ถอดรหัส ‘Unity’ ของ ผบ.เหล่าทัพ กลางยุคเปลี่ยนผ่าน จับตาบทนำ ‘บิ๊กกบ’ เพิ่มพลัง ผบ.ทสส. กับมิชชั่น ‘บิ๊กแดง’ และ ‘บิ๊กจอม-บิ๊กเจี๊ยบ’ ขุนพลอีสาน-ใต้

รายงานพิเศษ

 

ถอดรหัส ‘Unity’

ของ ผบ.เหล่าทัพ กลางยุคเปลี่ยนผ่าน

จับตาบทนำ ‘บิ๊กกบ’ เพิ่มพลัง ผบ.ทสส.

กับมิชชั่น ‘บิ๊กแดง’

และ ‘บิ๊กจอม-บิ๊กเจี๊ยบ’ ขุนพลอีสาน-ใต้

กําลังเป็นที่จับตามองว่า ผบ.เหล่าทัพชุดนี้จะเป็นชุดประวัติศาสตร์หรือไม่ เพราะเป็นผู้นำทหารในยุคเปลี่ยนผ่าน และหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง

โดยที่ทุกคนยังรั้งตำแหน่งสมาชิก คสช.อีกด้วย จึงทำให้กองทัพถูกมองว่า ไม่มีวันที่จะเป็นกลางทางการเมือง อีกทั้งถูกแต่งตั้งมาในยุค คสช.

โดยเฉพาะในสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ และเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ที่ยังคงหวาดหวั่นว่า จะเกิดความวุ่นวาย หรือจลาจลหลังการเลือกตั้ง จนนำมาซึ่งการปฏิวัติซ้ำ ในขณะที่บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาล คสช.รักษาการ

แบบที่เรียกว่า เสี่ยงต่อการ “ปฏิวัติตัวเอง” เพื่อล้างไพ่ใหม่ และนับ 1 ใหม่

ยิ่งเมื่อบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. น้องรักบิ๊กตู่ ออกมาส่งสัญญาณเตือนไปแล้ว เรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร

จนทำให้เกิดความหวาดหวั่น และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ส่งผลให้บิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด จะต้องออกมาสยบความหวั่นวิตกเหล่านั้น ด้วยการระบุว่า ยังไม่มีนัยสำคัญใดที่จะบ่งบอกว่าจะเกิดการจลาจล หรือการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น

แต่กระนั้น ก็ยังทิ้งท้ายไว้ว่า การปฏิวัติรัฐประหาร เป็นทางเลือกสุดท้าย เป็นแผนเผชิญเหตุขั้นสุดท้าย

โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.พรพิพัฒน์มาเยือนกองทัพบก พบกับ พล.อ.อภิรัชต์ และแม่ทัพนายกองระดับบิ๊ก จนถึงระดับแม่ทัพภาคของ ทบ. พร้อมหน้า ก็ยังได้ตอกย้ำถึงความเป็นยูนิตี้ เอกภาพหนึ่งเดียวกันของทุกเหล่าทัพ ในทุกๆ เรื่อง

“ขอให้มั่นใจใน พล.อ.อภิรัชต์ที่เป็นทหารอาชีพ และมีบทบาทสำคัญที่ผ่านมา จะนำพาประเทศชาติไปได้อย่างมั่นคง ทำให้ ทบ.มีความพร้อมรบ และปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ” พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ให้คำมั่นว่า “เราจะร่วมกันขับเคลื่อนทุกภารกิจไปในทิศทางเดียวกัน”

“ทีมกองทัพบกมีความพร้อมที่จะปฏิบัติทุกภารกิจอย่างเต็มที่ในห้วงเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้” บิ๊กแดงกล่าวอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

ที่สามารถตีความไปถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น และสถานการณ์หลังจากนั้น ที่ไม่มีใครอาจหยั่งรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

กองทัพจึงถูกจับตามองอย่างยิ่ง ดังนั้น ในฐานะพี่ใหญ่ของ ผบ.เหล่าทัพ เพราะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นรุ่นพี่เตรียมทหาร 18 ในบรรดา ผบ.เหล่าทัพ ที่เป็นเพื่อน ตท.18 และรุ่นน้อง ตท.20 พล.อ.พรพิพัฒน์จึงต้องพยายามแสดงบทบาทนำ

เพราะ ผบ.ทหารสูงสุด ถือเป็นท็อปสุดของสายการบังคับบัญชาของ ผบ.เหล่าทัพ

 

แม้ว่าสังคมไทยจะให้ความสำคัญกับผู้บัญชาการทหารบกอย่างมาก เพราะเป็นผู้คุมกำลังปฏิวัติรัฐประหาร โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่มี ผบ.ทบ.อย่าง พล.อ.อภิรัชต์ นายทหารคนดัง และเป็นนายทหารที่มีสถานะพิเศษ

จึงไม่แปลกที่เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์พูดอะไร หรือมีความเคลื่อนไหวใดๆ จึงเป็นที่จับตามอง

แต่ในฐานะ ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.พรพิพัฒน์ก็ต้องแสดงบทบาทนำ

โดยได้เคยออกมาสยบความหวั่นไหวของประชาชน ต่อการกลัวปฏิวัติรัฐประหาร หลังจากที่ พล.อ.อภิรัชต์ไม่อาจแสดงความมั่นใจ หรือรับประกันได้ว่า จะไม่มีปฏิวัติรัฐประหารอีก มาแล้ว

พล.อ.พรพิพัฒน์เองก็พยายามสร้างความสำคัญ และทำให้ตำแหน่ง ผบ.ทหารสูงสุดมีความศักดิ์สิทธิ์ มีศักยภาพ หลังจากที่ตามปกติจะถูกมองว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้คุมกำลัง ไม่ได้คุมขุมกำลังปฏิวัติ

เพราะสมัยก่อน การเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ถูกมองว่าเป็นการถูก “แขวน” เสียด้วยซ้ำไป เมื่อเทียบกับการเป็น ผบ.เหล่าทัพ

เช่นเมื่อครั้งบิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ถูกย้ายจาก ผบ.ทบ. ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด บิ๊กเกาะ พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ ถูกเด้งจาก ผบ.ทบ. ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด และบิ๊กตุ้ย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ถูกเด้งจาก ผบ.ทบ. ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด

อีกทั้งเดิม คนที่มาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด มักจะเป็นคนที่อกหักมาจากเก้าอี้ ผบ.ทบ.

(ซ้าย) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ขวา) พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญจศรี

แต่ในระยะหลัง ที่มีการวางระบบให้คนใน บก.ทัพไทย ได้โตตามไลน์ เป็น ผบ.ทหารสูงสุด ไม่ใช่ให้ ผบ.เหล่าทัพ หรือคนนอกมาเสียบยอดเช่นในอดีต

เพราะนับตั้งแต่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ถูกเด้งจาก ผบ.ทบ. มาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณ เมื่อตุลาคม 2547 เพื่อเปิดทางให้บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แล้วจากนั้นก็ยังไม่มีเสือข้ามห้วยเกิดขึ้นอีก

โดยจากนั้น ก็เป็นนายทหารใน บก.กองทัพไทย ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด หรืออย่างน้อย ถ้ามาจากกองทัพบก ก็มาจ่อคิวรอก่อน 1-2 ปี

โดยเฉพาะในยุคหลังจากบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็น ผบ.ทหารสูงสุด ในช่วงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็ได้วางตัวนายทหารที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดไว้อย่างเป็นระบบ

ทั้งบิ๊กตี๋ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ต่อด้วยบิ๊กเต้ พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ บิ๊กปุย พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ และบิ๊กต๊อก พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ

และมา พล.อ.พรพิพัฒน์ ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2563

 

แม้จะมีอายุเท่ากับ พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ. ที่เป็นเตรียมทหาร 20 รุ่นน้อง แต่เกษียณกันยายน 2563 พร้อมกัน จึงทำให้เป็นเสมือนทั้งพี่และเพื่อนกัน

ที่สำคัญคือ เมื่อขึ้นมาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.พรพิพัฒน์ได้มีการรื้อฟื้นการประชุม “คณะผู้บัญชาการทางทหาร” ขึ้นมา ด้วยการจัดการประชุม “วงเล็ก” ก่อนที่จะมีการประชุม ผบ.เหล่าทัพ ที่ประชุม 2 เดือนครั้ง ทุกครั้งเสมอ

ทั้งนี้ คณะผู้บัญชาการทางทหารมี ผบ.ทหารสูงสุด เป็นประธาน ร่วมด้วย ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.ตร. และเสนาธิการทหาร ที่ปกติจะใช้ประชุมก็ต่อเมื่อเกิดวิกฤต หรือใช้ในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารระดับนายพลเท่านั้น

รวมทั้งการประกาศคติพจน์ในการทำงาน ที่ว่า “ยามใดที่ลังเลในการตัดสินใจ ให้เลือกหนทางที่ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด อย่าให้ความคิดใฝ่ต่ำเข้าครอบงำเป็นอันขาด”

ไม่แค่นั้น พล.อ.พรพิพัฒน์ยังพยายามสร้างความกลมเกลียวเป็นหนึ่งในหมู่ ผบ.เหล่าทัพ ที่มีความเป็นเพื่อนพี่น้องกันอยู่แล้ว ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน ที่มีการนัดทานข้าวพบปะกันของภริยา ผบ.เหล่าทัพกันอยู่เนืองๆ เพราะมีกิจกรรมในนามสมาคมแม่บ้านเหล่าทัพกันอยู่เสมอ

ขณะที่หน้าบ้าน ที่นอกจากจะมีการพบหน้ากันทุกเช้าวันศุกร์ เพราะต้องมาทานข้าวเช้ากับ พล.อ.ประวิตร ที่บ้าน ร.1 รอ. แล้วมีการพูดคุยวงเล็กนอกรอบกันแล้ว ยังมีการเจอกันตามงานต่างๆ

ด้วยความที่เป็นนายทหารที่ใส่ใจในรายละเอียด พล.อ.พรพิพัฒน์มักจะสร้างความประทับใจให้ ผบ.เหล่าทัพเสมอ ตั้งแต่การจัดเค้กวันเกิด อวยพรให้บิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ในการประชุม ผบ.เหล่าทัพครั้งแรก

รวมถึงการสั่งค้นหารูปบิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด บิดาของ พล.อ.อภิรัชต์ แล้วนำมาใส่กรอบ รวมกับภาพ พล.อ.อภิรัชต์ที่ไปกราบชื่อ พล.อ.สุนทร บนทำเนียบนามอดีต ผบ.ทหารสูงสุด ที่ บก.กองทัพไทย มอบให้ พล.อ.อภิรัชต์ถึงกองทัพบกด้วย ที่สร้างความประทับใจอย่างยิ่ง

เพราะในหมู่ ผบ.เหล่าทัพนั้น ทั้ง พล.อ.พรพิพัฒน์และบิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. และบิ๊กต่าย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. นั้นเป็นเพื่อน ตท.18 ด้วยกันอยู่แล้ว คงมีแต่ พล.อ.อภิรัชต์ที่เป็นรุ่นน้อง ตท.20 ที่เป็นเหมือนน้องเล็ก แต่ทว่าเกษียณราชการกันยายน 2563 พร้อมกัน ยกเว้น พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ที่เกษียณก่อนคือ กันยายน 2562 นี้

แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็ยังมีเพื่อนรัก ตท.20 อีกคนใน ผบ.เหล่าทัพ คือ บิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม แต่ทว่า ตาม “เชน ออฟ คอมแมนด์” แล้ว ปลัดกลาโหมไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาของ ผบ.ทหารสูงสุดและ ผบ.เหล่าทัพ จึงไม่ได้มีการประชุมร่วมกัน ยกเว้นประชุมสภากลาโหม และประชุม คสช. แต่การประชุม ผบ.เหล่าทัพจะไม่มีปลัดกลาโหม

แต่ก็จะเห็นว่า พล.อ.พรพิพัฒน์ก็ให้เกียรติ พล.อ.ณัฐ ที่แม้จะเป็นรุ่นน้อง แต่ก็ให้ พล.อ.ณัฐยืนหัวแถว เมื่อต้องมากันพร้อมหน้า ผบ.เหล่าทัพ เพราะถือว่าปลัดกลาโหมเป็นข้าราชการกลาโหมหมายเลข 1

แม้ว่าในช่วงก่อนการแต่งตั้งโยกย้ายนายพลที่ผ่านมา จะมีการลุ้นกันอยู่ว่า พล.อ.ณัฐจะข้ามไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด หรือไม่

เพราะในเวลานั้น มี่ข่าวสะพัดว่า โผของ พล.อ.ประวิตร คือการให้ พล.อ.ณัฐเป็น ผบ.ทหารสูงสุด และให้บิ๊กอ้อม พล.อ.วีรชัย อินทุโศภน เป็นปลัดกลาโหม แล้วให้ พล.อ.พรพิพัฒน์เป็นรองปลัดกลาโหมเท่านั้น

แต่เพราะ พล.อ.ธาร ไชยยันต์ ได้ยืนยันในการเสนอชื่อ พล.อ.พรพิพัฒน์ จาก เสธ.ทหารในเวลานั้น เป็น ผบ.ทหารสูงสุด อย่างแข็งขัน จึงทำให้ พล.อ.พรพิพัฒน์ได้รับความชอบธรรม

ส่งผลให้ พล.อ.ณัฐเป็นปลัดกลาโหม และ พล.อ.วีรชัยข้ามจาก ผช.ผบ.ทบ. มาเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด เพราะถึงอย่างไรก็เป็นเตรียมทหาร 18 เพื่อนของ พล.อ.พรพิพัฒน์นั่นเอง

แต่ก็ทำให้จับตามองว่า หลังจากนี้ ใครจะมาจ่อเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ในปลายปี 2563

(ซ้าย) พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ (กลาง) พล.อ.ชูชาติ บัวขาว (ขวา) พล.อ.นเรนทร์ สิริภูบาล

ทั้งบิ๊กชู พล.อ.ชูชาติ บัวขาว รอง เสธ.ทหาร เพื่อน ตท.20 ของ พล.อ.อภิรัชต์ และ พล.อ.ณัฐ ที่มีข่าวสะพัดว่า ถูกส่งมาเพื่อจ่อคิวโตเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคนต่อไป เพราะเกษียณกันยายน 2564

มีรายงานข่าว ก่อนหน้านี้ชื่อของ พล.อ.ชูชาติ จากรอง เสธ.ทบ. ถูกส่งให้มาเป็นรอง เสธ.ทหาร เพื่อมาช่วย พล.อ.ณัฐ ที่เดิม พล.อ.ประวิตรจะส่งมาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด และให้รอจ่อขึ้นต่อไป เพราะถือว่า พล.อ.ชูชาติเป็นนายทหารคนเก่งของรุ่น และเติบโตมาจากกรมยุทธการทหารบก

แต่กระนั้น ก็ยังมี “คนใน” บก.ทัพไทย ที่ถูกจับตามองว่าเตรียมจะโตขึ้นมาชิง ผบ.ทหารสูงสุดคนต่อไป ที่เป็นเตรียมทหารรุ่น 21 เช่น บิ๊กแขก พล.อ.นเรนทร์ สิริภูบาล ผบ.สปท. ที่ก้าวต่อไปก็ชิงเก้าอี้ เสธ.ทหาร หรือรอง ผบ.ทหารสูงสุด กับ พล.อ.ชูชาติ ได้เช่นกัน

แต่ก็ไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อความเป็นพี่น้องของเหล่าทัพในยุคนี้

ที่จับตามองกันมากก็คือ เหตุผลหนึ่งที่ ผบ.เหล่าทัพยุคนี้จะต้องผนึกแน่นเป็นหนึ่งเดียวกันเข้าไว้ ก็เพื่อพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจ กลับไปสู่พรรคเพื่อไทย และสถานการณ์หลังเลือกตั้ง ที่อาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน ที่ ผบ.เหล่าทัพและกองทัพต้องเป็นกำลังหลัก

(ซ้าย) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท (ขวา) พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตหลังการเลือกตั้ง ก็ทำให้อดีต ผบ.เหล่าทัพที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี ไปแล้วอย่าง บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ. สายรบพิเศษ ยังคงเป็นที่จับตามองอยู่ว่า อนาคตหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

ด้วยรู้กันดีว่า เป็นนายทหารที่มีความสามารถ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณมาตลอด

โดยมีรายงานว่า พล.อ.เฉลิมชัยที่ได้เข้าถวายสัตย์ฯ ในการรับตำแหน่งองคมนตรีนั้นได้รับโปรดเกล้าฯ ให้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคใต้

ขณะที่บิ๊กจอม พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี และอดีต ผบ.ทอ. ได้รับผิดชอบในพื้นที่ภาคอีสาน

โดยทั้งคู่เป็นเพื่อนเตรียมทหาร 16 ด้วยกัน และมีความสนิทสนมกันมาก ถือเป็นองคมนตรีสายทหารที่กำลังถูกจับตามอง

ที่สำคัญคือ พล.อ.อภิรัชต์ให้ความเคารพรัก พล.อ.เฉลิมชัยอย่างมาก นอกเหนือจากการเป็นน้องรักของบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และบิ๊กต๊อก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ที่เติบโตมาใน ร.11 รอ. ด้วยกัน

ที่ก็ล้วนถูกจับตามองว่า จะเป็นบุคคลที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ทั้งสิ้น