ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
สุจิตต์ วงษ์เทศ
อินเดียแผ่ถึงไทย
พ่อค้าก่อนนักบวช
นาค, พริก เป็นคำชุดแรกๆ
อินเดีย-เปอร์เซีย-อาหรับ กับไทย (ตั้งแต่ยังไม่ไทย) ติดต่อแลกเปลี่ยนกันราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.500
[เปอร์เซีย, อาหรับ อยู่บริเวณปัจจุบันเรียกตะวันออกกลาง เป็นแอ่งอารยธรรมเก่าแก่ของโลก มีวัฒนธรรมแพร่เข้าไปเป็นส่วนสำคัญของอินเดีย ต่อไปจะเรียกรวมๆ ว่าวัฒนธรรมอินเดีย]
คำบอกเล่าในรูปตำนานพงศาวดารของบ้านเมือง ระบุชัดเจนว่าพ่อค้าเข้าถึงอุษาคเนย์ก่อนนักบวช วัฒนธรรมชุดแรกๆ จึงไม่ใช่ศาสนา
พบหลักฐานโบราณคดีจำนวนมาก ที่เป็นพยานว่ามีชุมชนคนอินเดียอยู่ในไทยบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง ลงไปถึงภาคใต้ อันเป็นที่รับรู้ทั่วไปในหมู่นักค้นคว้านักวิชาการทั้งไทยและนานาชาติ
ภาษาและศิลปวรรณกรรม
ภาษาและศิลปวรรณกรรมสมัยดั้งเดิมเริ่มแรกถูกสร้างขึ้นจากรากฐานของศาสนาผี มีความเชื่อเรื่องขวัญตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงหลุมฝังศพ (ยังไม่มีเชิงตะกอนในพิธีเผาศพ)
ครั้นหลังรับศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์ จึงถูกหล่อหลอมให้เชื่อเรื่องวิญญาณการเวียนว่ายตายเกิด จนในที่สุดขวัญกับวิญญาณก็ปนกัน เช่น พิธีศพเก็บไว้นานหลายวัน มีเหตุจากความเชื่อเรื่องขวัญ แต่ถูกอธิบายเป็นวิญญาณ
คำพูดในชีวิตประจำวันและนิทาน (คำบอกเล่า) น่าจะเป็นภาษาและวรรณกรรมแรกสุดจากอินเดีย เข้าถึงคนพื้นเมืองในวงกว้างที่ไม่จำกัดเฉพาะนักบวชและนักปราชญ์ราชสำนักอุษาคเนย์ รวมทั้งไทย (ตั้งแต่ไม่ไทย)
บอกไม่ได้ว่าภาษาแรกสุดกับวรรณกรรมแรกสุดคืออะไร? เพราะไม่เคยพบหลักฐาน และไม่มีวันหาพบ
แต่คาดคะเนจากหลักฐานแวดล้อมน่าจะเป็นคำว่า นาค และคำบอกเล่าเกี่ยวกับนาค (มีในมหาวงศ์พงศาวดารลังกา เชื่อว่าพระสงฆ์ชาวสิงหลแต่งในลังกา ราวเรือน พ.ศ.1000 แล้วยังมีในนิทานเรื่องอื่นๆ อีกซึ่งแต่งในอินเดียใต้)
นาค
นาค เป็นที่รับรู้ในหมู่คนอุษาคเนย์สมัยนั้น ว่าหมายถึง คนมีบุญ, คนมีอำนาจ โดยสังเกตจากการใช้ในพิธีกรรม
คนมีบุญ ดูจากเรียกผู้ชายโกนหัวในพิธีบวชเป็นสงฆ์ ว่า นาค หรือ บวชนาค
คนมีอำนาจ ดูจากใช้เรียกผู้หญิง ที่เป็นใหญ่ในพิธีกรรมว่า นางนาค หรือ แม่นาค
พ่อค้าอินเดียที่เดินทางติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคนพื้นเมือง แล้วเรียกคนอุษาคเนย์ว่า นาค เป็นคำเรียกเชิงดูถูกเหยียดหยามว่าคนพื้นเมืองล้าหลังทางวัฒนธรรม เพราะนาค แปลว่า เปลือย หรือคนเปลือย (แก้ผ้า) มีรากจากภาษาละตินว่า นอค
มีเหตุจากพ่อค้าอินเดียกลุ่มแรกๆ เมื่อเห็นคนพื้นเมืองทั้งหญิงชายเปลือยเปล่า นุ่งผ้าเตี่ยวชิ้นน้อยผืนเดียวห่อหุ้มอวัยวะเพศ โดยไม่มีผ้านุ่งและห่มคลุมเหมือนชาวชมพูทวีป จึงเรียกคนพวกนี้ว่า นาค
หลังจากนั้นคำว่า นาค ก็เลื่อนไปหมายถึงงูใหญ่ ที่แปลงกายเป็นคนก็ได้ ซึ่งมีฤทธิ์เดชมีอำนาจมาก “กำจัดคนพาล อภิบาลคนดี” และเนรมิตธรรมชาติ เช่น คุ้ยควักแผ่นดินแตกร่องเป็นแม่น้ำโขง, แม่น้ำมูล, แม่น้ำชี, หนองหานหลวง, หนองหานน้อย
พริก
คําเก่าจากอินเดียถึงไทยอีกคำหนึ่ง ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนหมู่มาก น่าจะได้แก่ พริก (หมายถึงพริกไทยตั้งแต่แรก)
เป็นคำยืมจากภาษาบาลี-สันสกฤต ผ่านตระกูลมอญ-เขมร ว่า เมฺรก แล้วกลายเสียงและรูปเป็นพริกในทุกวันนี้
[ผู้รู้ภาษาศาสตร์บอกว่าเพราะเสียง ม ควบ ร กลายได้เป็นเสียง ป และ พ]
ศาสนาท้องถิ่น
ศาสนาจากอินเดียกระตุ้นให้อุษาคเนย์และไทย มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม, การเมืองและเศรษฐกิจ, รวมถึงภาษาและศิลปวรรณกรรม
อุษาคเนย์ดั้งเดิมเริ่มแรกเชื่อในศาสนาผี ต่อมาอีกนานมากเมื่อรับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย ก็ประสมประสานปรับเปลี่ยนเป็นศาสนาท้องถิ่นที่มีหลักการของศาสนาผีเป็นสำคัญ แล้วประดับประดาคลุมเคลือบด้วยสิ่งละอันพันละน้อยของศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์
ศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์ ต้องฟักตัวอีกนานในอุษาคเนย์ กว่ากลุ่มคนชั้นนำสมัยนั้นจะยอมรับอักษร, ภาษา, ศิลปวรรณกรรมจากอินเดีย ได้แก่ ชาดก, ไตรภูมิ, รามายณะ, มหาภารตะ