ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 พฤศจิกายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ขอแสดงความนับถือ |
เผยแพร่ |
ขอแสดงความนับถือ
โย่ว โย่ว ผ่าน “อีเมล” มาอย่างเข้าสถานการณ์
สำหรับ “ติยะ เชียงใหม่”
เลี้ยงหมา แต่ชอบตีหมา เลี้ยงเอาไว้ฆ่า ประเทศกูมี
ด่าเพื่อน ศิลปินขบถ ตัวมันหมดจด ประเทศกูมี
ทั้งวัน ด่ารัดทะบาน นี่หรือเผด็จการ ประเทศกูมี
ร่ายแร็พ ด่าประเทศคว…ไม่มีที่หนาย ประเทศกู(ก็)มี โย่ววว
ฟัง (อ่าน) เพียงแค่นี้ อาจเข้าใจได้ว่า
ติยะ เชียงใหม่ ยืนคนละข้างกับ “ประเทศกูมี” ของกลุ่มแร็พเปอร์โปรเจ็กต์ “Rap Against Dictatorship” อย่างไม่ต้องสงสัย
อาจเป็นเช่นนั้น
แต่โปรดอ่านในล้อมกรอบ “สุดท้ายจะไม่มี?” ประกอบ
จะเข้าใจติยะ เชียงใหม่ มากขึ้น
เข้าใจถึงความเบื่อหน่าย
“ประเทศฉัน นั้นสู้ อยู่สองฝ่าย
ขวากะซ้าย มึงกะกู ดูน่าขัน
เรื่องจะยอม ปรองดอง มองหน้ากัน
ไม่มีวัน ไม่มีทาง อย่างแน่นอน…”
ใช่ ติยะ เชียงใหม่ เบื่อหน่ายกับภาวะแบ่งเป็นขั้ว จึงมีคำถามกับ RAD
แต่หลายคนก็คงมีคำถามเช่นกัน
ทำไมติยะ เชียงใหม่ จึงไม่มีคำถามต่อฝ่ายที่หวังสืบขั้วอำนาจ “ขั้วเดียว” บ้าง
ไม่รู้สึก Against Dictatorship เลยหรือ
กระนั้นต้องคาระวะติยะ เชียงใหม่ อยู่หนึ่งจอก
นั่นคือ ถึงไม่เอาด้วยกับ RAD
แต่มิได้เรียกร้องให้เอากฎหมายไปฟัน
ไม่เอาประชามติเห่ยๆ แบบคุณว่าประเทศนี้ไม่ดีก็ไปอยู่ที่อื่น มาบีบคั้น
มีแต่เขียนมาโต้แย้ง-แลกเปลี่ยน
เดินตามระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ควรเป็น
น่าชมเชย มิใช่หรือ
เช่นกัน
ในฉบับนี้ “อนุชา ทองเติม” นำเสนอรายงานพิเศษ
“ความอ่อนไหวของสังคมเมือง / กับ ‘ครางชื่ออ้ายแน’ / เมื่อเพลงของคนบ้านนอก ขัดหูคนกรุง”
ยั่วล้อไปกับกระแส “ประเทศกูมี” อย่างได้บรรยากาศ
เป็นบรรยากาศที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง
ครางชื่ออ้ายแน ถูกแต่งและร้องเพื่อ “ขายล้วน-ล้วน”
ไม่มี “การเมือง”
มีแต่การมุ้ง ซึ่งหากเอา “คุณธรรม 12 ประการ” มาจับ
รับรอง ไม่มีที่ให้ยืนสักกระผีกนิ้ว
แม้แต่โลกโซเชียลมีเดีย ที่ว่าเปิดกว้างแล้ว ยังสับเละเทะ
สิ่งที่จะพอเอาตัวรอดได้บ้างก็คือ คำขอร้องอย่าคิดอะไรมาก ปล่อยให้ชาวบ้านเขาได้มีอะไรม่วนซื่นโฮแซวบ้าง
ชีวิตให้มีเรื่องสัปดี้สีปดนสักนิด จะได้มีสีสัน
จะให้นั่งนิ่งเป็นเจ้ากู ที่แอบกระดิกตีนใต้เครื่องแบบอย่างเดียวคงบ่ไหว
ไต่ลวดนรกกับสวรรค์บ้าง ชีวิตจะได้ตื่นเต้น
และว่าไป การที่หมอลำซิ่ง กระเสือกกระสนอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้
ก็เพราะเรื่อง “มุ้ง-มุ้ง” อย่างนี้แหละ
รับไม่ไหว ก็ไม่ต้องไปรับ ปล่อยให้เขามีที่มีทางของเขา เฉพาะกลุ่มเฉพาะพวก
ซึ่งก็คงไม่ถึงกับทำลายความมั่นคงของใครอย่างที่ห่วง
จากที่แตกต่างระหว่าง “ประเทศกูมี” กับ “ครางชื่ออ้ายแน” ก็มาบรรจบกันตรงนี้
ตรงที่ทั้ง 2 เพลง ถูกมองว่าทำลายประเทศ ทำลายศีลธรรมอันดี
มีการเรียกร้องให้ “จัดการ” อย่างเฉียบขาด
ขณะที่ RAD เรียกร้องสิทธิที่จะแสดงออกทางการเมืองของตน
ขณะที่ “อาจารย์งัวน้อย กันทรลักษณ์” ผู้แต่งเพลง “ครางชื่ออ้ายแน” วิงวอนขอมีที่ยืน
“ต้องขอโทษสายโลกสวยไว้นำเด้อคับ อย่าไปคึดหยังหลาย หมอลำซิ่งบ้านเฮากะทะลึ่งกันแหน่ล่ะคับ”
ขณะที่ “ประเทศกูมี” และ “ครางชื่ออ้ายแน”
ยอดดูในยูทูบทะลุหลับสิบล้านไปแล้ว
อุ๊ยๆ โอ๊ะๆ อิ๊ๆ อ้ายๆ (ฮา)