เพ็ญสุภา สุขคตะ : 84 ปี “อินสนธิ์ วงค์สาม” บั้นปลายของศิลปิน (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

อะไรที่ยังไม่ได้ทำ วันนี้จงรีบทำเถิด

หรือถ้าจะพูดด้วยสำนวนม็อตโตแบบเท่ๆ ตามอย่างศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็คงต้องกล่าวเป็นวาจาอมตะว่า

“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” หรือ

“ศิลปะยืนยาว…ชีวิตสั้น” นั่นเอง

คุณลุงอินสนธิ์ วงค์สาม ก็เช่นกัน ในวัย 84 ปีวันนี้ มีสิ่งใดบ้างที่คุณลุงยังไม่ได้ทำ แต่เคยมีความฝันว่าอยากจะทำ

“ลุงอยากพัฒนาหอศิลป์อุทยานธรรมะให้ครบวงจร มีห้องประชุมสัมมนา มี Cafeteria ต่อไปอาจมีการฉายวีดิทัศน์บรรยายสรุปก่อนนำชมให้นักศึกษาดู ตอนนี้ลุงกำลังสร้างโรงเก็บเศษไม้ แทนที่จะปล่อยไม้จำนวนนับพันท่อนให้เรี่ยราดคาพื้นหรือพิงฝาตามห้องนู้นห้องนี้”

เราพูดคุยกันไป เดินดูสภาพจริงของอาคารต่างๆ ที่คุณลุงกำลังเร่งให้คนงานก่อสร้างแต่งเสริม ขยายเติมขึ้นมาใหม่ในเขตด้านทิศตะวันตกบนพื้นที่ของหอศิลป์อีกหลายหลัง

ทำไมคุณลุงจึงอยากมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง ไม่กลัวขาดทุนดอกรึ แค่เครื่องปั่นกาแฟอย่างดีก็ราคาเป็นแสนแล้ว แถมสถานที่ก็ตั้งอยู่ลึกมาก?

“ลุงอยากทำให้หอศิลป์แห่งนี้มีลักษณะเป็นสากล เรื่องค่าเข้าชม ยุคป้าแหม่มก็เก็บบ้างไม่เก็บบ้าง พอไม่เก็บก็อยู่ไม่ได้ เพราะเราเลี้ยงน้ำมะตูม น้ำกระเจี๊ยบ เลี้ยงข้าวต้มมัดแก่แขกผู้มาเยือน พอเก็บคนก็ด่า ตอนนี้ป้าแหม่มไม่อยู่แล้ว การจะให้ลุงมาบริหารจัดการเรื่องค่าเข้าชมหอศิลป์ตรงนี้ก็เป็นเรื่องยาก ตามสไตล์คนไทยที่ชอบของฟรี มักขอยกเว้นค่าธรรมเนียม ซึ่งลุงก็ไม่ว่ากัน ไม่ซื้อตั๋วค่าเข้าชมก็ได้ แต่อาจช่วยอุดหนุนค่าน้ำชากาแฟ ข้าวหนมข้าวต้มบ้างก็ยังดี เอาไว้เป็นกองทุนสวัสดิการเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนงาน ซึ่งแต่ละวันลุงต้องจ้างคนงานมากกว่า 30 ชีวิต”

“อีกอย่างคือ Cafeteria นี่ ลุงจะใช้เป็นร้านขายของที่ระลึกแบบเป็นกิจจะลักษณะด้วย เพราะทุกวันนี้แผ่นพับ หนังสือสูจิบัตร ย่าม ผ้าพันคอ เสื้อยืด พวงกุญแจ ของ Souvenir ทั้งหลาย กระจายวางอยู่ตามห้องจัดแสดงต่างๆ ไม่มีระบบระเบียบ ลุงอยากทำเหมือนเมืองนอก ให้จุดนี้เป็น One Stop Service ก่อนไปจุดอื่นๆ และสามารถปรับเป็นห้องประชุมสัมมนาเล็กๆ ได้อีกด้วย เวลามีกิจกรรมพิเศษ”

ซึ่งเราก็หวังใจว่าอาคาร Cafeteria หรือศูนย์ Information แบบอเนกประสงค์หลังนี้คงสร้างและตกแต่งแล้วเสร็จทัน “งานไหว้ครูศิลปะ” ที่คุณลุงจัดขึ้นทุกปี และปีนี้จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน 2561 พร้อมรองรับผู้ร่วมงานประมาณ 100 คน

โดยเฉพาะช่วงบ่ายวันนั้น เราวางแผนไว้แล้วว่า จะเปิดเวที “ศิลป์เสวนา” แบบสบายๆ ในช่วงบ่าย ว่าด้วยหัวข้อ “น้ำแม่ทา เวียงป่าซาง พระญากาวิละ และคนยอง”

 

ทองคำแท้-หินอ่อน
ท้าทายกระตุ้นต่อมอาร์ติสต์

เรื่องเทคนิควัสดุนั้น คุณลุงอินสนธิ์บอกว่า ไม่ต้องมาคุยเรื่องนี้กับลุง เพราะ

“หัวจิตหัวใจของลุงนั้น ก็รู้ๆ กันดี ว่าง่วนอยู่แต่กับการคัดเลือก สรรหา พิสูจน์ ทดลอง ใช้วัสดุและกรรมวิธีแปลกใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่ง”

จริงของคุณลุง ท่านสร้างงานศิลปะมาหมดแล้วทุกแนว ไม่ว่าภาพพิมพ์ไม้ พิมพ์โลหะ พิมพ์หิน หล่อโลหะ ทองแดง ทองเหลือง ไฟเบอร์ Metal ทุกชนิด ไม้แกะสลักทุกเนื้อไม้ ไม้อ่อน ไม้แก่ ไม้ตาย ไม้ด้าน ซากตอ นูนต่ำ นูนสูง ลอยตัว จิตรกรรมสีน้ำ สีน้ำมัน อะครีลิก ชาร์โคล สีชอล์ก สีฝุ่น ปิดแผ่นเงิน ปิดแผ่นทองคำเปลว สารพัดงานประยุกต์ศิลป์ เพนต์ย่าม เพนต์เสื้อ เพนต์เสื่อ เพนต์พรม เพนต์ร่ม บลา บลา บลา…

“ปีสองปีมานี้ งานแนวใหม่ของลุงที่กำลังสนุกอยู่ คือการใช้เท้าเขียนรูป แบบที่เรียกว่า “Footing Expressionist” เป็นการสำแดงพลัง ได้ระบายอารมณ์แบบสุดสุดเลย บางชิ้นใช้ข้อศอก ใช้หัวเข่า ใช้ส้นเท้า บดขยี้ก้อนสีแบบดิบๆ บนผืนผ้าใบ กดกระแทกสีเสร็จครั้งหนึ่งก็ต้องรีบล้างเท้า แล้วบีบอัดสีใหม่อีก มันส์หยดมากๆ งานนี้ลุงขอร้องเลย ว่าให้ย้ายพู่กันกับจานสีไปห่างๆ”

คุณลุงพูดประหนึ่งคนหนุ่มที่อยู่ในวัย 48 หาใช่ 84 ไม่

“เอาจริงๆ นะหนูเพ็ญ งานที่ลุงฝันอยากทำมากที่สุดในชีวิต คือ “หล่อทองคำ” (ทองแท้ๆ 100%) นะ แบบยุคหม่อน (เจ้าน้อยวงค์) หรือยุคพ่อ (เจ้าหนานหมื่น) ของลุง คนยุคก่อนได้ทำงานวิจิตรประณีต ได้สัมผัสทองคำแท้ๆ ที่ไม่ผสม แต่ยุคนี้ทองคำแท้ราคาพุ่งสูงมาก และหาทองคำบริสุทธิ์ยากมาก หากลุงได้หล่อทองคำล้วนๆ จริงๆ ลุงคงมีความสุขมาก เพราะมันเป็นวัสดุที่สวยงาม มีคุณค่าและน่าหลงใหลมากที่สุด แต่รูปแบบการหล่อของลุงย่อมต่างไปจากยุคบรรพบุรุษนะ ไม่ได้เอาทองคำมาเจียระไนเป็นเครื่องประดับ ทำพระพุทธรูป หรือทำตัวเปิ้ง 12 ราศี แต่ลุงอยากเอาทองคำมาทำงานศิลป์ร่วมสมัยตามสไตล์ลุง”

วัสดุอีกประเภทหนึ่งซึ่งต้องถือว่า “ท้าทาย” ไฟปรารถนาของคุณลุงอย่างมาก ก็คือ “การแกะสลักหินอ่อนสีเขียวจากอิตาลี”

“พอดีมีบริษัทนำเข้าหินอ่อนคุณภาพเยี่ยมระดับโลกจากเมือง Carrara ประเทศอิตาลี บริษัทนี้ตั้งอยู่ที่เชียงราย เจ้าของบริษัทเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบด้านศิลปะมาด้วย คุณพ่อของเธอรู้จักกันดีกับลุง ลุงจึงลองสั่งวัสดุประเภทนี้มาแกะสลักงานศิลปะดูบ้าง ก็ถือว่าไม่ง่ายนัก ท้าทายเอาเรื่องทีเดียว”

นี่ก็คือการอัพเดตแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปกรรมของคุณลุงมาให้ทุกท่านรับทราบความเคลื่อนไหวพอหอมปากหอมคอ

 

อย่าเหงาเลยยามชรา
ชวนเพื่อนศิลปินรู้ใจมาปลูกบ้าน

เหงาไหมเมื่อไร้เงาป้าแหม่ม?

“ลึกๆ ลงถึงก้นบึ้งดวงใจนั้นทุกคนย่อมเหงาแน่นอน ยิ่งคนเคยอยู่ด้วยกันนานถึง 40 ปีต้องจากไป แต่ชีวิตลุงทั้งชีวิต พยายามเดินตามรอยอาจารย์ศิลป์ ที่สอนว่า “เฮ้ นาย ชีวิตนี้ พระเจ้าไม่ได้ให้เราเกิดมาเพื่อนั่งเหงาหรอกนะ นายต้องหยิบเอาความเหงาไปร่ำระบายลงในงานศิลปะ” ลุงจึงบำบัดความทุกข์ โศก เศร้า เหงา ซึม ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องการสูญเสียป้าแหม่ม แต่กับทุกๆ เรื่องเลวร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของลุง ด้วยการทุ่มเทเวลา ทุกเสี้ยวนาทีสร้างงานศิลปะเท่านั้น”

คุณลุงเป็นคนที่มีวินัยในการกิน การนอน การตื่น การทำงาน จัดโปรแกรมวางแผนชีวิตค่อนข้างชัดเจนไม่เลื่อนลอย เหมือนถอดแบบมาจากอาจารย์ศิลป์

นอกเหนือไปจากอาการเจ็บคอไอค่อนข้างบ่อย และเป็นเส้นเลือดขอดที่ขาสองข้างแล้ว โดยรวมสุขภาพของคุณลุงก็ยังแข็งแรงสมบูรณ์ หูตาไม่ฝ้าฟาง เสียงดังฟังชัด มือไม่สั่น คางไม่สั่น พูดไม่สั่น ไม่เป็นพาร์กินสัน ถือว่ามีความสุขตามอัตภาพน่าพอใจระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับวัยของท่านที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 7 รอบ

“แต่ตอนนี้ลุงกำลังจะสร้างบ้านพักเพิ่มขึ้นอีก 2 หลัง ในบริเวณด้านทิศตะวันตก ตรงพื้นที่เรือกสวนไร่นา ค่อยๆ ขยายออกไป สำหรับเพื่อนศิลปิน 2 คนให้มาอยู่ด้วยกัน คนแรกเรียนรุ่นเดียวกันชื่อ “พนม สุวรรณสิงห์” ทุกวันนี้เขาอยู่ที่แม่ฮ่องสอน เขาก็เปรยๆ ว่าอยากย้ายมาอยู่ด้วยกันแถวลำพูน-เชียงใหม่ เพราะแม่ฮ่องสอนค่อนข้างโดดเดี่ยว หรืออาจไปๆ มาๆ ระหว่างลำพูน-แม่ฮ่องสอนก็ยังดี อย่างน้อยยามแก่ตัวได้มีเพื่อนรู้ใจคุยกันบ้าง

ส่วนอีกคนเป็นประติมากรอิสระ เป็นคนหนุ่มกว่าลุงร่วม 20 ปี เขาไม่ได้จบรั้วศิลปากร ชื่อ “ประทักษ์” เขาศรัทธาลุงมาก งานศพป้าแหม่มเขาก็มานอนเป็นเพื่อนลุงร่วมสัปดาห์ งานไหว้ครูเขาก็มาทุกปี ผลงานประติมากรรมเขาเยอะมาก เป็นคนขยันทำงาน ลุงก็ชวนประทักษ์ว่า บั้นปลายชีวิต มาพักอยู่กับลุงด้วยกันก็ได้ที่ป่าซางนี่ เขาก็สนใจอยู่”

เป็นไงบ้างคะท่านผู้อ่าน “มหากาพย์อัตชีวประวัติ” เรื่องราวหฤโหดหรรษ์ของ “ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี 2541” นาม “อินสนธิ์ วงค์สาม” ความยาวทั้งหมด 6 ตอนผู้นี้ เชื่อว่าผู้อ่านอ่านแล้วคงต้องอุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า

“โห! อะไรกันนี่ คุณลุง ชีวิตจริงยิ่งกว่าละครโศกนาฏกรรมซะอีก”

สุดท้ายนี้ขอให้ฝันของคุณลุงที่ใฝ่จะไขว่จะคว้า จักนฤมิตโลกแล้งร้ายและโฉดทรามให้งามงดด้วยพลังศิลปะ จงสัมฤทธิผลทุกประการเทอญ

รักนะ จุ๊บจุ๊บ!!