เศรษฐกิจ / ชะตาส่งออกปี 2562 เจอศึกหนัก ผู้ส่งออกสวนรัฐ : อย่าฝันจะโต 8%

เศรษฐกิจ

 

ชะตาส่งออกปี 2562

เจอศึกหนัก

ผู้ส่งออกสวนรัฐ : อย่าฝันจะโต 8%

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อสอบถามภาครัฐและเอกชน ถึงความกังวลแค่ไหนกับผลกระทบต่อส่งออกไทย ที่จะได้รับจากสงครามการค้าเพิ่มกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐและจีน วงเงินสูงถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเรื่อยมา มีส่วนน้อยที่แสดงความวิตกว่าไทยเจอศึกหนักแน่

ส่วนใหญ่กลับมองไทยได้มากกว่าเสีย ทั้งสามารถส่งออกสินค้าแทนจีนเข้าสหรัฐได้มากขึ้น

หรือโอกาสดีจะได้เงินทุนจากการโยกย้ายแหล่งผลิตจากจีน

แต่ความมั่นใจนั้นดูจะถดถอย เมื่อตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนกันยายน 2561 หดตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน มีมูลค่า 20,700 ล้านเหรียญสหรัฐ และติดลบ 5.2%

โดยกระทรวงพาณิชย์ออกมาชี้แจงถึง 3 สาเหตุหลักที่เป็นปัจจัยลบ คือ

สงครามการค้าสหรัฐและจีน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยติดลบ 8% หรือคิดเป็นมูลค่า 402 ล้านเหรียญสหรัฐ

ซึ่งในส่วนนี้แยกเป็นผลกระทบทางตรงจากการที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในกลุ่มโซลาร์เซลล์ ลบ 77% เครื่องซักผ้า เหล็กบางชนิดและอะลูมิเนียม ลบ 60% คิดเป็นมูลค่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนกระทบทางอ้อมเชิงลบ จากการที่ไทยเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบ ลบ 16.3% มูลค่า 392 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนผลกระทบทางอ้อมเชิงบวก ที่ไทยส่งออกทดแทนจีนในตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.7% มูลค่า 65 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อหักกลบลบกันเดือนกันยายน สงครามการค้ายังทำให้มูลค่าการส่งออกหายไป 402 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1.8% ของมูลค่าส่งออกรวม

ผสมกับอีก 2 สาเหตุคือ ยอดส่งออกกลุ่มทองคำและรถยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์ ที่บวกต่อเนื่องหลายเดือนและมีฐานการส่งออกที่สูง กลับติดลบ 5.3% หรือคิดเป็นมูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ และอีกสาเหตุคือ ประเทศคู่ค้าหันไปหาตลาดใหม่ ดึงยอดส่งออกจากไทย จนต้องติดลบอีก 1% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ

ประเด็นอยู่ที่ว่า ส่งออกไทยตกลงชั่วคราว หรือจากนี้ส่งออกไทยจะหดตัวแล้ว ซึ่งมีหลายประเด็นต้องติดตาม

 

ประเด็นแรก แม้ภาคเอกชนและภาครัฐออกมาการันตีเป้าหมายส่งออกปีนี้ได้แน่ 8% หากไทยยังคงมูลค่าส่งออก 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ให้ได้ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

แต่เมื่อดูสถิติย้อนหลัง ก็มีเสียว

พบว่าข้อมูลย้อนหลัง ยกเว้นเดือนพฤศจิกายนปี 2560 เท่านั้นที่มีมูลค่าเกิน 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

นอกนั้นมูลค่าสูงสุดก็ไม่เกิน 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

และเมื่อเทียบตัวเลขขยายตัวของส่งออกปีนี้ รายไตรมาส น่าใจหาย พบว่า ไตรมาสแรกขยายตัว 11.35% ไตรมาส 2 ขยายตัว 10.56% แต่ไตรมาส 3 เหลือ 2.99%

ประเด็นต่อมา ทุกฝ่ายยอมรับว่าส่งออกไทยยังเผชิญกับปัจจัยลบอีกมาก ตั้งแต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าในประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน อาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นการค้าและการลงทุนทั่วโลก

โดยเฉพาะผลกระทบเกิดการเคลื่อนย้ายซัพพลายเชน ซึ่งไทยเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบสำคัญ ก็เริ่มเห็นแล้วจากตัวเลขส่งออกไปจีนหดตัว การแย่งชิงหาตลาดใหม่ๆ มากขึ้น

รวมถึงปัจจัยใหม่ๆ เช่น การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (เบร็กซิท) ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินผันผวน ต้นทุนน้ำมันแพงขึ้น ภาคอุตสาหกรรมจะเจอแรงกดดันหนักไม่น้อยกว่าภาคเกษตร เป็นต้น

 

อีกประเด็นคือ การจับสัญญาณจากผู้วางนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยอมให้คงตัวเลขคาดการณ์ส่งออกปี 2562 ที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับทูตพาณิชย์ทั่วโลก และภาคเอกชน ได้หารือและร่วมกันเคาะตัวเลขที่มีโอกาสเป็นไปได้มากสุด คือส่งออกปี 2562 คาดว่าจะเติบโตได้ 8% ใกล้เคียงปีนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น ทุกครั้งมักมาพร้อมกับเป้าทำงานเป้าเขย่ง

ซึ่งในเป้า 8% ของปี 2562 จะมีมูลค่า 276,011 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉลี่ยต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน แยกเป็นรายภูมิภาค ดังนี้ อเมริกาเหนือ บวก 6.1% ละตินอเมริกา บวก 6.0% ตะวันออกกลาง บวก 3.0% แอฟริกา บวก 10.0% สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) บวก 3.0% เอเชียใต้ บวก 8.0% อาเซียน บวก 8.4% รัสเซียและซีไอเอส บวก 10.0% จีนและฮ่องกง บวก 12.0% เอเชียตะวันออก (ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) บวก 7.0% ทวีปออสเตรเลีย บวก 6.0% ผ่านยุทธศาสตร์ไทยครัวโลก ส่งออกภาคบริการ และเจาะเมืองรองทั่วโลก

เรื่องนี้ ถ้ากลับมาดูฐานส่งออกไทยย้อนหลังหลายสิบปี ยิ่งน่าห่วง เพราะยังไม่พบว่าเดือนไหนที่ประเทศไทยจะส่งออกได้มูลค่าสูงถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ!!!!

 

ประเด็นสุดท้าย น่าจะชัดเจนสุด คือ ข้อมูลจากกลุ่มผู้ส่งออกรายอุตสาหกรรม ฟันธงส่งออกปี 2562 ดีสุดคงโตได้แค่ 6% โดยผลการประชุมคณะทำงานสานพลังประชารัฐภาคเอกชน ด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ ที่มีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ได้กางตัวเลขทิศทางการส่งออกในปี 2562 ของภาคเอกชนรายกลุ่มอุตสาหกรรม ที่เพิ่งประชุมล่าสุดปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า ประเมินส่งออกปี 2562 เติบโต 5.2% (อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) จะมีมูลค่า 267,983 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2561 คาดเติบโต 7.6% และมีมูลค่า 254,705 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยแยกเป็นส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ขยายตัว 3% มูลค่า 38,505 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีนี้คาดโต 7%

สินค้าสำคัญคือ ข้าว 0% ยางพารา 5% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 5% อาหาร 5% น้ำตาลลบ 7% จากปีนี้บวก 8% ลบ 24% บวก 11% บวก 16% และบวก 3% ตามลำดับ

ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเติบโต 6% มูลค่า 216,978 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปีนี้คาดโต 9%

สินค้าสำคัญ ดังนี้ อิเล็กทรอนิกส์ 7% ยานยนต์ 5% เครื่องใช้ไฟฟ้า 5% เม็ดพลาสติก 6% อัญมณีและทองคำ 0% น้ำมันสำเร็จรูป 6% วัสดุก่อสร้าง 10% ผลิตภัณฑ์ยาง 10% เครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ 5% สิ่งทอ 8% และเคมีภัณฑ์ 6%

ซึ่งเป็นอัตราลดลงจากปีนี้ทั้งสิ้น คือ 7% 12% 4% 16 % ลบ 6% 29% 12% 8% 10% 8% 25% ตามลำดับ

“เดือนกันยายนติดลบมากถึง -5.2% เนื่องจากการส่งออกไปจีนติดลบ 14% และแรงผลักดันส่งออกสินค้าเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมาสูงกว่าปกติ ทำให้ส่งออกเดือนกันยายนแผ่วลง ส่วนปี 2562 ภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรม มีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้น ถือเงินสดแทนลงทุน เพราะคาดว่าการส่งออกจะชะลอตัว จะโต 5% หากค่าเงินดีก็โตได้ 6% เท่านั้น ตามปัจจัยเสี่ยงรุนแรงขึ้น เช่น ผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้า ไม่แค่สหรัฐ จีน แต่จะลามไปถึงประเทศต่างๆ จนเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ต่างจับจองเรื่องการเคลื่อนย้ายแหล่งทุน น่าห่วงมากคือ อัตราดอกเบี้ยโลกขาดขึ้น”

นายสนั่นกล่าวให้คิด

 

สอดคล้องกับ น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ออกมายืนยันก่อนเข้าเดือนตุลาคม ว่า อย่างไรส่งออกปี 2562 ยังเติบโตแต่ไม่หวือหวา จะเติบโตแค่ 5% เนื่องจากฐานการส่งออกปี 2561 ฐานใหญ่ขึ้น

และตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบจากสถานการณ์สงครามการค้า

หากไทยได้รับผลกระทบทางตรงจากการใช้มาตรการภาษีของสหรัฐ เช่น การใช้มาตรา 232 และมาตรา 201 โดยเฉพาะหากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนที่นำเข้ากับทั่วโลก คาดว่าจะทำให้การส่งออกไทย ซึ่งเป็นซัพพลายเชนสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้รับผลกระทบและอาจทำให้ตัวเลขการส่งออกขยายตัวต่ำกว่า 5% ตัวเลขน่าจะเห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาสที่ 1

    และถึงวันนี้ องค์กรหลัก ทั้งสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันธนาคาร และนักวิชาการ ต่างไม่เปลี่ยนมุมมองในทิศทางเดียวกันว่า ปี 2562 ส่งออกไทยไม่ได้หมูอย่างชื่อปีแน่นอน