โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ/เหรียญดังจังหวัดตรัง หลวงปู่แสง ธัมสโร วัดถ้ำพระพุทธโกษีย์

หลวงปู่แสง ธัมมสโร

โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ [email protected]

 

เหรียญดังจังหวัดตรัง

หลวงปู่แสง ธัมสโร

วัดถ้ำพระพุทธโกษีย์

 

“หลวงปู่แสง ธัมมสโร” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังเมืองตรัง วัดถ้ำพระพุทธโกษีย์ (วัดในเตา) อ.ห้วยยอด จ.ตรัง มีเมตตาธรรมสูง มักน้อย ถือสันโดษ มีพลังจิตที่เข้มขลัง อาคมที่แก่กล้า

ห้วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ มีเรื่องเล่ากล่าวขวัญเกี่ยวกับอภินิหารต่างๆ มากมาย เช่น ชาวบ้านในชุมชนบ้านในเตาจะทราบดีว่า หากมีฝนตกลงมาในขณะเวลาที่ท่านกำลังเดินบิณฑบาต แม้ฝนจะตกหนักหนาสักแค่ไหน หลวงพ่อแสงก็ไม่เคยเปียกฝน ทั้งๆ ที่ไม่ได้กางร่ม หรือหยุดหลบฝน ณ สถานที่ใดเลย

หลวงปู่แสงจัดสร้างวัตถุมงคลหลายรุ่น ที่ล้วนมีประสบการณ์ลือลั่นอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่พระฤๅษีรุ่นแรก พ.ศ.2516 ถอดแบบจากฤๅษีวัดเต่า หล่อครั้งละ 50-100 องค์ รวมทั้งพระปิดตาพุทธโกษีย์ เนื้อตะกั่วลงถม พิมพ์ 2 หน้า จำนวน 1,999 องค์

นอกจากนี้ ยังจัดสร้างรูปบูชาหลวงปู่แสง ขนาด 4.5 นิ้ว จำนวน 203 องค์ รูปลอยองค์รุ่นแรก จำนวน 4,999 องค์ เหรียญกลีบบัว รุ่นแรก จำนวน 9,999 องค์ เป็นต้น

แต่ที่ได้รับความนิยมจากชาวเมืองตรังเป็นอย่างมาก คือ เหรียญหลวงปู่แสง รุ่นแรก จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ.2522 โดยนายอำเภอห้วยยอด ในสมัยนั้น เป็นเหรียญเนื้อโลหะ จำนวนการจัดสร้างไม่แน่ชัด เป็นเหรียญรูปไข่ มีหู

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงปู่แสงครึ่งองค์ สวมแว่นตา ด้านล่างรูปเหมือน เขียนคำว่า “หลวงพ่อแสง ธมฺมสโร”

ด้านหลัง เป็นรูปยันต์ประจำตัวหลวงปู่แสง ด้านบนยันต์เขียนคำว่า “วัดถ้ำพระพุทธโกษีย์” ด้านล่างยันต์ เขียนว่า “ท่างิ้ว ห้วยยอด ตรัง”

สำหรับพุทธคุณวัตถุมงคลทุกรุ่น จะโดดเด่นรอบด้าน โดยเฉพาะเหรียญรุ่นปี 2522 เป็นที่เสาะหา

เหรียญหลวงพ่อแสง (หน้า)
.เหรียญหลวงพ่อแสง (หลัง)

 

ชาติภูมิ หลวงปู่แสง ถือกำเนิดในสกุลบุญช่วย เมื่อปี พ.ศ.2450 โยมบิดา-มารดาชื่อ นายแดงและนางเอียด บุญช่วย บ้านเดิมอยู่ในแถบบ้านป่าเทือกเขาบรรทัด บ้านในเตา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง แต่ภายหลังได้แบ่งเขตไปติดกับอำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช

ต่อมาเมื่ออายุได้ 11 ปี บรรพชาที่วัดบางทองคำ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีหลวงปู่ทองดำ (ศุข) สุวัณโณ เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากบวชแล้ว ถือธุดงค์ตามหลวงปู่ทองดำตลอดมา รวมทั้งยังเดินธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่เขียว อินทสุวัณโณ วัดหรงบน พร้อมกันนี้ ยังได้เดินธุดงค์มาขอศึกษาวิชาอาคม สมถกรรมฐาน และขอคัดลอกตำราจากพระครูอรรถธรรมรส หรือหลวงปู่ซัง วัดวัวหลุง ผู้เป็นเจ้าของเหรียญอันดับ 1 แห่งแดนทักษิณ

กระทั่งอายุครบตามเกณฑ์ เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดวัวหลุง โดยมีหลวงปู่ซัง เป็นพระอุปัชฌาย์ และหลวงปู่ทองดำ เป็นพระกรรมวาจารย์

ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2479 หลวงปู่ซังและหลวงปู่ทองดำละสังขารเป็นเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้มีความเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก ด้วยเหตุที่ขาดที่พึ่งและยังปลงไม่ตก จึงได้เดินธุดงค์ตามป่าเขาจนอาพาธ

พ่อแม่พี่น้องจึงต้องขอร้องให้สึกเพื่อรักษาตัว

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นแม้จะเป็นฆราวาสทั่วไปแล้ว ก็ยังไม่ทิ้งวิชาคาถาอาคมและสมุนไพรใบยา ใช้สรรพวิชาเป็นที่พึ่งให้ชาวบ้านแถบนั้นตลอดมา จนมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพวกโจรป่าคิดที่จะปล้นบ้านของท่าน ขณะที่ได้เข้าล้อมบ้านอยู่นั้น ก็ได้บังเกิดน้ำป่าไหลมาจากทุกทิศทางมาท่วมหมู่โจรทั้ง 11 คน ซึ่งต่างก็ร้องขอชีวิตและสัญญาว่าจะเลิกเป็นโจร หลังจากนั้นไม่นานน้ำป่าอันเชี่ยวกรากก็หายวับไปกับตา

ต่อมา เมื่ออายุ 59 ปี เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายทางโลก จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง และได้ร่วมธุดงค์กับหลวงปู่เอียด ธัมมปาโล วัดหนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งเป็นพระสงฆ์เรืองอิทธิฤทธิ์อันอเนกอนันต์ และท่านยังได้มาศึกษาสรรพวิชา-ไสยเวทย์วิทยาคม จากพระครูสังฆวิจารณ์ฉัตรทันต์บรรพต ปรมาจารย์ทองเฒ่า แห่งสำนักเขาอ้อ จ.พัทลุง

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าอธิการเรือง แห่งวัดป่าพยอม จ.พัทลุง, หลวงปู่หวาน แห่งวัดบ้านนา จ.พัทลุง, พระบริสุทธิ์ศีลาจาร (วัน มนโส) แห่งวัดประสิทธิชัย จ.ตรัง

ท่านก็ยังได้เดินทางไปศึกษาสรรพวิชาไสยเวทย์วิทยาต่างๆ ที่วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง กับหลวงปู่เล็ก ปุญญโก แห่งวัดประดู่เรียง จ.พัทลุง และพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม วัดดอนศาลา จ.พัทลุง

 

หลวงปู่แสงได้ดำรงขันธ์เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของชาวพุทธ ทั้งในพื้นที่จังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต สงขลา ตลอดจนชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ จวบจนถึง พ.ศ.2536 ท่านก็ได้มีอาการอาพาธเนื่องจากโรคชรา และต้องเหน็ดเหนื่อยจากการรับแขกจากทุกทิศ

หลวงปู่แสงยังได้จัดสร้างวัตถุมงคลหลายรุ่น ที่ล้วนมีประสบการณ์ลือลั่นอย่างกว้างขวาง

แต่หลังจากนั้นเพียง 2 ปี ด้วยสภาพสังขารที่ร่วงโรย หลวงปู่แสงได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อปี พ.ศ.2538 นำความโศกเศร้าแก่ศิษยานุศิษย์โดยทั่วกัน