คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ไปอินเดีย สืบเสาะหา “ซุ้ม” งานคเณศจตุรถี เก่าแก่ที่สุด

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมต้องขออภัยต่อท่านผู้อ่านเป็นอย่างยิ่งที่หายหน้าหายตาไปนาน ด้วยเพราะต้องไปธุระต่างประเทศติดๆ กัน รวมทั้งงานในราชการต่างๆ

แต่ไปอินเดียครานี้ก็ได้สิ่งละอันพันละน้อยมากำนัลแด่ท่านผู้อ่าน แม้ว่าจะไม่ใช่อะไรใหญ่โต แต่คิดว่าน่าจะพอเป็นของประดับความรู้ได้

ผมเคยเขียนว่า งานคเณศจตุรถีในอินเดียนั้น นอกจากจะเป็นเทศกาลทางศาสนาแล้ว ยังมีนัยทางการเมืองที่เข้มข้นด้วย

ที่จริงคนอินเดียจัดบูชาพระคเณศในเทศกาลคเณศจตุรถีกันโดยทั่วไปไม่ว่าจะภูมิภาคไหน เพราะเป็นงานบูชาพระขอฝน ขจัดอุปสรรคก่อนเพาะปลูก ซึ่งใครๆ ก็ทำ

มีการกล่าวถึงการบูชาพระคเณศในเดือนภัทรบท ว่ามีพราหมณ์ปรนนิบัติรับใช้ (ภทฺรปทมาสจตุรฺถฺยา พรฺาหมฺณาทิเสวิตมฺ) ในงานประพันธ์ของมุธุสวามิทิกษิตร์ ซึ่งเป็นคีตกวีชาวอินเดียใต้ในศตวรรษที่สิบแปด นอกจากนี้ ผมสอบถามพี่ๆ ชาวอินเดียภาคเหนือที่รู้จักกัน ท่านก็ว่าทางบ้านทำบูชากันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายเหมือนกัน

แต่การที่งานคเณศจตุรถีในรัฐมหาราษฎร์เป็นที่รู้จักมากที่สุดนั้น มิใช่เพราะความใหญ่โตของงานแต่เพียงอย่างเดียว ทว่าด้วยเหตุผลหลายประการ

กล่าวคือ

 

อย่างแรก เพราะรัฐมหาราษฎร์เป็นรัฐที่เป็นศูนย์กลางของนิกาย “คาณปัตยะ” หรือนิกายที่นับถือพระคเณศเป็นพระเจ้าสูงสุด นำโดยนักบุญโมรยา โคสาวี ในราวคริสต์ศตวรรษที่สิบสามถึงสิบเจ็ด

แสดงว่ารัฐมหาราษฎร์ได้กลายเป็นศูนย์กลางในการนับถือพระคเณศตลอดทั่วทั้งอินเดียอย่างแท้จริงมาหลายร้อยปีแล้ว

ประการที่สอง งานบูชาพระคเณศในเดือนภัทรบท ได้ถูกขยายให้กลายเป็นงานชุมนุมผู้คนระดับรัฐ ตั้งแต่ราว ค.ศ.1892-1893 นำโดยผู้นำการเรียกร้องเอกราชและนักชาตินิยมคนสำคัญท่านหนึ่ง คือท่านโลกมันยะ พาล คงคาธร ติลก (Lokmanya Bal Gangadhara Tilak) ทำให้งานบูชาซึ่งเดิมกระทำกันภายในครอบครัวหรือในชุมชน กลายเป็นงานรวมผู้คนอย่างมีนัยทางการเมือง

และนั่นทำให้คนแคว้นมหาราษฎร์ภูมิใจกับงานนี้มากว่า นอกจากงานคเณศจตุรถีจะเป็นงานที่ช่วยประสานความแตกต่างของชนชั้นวรรณะ ศาสนา เพศ วัยแล้ว ยังเป็นหลักฐานแสดงพลังของผู้คนธรรมดาๆ บนท้องถนนต่อการต่อต้านผู้รุกรานได้

ดังนั้น ไม่ว่าเราจะไปเที่ยวงานนี้ใน “ซุ้มพระ” (เรียกว่า มณฑล – Mandal) ไหน เราก็จะได้เห็นรูปท่านพาล คงคาธร ติลก ติดอยู่เสมอ

ที่จริงคนแถวนั้นเขาไม่ได้เรียกงานนี้ว่า “คเณศจตุรถี” อย่างที่ไทยเรานิยมเรียกนะครับ แต่เขามักเรียกด้วยความภูมิใจว่า “สรฺวชนิก คเณโศตสวะ” (Sarvajanik Ganeshotsva) คำนี้มาจากคำสวรชนิก คือผู้คนทั้งหลาย คเณโศตสวะ มาจากคำคเณศที่หมายถึงพระคเณศ บวกกับอุตสวะ ที่หมายถึงมหรสพ (คำเดียวกันกับ มโหตสวะ) หรือการเฉลิมฉลอง

ดังนั้น จะเรียกให้ตรงกับสปิริตของเขา คือ “เทศกาลพระคเณศของปวงชนทั้งผอง”

 

ครูไมเคิล ไรท์ เคยเขียนไว้ว่า พระคเณศท่านพระทัยดี ยินดีต้อนรับทุกผู้คนทุกชนชั้น ไม่ต้องถือพรตถือศีลให้วุ่นวาย ที่จริงการที่ท่านติลกเลือกเอางานนี้มาเป็นงานรวมผู้คน ส่วนหนึ่งก็ด้วยเหตุผลนี้แหละครับ

เทพฮินดูพระองค์ไหนจะเป็นที่รู้จักและเป็นที่รักอย่างกว้างขวาง ไม่จำกัดนิกายชนชั้นวรรณะเท่าพระคเณศเล่า

พองานนี้ไม่เพียงกระทำในครอบครัวชุมชนแล้ว ก็เลยต้องเอาพระออกมาข้างนอก ข้างท้องถนน หน้าบ้านเรือนห้างร้านหรือชุมชน กลายเป็นธรรมเนียมจนบัดนี้

ในบรรดาซุ้มพระที่มีจำนวนนับพันนับหมื่นทั่วทั้งแคว้นมหาราษฎร์นั้น ต่างมีเอกลักษณ์หรือประวัติความเป็นมาโดดเด่นต่างกันไป ใครไปมุมไบต่างก็ใฝ่ฝันจะไปเยือนซุ้มลาลบาคจา ราชา (Lalbagcha Raja) สักครั้งหนึ่ง หรือหากไปปูเน่ ใครๆ ต่างก็มุ่งไปยังองค์ทัคฑูเศฐ (Shrimant Dugdhushet Ganapati) ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะงดงามสุดบรรยาย จนคนไปใส่สีตีไข่ว่านี่คือพระคเณศมหาเศรษฐีที่ใครไปไหว้ก็จะเป็นมหาเศรษฐีเช่นกัน

โดยลืมไปว่าตัวเองจะไปไหว้พระหรือไหว้ทองที่หุ้มองค์พระจนความโลภครอบงำกันแน่

แต่ในบรรดาซุ้มทั้งหลาย ซุ้มที่เก่าที่สุดนั้นอยู่ที่ไหน

 

ผมเจอบทความชื่อ “Before Bappa leaves for his abode, visit oldest Ganapati Mandals of the city” แปลว่า “ก่อนท่านพ่อ (พระคเณศ) จะเสด็จกลับเทวโลกของท่าน จงไปเยือนซุ้มพระที่เก่าแก่ที่สุดในเมือง” ในหนังสือพิมพ์ Pune Times ฉบับวันที่ 21 กันยายน 2561 โดยกล่าวถึงซุ้มพระที่เก่าแก่ที่สุดในปูเน่ ซึ่งอาจหมายถึงซุ้มพระที่เก่าแก่ที่สุดในงานนี้นับแต่เป็นงานระดับรัฐด้วย

ในบทความนี้กล่าวว่า มีซุ้มที่เก่าแก่ที่สุดอยู่สองซุ้มคือ ซุ้มแรกได้แก่ ภาอู รังคารี มณฑล “Bhau Rangari Mandal” คุณ Bhau Javale เป็นเจ้าของธุรกิจส่าหรีของครอบครัวในชื่อ “Bhau Rangari” โดยซุ้มนี้อ้างว่า ได้เริ่มต้นจัดซุ้มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1892 ในขณะที่ท่านโลกมันยะเริ่มงานนี้ในปี 1893

เอกลักษณ์ของซุ้มนี้คือสร้างพระคเณศในลักษณะกำลังปราบอสูร โดยในแต่ละปีจะทำเทวรูปในลักษณะเดิมมาตลอด 126 ปี ซึ่ง Ashish Phadnis กล่าวในบทความชื่อ Meet Pune”s most revered Ganeshas and people”s “Manache Ganpati” ของหนังสือพิมพ์ Hindustan Times ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2560 ว่า อสูรนั้นหมายถึง “ชาวอังกฤษ” ดังนั้น จึงชัดเจนว่างานนี้มีนัยทางการเมืองอย่างแน่นอน

ส่วนอีกซุ้มคือ กัสพา คณปติ (Kasba Ganapati) ซุ้มพระกัสพาคณปติ เป็นหนึ่งในซุ้มที่เรียกว่า Manache Ganapati หรือซุ้มพระคเณศในดวงใจผู้คนอันเป็นที่เคารพอย่างสูง ซึ่งมีอยู่ห้าซุ้ม

ที่จริงพระกัสพาคณปติเป็นชื่อของพระคเณศองค์หนึ่งที่ชาวปูเน่นับถือเป็น “ครามเทวตา” หรือเทพประจำหมู่บ้าน โดยมีการเคารพเทวรูปพระคเณศกัสพาเป็นเวลาประมาณสี่ร้อยปีมาแล้วนับตั้งแต่สมัยผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ ฉัตรปตี ศิวาจี มหาราชเทวสถานของพระองค์ถูกสร้างขึ้นโดยพระราชมารดาของพระองค์

เทวสถานของพระกัสพาก็ได้ทำซุ้มพระเพื่อเฉลิมฉลองมาตั้งแต่ปี 1892 เช่นกัน ซุ้มนี้ไม่ได้เน้นความยิ่งใหญ่อลังการขององค์พระ แต่เน้นการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการศึกษาเป็นสำคัญ

 

ในปีแรกที่จัดงานนั้น (1893) มีเพียงเทวรูปสามองค์ในงานที่แห่ จากซุ้ม Sardar Krushanji Khasagiwale ซุ้ม Ganesh Narayan Ghotawadekar และซุ้ม Bhausaheb Rangari. โดยมีซุ้ม Sardar Krushanji Khasagiwale แห่เป็นซุ้มแรก

ในปีถัดมาคือ 1894 มีซุ้มและเทวรูปเพิ่มขึ้นเกือบ 100 องค์ ท่านพาล คงคาธร ติลก จึงตัดสินใจให้พระคเณศจากซุ้ม “กัสพาคณปติ” เป็นองค์แรกในการแห่ องค์อื่นๆ ทั้งหมดจึงจะออกแห่ตามได้ ซึ่งสะท้อนความสำคัญของซุ้มที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับแคว้นมหาราษฎร์โดยเฉพาะ

เดี๋ยวนี้คนไทยไปร่วมงานนี้เยอะมากๆ ครับ แต่ไปทีไรก็มักไม่ค่อยสนใจกับประวัติศาสตร์ และแง่มุมทางการเมืองสังคมของงานนี้เท่าไหร่ ผมอยากจะชี้ชวนให้สนใจแง่มุมเหล่านี้บ้างครับ

มิฉะนั้น ไปทีไรก็เอาแต่ “เฮงๆ รวยๆ” แล้วกลับมาอย่างน่าเสียดาย

เพราะไม่ได้ “ความรู้” อันเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐอย่างหนึ่งในคติอินเดียเขา