยู่ข้างนอกทางฝั่งขวาของพระประธาน ที่จัดเก้าอี้เพิ่มสำหรับสงฆ์ มีพระภิกษุบางรูปทักทายท่านธัมมนันทาด้วยความคุ้นเคย รูปหนึ่งเข้ามาทักเพราะเคยอ่านหนังสือของท่าน

 

หลังจากเสร็จพิธีแล้ว เจ้าหน้าที่ประกาศให้พระภิกษุได้กราบหลวงป๋า บรรดาพระผู้ใหญ่ทยอยกลับ พระภิกษุพากันเข้าไปกราบที่หน้าศพ ที่จัดอย่างเรียบง่าย โลงเป็นไม้ น่าจะเป็นไม้สักเรียบ การจัดดอกไม้ยังไม่ลงตัวเพราะเป็นคืนแรก

ภิกษุณีสงฆ์รอจังหวะท้ายขบวน ก่อนที่ฆราวาสจะเข้ากราบศพ จึงได้ไปกราบลาหลวงป๋า น้อมใจขอขมาท่านที่ไม่ได้เข้ามากราบท่านเลยในช่วงสองปีสุดท้าย เจ้าหน้าที่ประกาศว่า จะมีสวดพระอภิธรรมให้หลวงป๋าไปเรื่อยๆ

ทีนี้ จะเล่าว่า ทำไมถึงต้องเขียนถึงหลวงป๋า

 

มารดาของผู้เขียน เข้าไปศึกษาวิชาธรรมกายจากหลวงพ่อวัดปากน้ำ (สด) ตั้งแต่ พ.ศ.2497 ผู้เขียนเองเข้าไปเรียนวิชาสัมมาอรหัง พ.ศ.2498 ส่วนหลวงป๋านั้น สมัยเป็นฆราวาส ท่านชื่อเสริมชัย ท่านจบปริญญาโท และทำงานกับสถานทูตสหรัฐในประเทศไทย ท่านเคยเล่าว่า ท่านยังได้รับบำนาญจากรัฐบาลอเมริกันอยู่เลย

ท่านออกบวชเมื่ออายุ 57 รวมเวลาที่ท่านรับใช้พระศาสนาจนมรณภาพ 32 ปี สมณศักดิ์สุดท้าย ท่านเป็นพระเทพญาณมงคลค่ะ งานที่ท่านสร้างทำที่วัดหลวงพ่อสดธรรมกายารามที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ไม่ใช่ธรรมดาถ้าไม่มีบารมี

นอกจากการสร้างวัดแล้ว ท่านยังได้วางระบบการศึกษาให้พระเณรอีกด้วย ขอติดตามอ่านรายละเอียดจากทางวัดโดยตรงจะสมบูรณ์กว่า

เมื่อผู้เขียนออกบวช พ.ศ.2544 ท่านธัมมนันทาก็โดนกระหน่ำจากเสียงของผู้ที่ไม่เห็นด้วย หลวงป๋าเป็นภิกษุรูปแรกที่มาเยี่ยมถึงที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ขณะนั้น พระภิกษุณีวรมัยยังมีชีวิตอยู่อายุ 93 แต่ไม่ได้ออกรับแขกหลายปีแล้ว

หลวงป๋าขึ้นไปเยี่ยมถึงห้องนอน และทักว่า ธาตุขันธ์ท่านละเอียดมาก หนังที่หลังมือของท่านใสเหมือนพลาสติก มองเห็นเส้นเลือดดำแดงได้ชัดเจน หลวงป๋าท่านถือว่าภิกษุณีวรมัยเป็นลูกศิษย์ผู้พี่

ท่านกำชับให้ลูกๆ ดูแลท่านให้ดีๆ ท่านเอาเงินใส่ซองให้ 10,000 บาท แล้วเขียนจดหมายมีความยาว 6 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป คนสมัยใหม่อาจจะไม่รู้จักนะคะ เป็นหน้ากระดาษยาว มีเส้น ท่านเขียนด้วยปากกาหมึกซึม สั่งสอนว่า ลูกผู้หญิงที่ออกบวชนั้นพึงทำอย่างไร

ประทับใจผู้เขียนมาก ท่านเขียนมาก่อนแล้ว พอไปถึงท่านก็เอาซองส่งให้ลูกที่รับรองท่านให้มอบให้กับท่านธัมมนันทา ซึ่งไม่ได้อยู่รับจดหมายจากท่านด้วยตัวเอง

 

วันที่ 24 มิถุนายน 2546 เมื่อภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ มรณภาพเมื่ออายุ 95 ท่านมานั่งเป็นเพื่อนศพเป็นหลักใจให้บรรดาลูกๆ เพราะท่านธัมมนันทาอยู่ต่างประเทศ กำหนดกลับในวันเดียวกันนั้น

บุญคุณนี้มิอาจทดแทน

หลวงป๋าจึงเป็นผู้ที่ผู้เขียนรู้สึกเคารพนับถืออย่างยิ่ง

แต่เนื่องจากการเป็นภิกษุณีเป็นเรื่องที่ทางการและคณะสงฆ์ยังไม่ยอมรับ จึงทำให้ท่านไม่สามารถแสดงออกนอกหน้าได้

แม้เมื่อพาภิกษุณีต่างชาติไปเยี่ยม ท่านให้การรับรอง โดยนั่งบนเก้าอี้รับรองเสมอกัน แต่ขอร้องว่า อย่างให้รูปออกไปปรากฏทางสื่อ

เราก็เข้าใจและเคร่งครัดในเรื่องนี่มาตลอดด้วยความเคารพท่านอย่างยิ่ง

 

ครั้งหนึ่ง สมเด็จเกี่ยวมีกำหนดการจะไปเททองพระพุทธรูปที่วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ท่านส่งข่าวมาว่า ให้ลูกภิกษุณีไปกราบสมเด็จเกี่ยวในงาน พอไปถึง ท่านก็เป็นผู้นำเข้าไปกราบสมเด็จเกี่ยวเอง

เช่นนี้ นับเป็นบุญคุณอย่างเหลือล้น

ในงานการหล่อรูปหลวงพ่อสดขนาดหน้าตัก 5-6 นิ้วที่ทางวัดทำออกมานั้น บางรุ่นไม่เหมือนหลวงพ่อสดเท่าไรนัก ท่านธัมมนันทาก็เลยเอารูปหล่อที่ทางวัตรทรงธรรมฯ เคยทำนานแล้วไปถวาย หลวงป๋าถูกใจมาก บอกว่า “เออ รูปนี้เหมือนหลวงพ่อ”

ด้วยความสัมพันธ์ที่อบอุ่นเช่นนี้ เมื่อหลวงป๋าจากไป เราได้แต่น้อมกราบแทบเท้าด้วยความคารวะและอาลัยยิ่ง

…บัดนี้ไม่มีหลวงป๋าแล้ว…