กรองกระแส / ผลงาน ความสำเร็จ จากบทเพลง ‘ประเทศกูมี’ พื้นที่ทางวัฒนธรรม

กรองกระแส

 

ผลงาน ความสำเร็จ

จากบทเพลง ‘ประเทศกูมี’

พื้นที่ทางวัฒนธรรม

 

ระหว่างบทเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” อันกระหึ่มขึ้นภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กับบทเพลง “ประเทศกูมี” อันกึกก้องขึ้นในเดือนตุลาคม 2561 มีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน

เพราะว่าเพลง “คือความสุข” ระบุ

แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอประชาชน

หาก “คืนความสุข” จะเป็นการให้คำมั่น เด่นชัดว่า “ประเทศกูมี” คือคำตอบ

เป็นคำตอบว่านับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา กระทั่งมาถึงเดือนตุลาคม 2561 ประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งอยู่ในชุมชน “แร็พเปอร์” ประสบกับความสุขจากความศรัทธาที่เคยให้ไว้อย่างไรบ้าง

เช่นนี้เองจึงปรากฏความหงุดหงิดจากบรรดา “โฆษก” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะในทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะในสำนักเลขาธิการ คสช. ไม่ว่าจะในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ต้องการให้มีการจัดการกับ “ประเทศกูมี” อย่างเฉียบขาด

แต่คำตอบอันสำแดงออกผ่านประชาชนก็คือ ยอดวิวที่ทะยานจากหลักหมื่นในเบื้องต้นกลายเป็นหลักล้านและหลายล้าน

ในที่สุดแล้ว ทั้งหมดนี้คือการต่อสู้ในแนวรบทางด้านวัฒนธรรม

 

จากเพลงเพื่อชีวิต

ถึงประเทศกูมี

 

เพลงเพื่อชีวิตถือได้ว่าเป็นผลผลิตก่อนและภายหลังสถานการณ์การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนเมื่อเดือนตุลาคม 2516 โดยมีคาราวานเป็นกองหน้า ตามมาด้วยกรรมาชน กงล้อ ต้นกล้า โคมฉาย เป็นต้น

ด้านหลักได้อิทธิพลจากตะวันตก ด้านรองได้จากเนื้อดินของไทย

บทบาทของเพลงเพื่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็น “คนกับควาย” หรือ “ตายสิบเกิดแสน” ตลอดจน “กูจะปฏิวัติ” และ “การเกด” มีคุณูปการเป็นอย่างสูงของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษา ประชาชน ต่อเนื่องมายาวนาน

เป็นผลสะเทือนให้เกิดกระแสเพลงเพื่อชีวิตอย่างคาราบาว คีตัญชลี หรือพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เป็นต้น ในกาลต่อมา กระทั่งเพลงเพื่อชีวิตได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาอย่างปรกติในสังคมไทย

หากเพลงเพื่อชีวิตคือผลสะเทือนจากสถานการณ์ก่อนและหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 การเกิดขึ้นของ “ประเทศกูมี” ก็คือผลสะเทือนอย่างมีนัยสำคัญจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ยุคของเพลงเพื่อชีวิตได้ความดาลใจจากเพลงโฟล์กของตะวันตก ยุคของประเทศกูมีก็ได้ความดาลใจจากเพลงแร็พของตะวันตกเช่นเดียวกัน

เพียงแต่ปรากฏผ่านเนื้อหาการต่อต้าน “เผด็จการ” ความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

แก่นแท้ การเมือง

ภายใน ประเทศกูมี

 

ถามว่าบทเพลง “ประเทศกูมี” เป็นการเมืองหรือไม่ คำตอบก็ดำเนินไปเหมือนกับบทสรุปต่อบทเพลงของคาราวาน หรือคาราวานนั่นเอง

นั่นก็คือ เป็นการเมือง

การปรากฏขึ้นของ “ประเทศกูมี” จึงเป็นการเคลื่อนไหวของบทเพลงอันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มีเนื้อหาในทางการเมืองอย่างเด่นชัดยิ่ง

ชื่อย่อของ RAD ก็มาจาก “กลุ่มแร็พต่อต้านเผด็จการ”

ความต้องการของพวกเขาในการแสดงออกก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า “ประเทศกูมี” อันเนื่องจากผลพวงของรัฐประหารและการปกครองในระบอบเผด็จการมีอะไรบ้าง

เป็นเหมือนคำตอบต่อเพลง “คืนความสุข” เป็นเหมือนการหารือกับ “ผู้ฟัง”

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ “ประเทศกูมี” ได้มีการขานรับจากประชาชนผู้ฟังด้วยจำนวนที่มากกว่า 20 ล้านยอดวิว ผลก็คือ วัฒนธรรม “แร็พ” อันเป็นเรื่องของชุมชนส่วนน้อยภายในวัฒนธรรมเพลงและภายในวัฒนธรรมไทยได้กลายเป็น “ป๊อบปูล่าร์” ขึ้นภายในพริบตา

ขณะที่บทเพลง “คืนความสุข” มียอดวิวไม่มากนักแม้จะบังคับเปิด บังคังฟัง ตรงกันข้าม “ประเทศกูมี” นำเสนอผ่านยูทูบอันถือว่าเป็นช่องทางการแสดงออกใหม่ของประชาชน

เท่ากับเปิดพื้นที่และสร้างความคึกคักให้กับ “โซเชียลมีเดีย” ด้วยเนื้อหาทาง “การเมือง”

 

เส้นทางวัฒนธรรม

สะท้อนผ่านเพลง

 

บทเรียนอย่างสำคัญของ “ประเทศกูมี” สะท้อนให้เห็นว่า บทเพลงอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะแสดงออกผ่านรูปการณ์ทางศิลปะอย่างไร แต่หากรูปแบบและเนื้อหาสอดรับและตรงกับความรู้สึกของประชาชน

ศิลปะนั้นๆ ย่อมได้รับการสนับสนุน อุ้มชูจากประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค

“ประเทศกูมี” ได้ทำให้วัฒนธรรมแร็พได้กลายเป็นวัฒนธรรมประชานิยม และประชาชนเรือนล้านได้มีความรู้สึกร่วม

เป็นความรู้สึกร่วมต่อรูปการณ์อันเป็นผลสะเทือนจากความเป็น “เผด็จการ”

ไม่ว่ากลุ่มการเมือง ไม่ว่าพรรคการเมือง มีความจำเป็นต้องศึกษา ทำความเข้าใจจากผลงานและความสำเร็จของ “ประเทศกูมี” ด้วยความเคารพ