“กล้วยน้ำว้า” ทำไมถึงเรียกชื่อนี้ แล้วมีประโยชน์อะไรที่เรายังไม่รู้ ?


อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ก้วยใต้”

แปลว่า “กล้วยน้ำว้า” หรือบางที่เรียกว่า “กล้วยอ่อง” หรือ “กล้วยกะลิอ่อง”

กล้วยเป็นพืชพื้นเมืองในเขตร้อน แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Musa xparadisiaca L. เป็นสมาชิกในวงศ์ MUSACEAE เป็นพืชที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ที่เราเรียกว่าหัวหรือเหง้ากล้วย

ส่วนที่เป็นเหมือนลำต้นของกล้วยเป็นส่วนของกาบใบที่ซ้อนอัดกันแน่น เรียกว่าลำต้นเทียม

ใบกล้วยออกเวียนกระจุกที่ด้านบน ดอกออกเป็นช่อที่เรียกว่า “ปลีกล้วย” และติดผลเป็นช่อ ช่อย่อยเรียก “หวีกล้วย” ช่อรวมเรียก “เครือกล้วย”

ในชื่อวิทยาศาสตร์จะเห็นมีเครื่องหมาย X คั่นอยู่ตรงกลาง นั่นแสดงถึงการเป็นลูกผสมของกล้วย ที่ทำให้กล้วยไม่มีเมล็ด และต้องขยายพันธุ์เพาะปลูกกันด้วยวิธีแยกหน่อ

ต่างจากกล้วยป่าที่มีเมล็ดมาก

กล้วยน้ำว้านับว่าเป็นกล้วยพื้นฐานของคนไทยก็ว่าได้ ว่ากันว่า ชื่อ “กล้วยน้ำว้า” นั้น มาจากที่มาของต้นกำเนิดของกล้วยพันธุ์นี้ คือมาจากแม่น้ำว้า หรือลำน้ำว้า ที่ไหลผ่านอำเภอสันติสุข อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน

แม่น้ำว้าไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่อำเภอเวียงสา บริเวณปากน้ำของลำน้ำว้าที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน เรียกว่า “สบว้า” รวมระยะทางกว่า 300 เมตร เป็นพื้นที่ที่กินบริเวณค่อนข้างกว้างและมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพันธุ์พืช

โดยเฉพาะพืชที่ชอบที่ชุ่มน้ำ เช่น กล้วยน้ำว้า อย่างยิ่ง

คนไทยใช้ประโยชน์จากกล้วยน้ำว้าได้เกือบทั้งต้น

ตั้งแต่ส่วนของหยวกกล้วย ปลีกล้วย นิยมนำมาปรุงอาหารเป็นแกงหยวกกล้วยและแกงปลี หรือใส่ในยำจิ้นไก่ ด้วยปลีกล้วยมีเนื้อสัมผัสคล้ายคลึงกับเนื้อไก่แทบแยกกันไม่ออกเลย

หรือจะกินสดๆ เป็นผักแนมก็ได้

ต้นกล้วยใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ทำซุ้มประตูป่า ใช้ในพิธีกรรมสืบชะตา ไหว้ผีมดผีเมง กาบกล้วยนิยมเอามาทำสะตวง หรือเครื่องบัตรพลี ขึ้นท้าวทั้งสี่ ส่งเคราะห์ เป็นต้น

ส่วนใบกล้วยหรือที่เรียกว่าใบตองก็ใช้ประโยชน์เป็นวัสดุในการห่อ ตั้งแต่ห่อของ ห่อขนม หรือแม้กระทั่งใช้บังแดดบังฝนต่างร่ม

ผลกล้วยสุก สมัยก่อนนิยมใช้เลี้ยงทารก โดยเอาไปปิ้งไฟอ่อนๆ ให้สุกเสียก่อน

ผลกล้วยมีประโยชน์ทางยา กล่าวคือ ผลสุกช่วยคลายหิวอิ่มท้องและช่วยระบาย ส่วนผลดิบรสฝาดช่วยสมานแผลได้ กินเป็นลูกกลอนหรือใส่แคปซูลกินช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร เสียแต่หากกินมากอาจทำให้ท้องอืดจากแป้งในกล้วยได้ ซึ่งอาจจะแก้ด้วยการกินสมุนไพรพวกที่ช่วยขับลม ได้แก่พืชที่มีกลิ่นหอมต่างๆ เช่น ขิง ข่า กะเพรา โหระพา หรือน้ำตะไคร้ ก็ได้

สุดท้ายเมื่อเราเก็บเกี่ยวเครือกล้วยลงมาแล้ว ต้องล้มต้นกล้วยหรือส่วนที่เป็นลำต้นเทียม ปัจจุบันก็มีการนำมาประยุกต์เป็นวัสดุปลูกพืชได้ด้วย

เช่น ใช้ปลูกพืชสวนครัว ผักกาด ผักฮ่องเต้ หรือกระทั่งใช้เพาะเห็ด เป็นต้น

คนล้านนาวันออกฮ้องว่า ก้วยอ่อง

คนล้านนาวันตกว่า ก้วยใต้ เจ้า

แปลว่า คนล้านนาตะวันออก (แถบแพร่ น่าน เชียงราย พะเยา) เรียกว่า “กล้วยอ่อง”

คนล้านนาตะวันตก (แถบเชียงใหม่ ลำพูน) เรียก “กล้วยใต้”