หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘สาระ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กระทิง - ฤดูฝนทำให้รอบๆ โป่งสมบูรณ์ กระทิงจะไม่ไปไหนไกล

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

 

‘สาระ’

 

ช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีก่อนหน้านี้

ในยุคที่เรายัง “อ่าน” บนกระดาษ ความเดือดร้อนประการหนึ่งของผมและคนทำงานในป่าอีกหลายๆ คนคือ หนังสือที่มีอยู่ถูกอ่านจนหมดแล้ว แม้ว่าจะอ่านซ้ำไปมา หนังสือพิมพ์ซึ่งซื้อมาตั้งแต่วันเข้าป่า อาจเป็นฉบับสองสัปดาห์ก่อน เราก็อ่านแล้วอ่านอีก

พูดก็พูดเถอะ ฉลากข้างขวดน้ำปลา ขวดเครื่องปรุงเหล่านั้น เราก็ไม่เว้น

หลายครั้ง ผมเตรียมหนังสือเข้าไปจำนวนมาก แต่หลายครั้งเช่นกันที่ไม่พออ่าน เพราะงานไม่เสร็จ หรือออกจากป่าไม่ได้ เพราะฝนตกไม่หยุด ลำห้วยมีระดับน้ำสูง ไหลแรงเกินกว่าจะข้ามได้

อีกทั้งเมื่อพบเจอบรรยากาศแบบฝนตกหามรุ่งหามค่ำ ติดอยู่ในแคมป์ หรือในหน่วยพิทักษ์ป่า ดูเหมือนนี่คือบรรยากาศอันเหมาะสมกับการอ่านหนังสือมาก กระทั่งมีหนังสือเท่าไหร่ก็ไม่พอ

หนังสือช่วยได้กับการทำงานในป่านานๆ

การพูดคุยสนุกสนาน เฮฮา มีในวันแรกๆ หลังจากนั้น คนมักมีอาการต่างๆ

ส่วนใหญ่เลือกนิ่งเงียบ นั่งดูน้ำ ดูดวงจันทร์

บางคนพูดคนเดียว บางคนเลือกพูดกับต้นไม้

ส่วนด้วง ผู้ช่วยนักวิจัย ผู้เงียบขรึม พอใจกับการนั่งดูมด

เข้าเมืองซื้อหนังสือใหม่ คือการบำบัดอย่างหนึ่ง

“ข้ออ้าง” อันดีที่สุดคือ เสบียงหมด

 

แม้ว่าในช่วงฤดูฝน การเข้าเมืองจะมีความยุ่งยากไม่น้อย การเดินทางกับเส้นทางเละๆ ลื่นไถล หรือน้ำในลำห้วยไหลหลาก ไม่ง่ายนัก

ข้ออ้างเสบียงหมด ใช้ได้ผล ทั้งที่ว่าตามจริง อยู่ในป่ามีเพียงข้าวสาร น้ำปลา พริก การกินก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร

แต่ไอติมกะทิใส่ข้าวเหนียว หรือกล้วยทอดเจ้าอร่อยนั่นแหละที่เรานึกถึง

เมือง ซึ่งคล้ายเป็นเมืองหลวง เป็นบรรยากาศเมืองเล็กๆ แต่มีของทุกอย่างครบ

หลังทำธุระต่างๆ เสร็จเรียบร้อย ก่อนกลับเข้าป่า เราจะแวะร้านขายหนังสือ

ร้านขายหนังสือตามเมืองเล็กๆ มีสภาพคล้ายๆ กัน นอกจากมีหนังสือพิมพ์รายวันประเภทหัวสีแล้ว นอกนั้น นิตยสารรายปักษ์ รายเดือน รายสะดวก มักเป็นเรื่องพระ รวมทั้งแนวปลุกใจ แต่หนังสือส่วนใหญ่ที่ขายดีและมีมาก เป็นเรื่องราวของคนในวงการบันเทิง หรือเรื่อง “แฉ” โดยช่างภาพแนวปาปารัซซี่

หนังสือประเภทนี้มีอยู่มาก เราก็ซื้อไปมากเช่นกัน

“แก้เบื่อ ตอนรอเสือครับพี่” คนซื้อหลายๆ เล่มอ้าง

การ์ตูนขายหัวเราะ มหาสนุก หนูหิ่น เหล่านี้ เราซื้อไปเวียนกันอ่าน

 

งานวิจัย หรืองานลาดตระเวนในป่า คล้ายจะสนุก ซึ่งก็เป็นงานที่สร้างความสุขให้ไม่น้อย

แต่เมื่อต้องทำเรื่องเดิมๆ ทั้งปี เพื่อข้อมูลอันถูกต้อง

แบบนี้ ขายหัวเราะ และหนังสือแฉๆ ช่วยได้บ้าง

“เราเห็นกระทิง เห็นวัวแดง หรือกวางกินหญ้าระบัดทั้งวันแล้วจะสรุปว่า พวกสัตว์มันชอบระบัดเลยไม่ได้หรอกครับ” นักวิจัยบอก

“ต้องเฝ้าดูเป็นปีๆ อย่างต่อเนื่อง ดูว่า นอกจากระบัดแล้ว พวกมันกินอะไรอีก ส่วนใหญ่เราพบว่าสัตว์คงไม่ได้ชอบอะไรมากกว่ากันหรอก สัตว์กินอาหารที่มีตามฤดูกาลมากกว่า”

ในช่วงเก็บข้อมูล ตื่นตั้งแต่ตีสาม เดินออกจากแคมป์ ตามสัตว์ที่กำลังติดตาม จดบันทึก กลับแคมป์พลบค่ำ คือเรื่องปกติ

การติดตามสัญญาณวิทยุที่ติดอยู่กับสัตว์เช่นกัน

ทีมต้องแยกกันอยู่คนละสันเขา เริ่มจับสัญญาณพร้อมกันตั้งแต่ตีห้า ทุกครึ่งชั่วโมง ทำเช่นนี้ทุกวัน ตลอด 15 วัน หรือหนึ่งเดือน

ข้อมูลดิบที่ได้ เมื่อนำมาวิเคราะห์ ต้องมีความผิดพลาดน้อยที่สุด

โดยเฉพาะกรณีผิดพลาดโดยคนไม่ควรเกิดขึ้น แม้ว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีจะช่วยให้งานง่ายและละเอียดมากขึ้น

คนก็ต้องละเอียดมากขึ้นด้วย

ขายหัวเราะ รวมทั้งเรื่องราวของนักแสดงสาวๆ ในเมืองหลวง ก็ยังคงจำเป็น

 

ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ หากคนในป่าจะ “รู้ดี” ว่า เหล่านักแสดงทั้งหลายนั้น ตอนนี้คบหากับใคร รักกัน เลิกกัน ไม่ชอบหน้ากัน เรารู้ราวกับอยู่ในกลุ่มพวกเขาทีเดียว

อุปกรณ์อย่างไฟฉายคาดหัว ช่วยในการอ่านหนังสือบนเปล ใต้ผ้ายาง ในค่ำคืนที่ฝนกำลังตกหนักได้

เปลชนิดมีมุ้ง กันแมลงที่เข้ามาตอมไฟได้ระดับหนึ่ง แต่หลบไม่พ้นพวกตัวจิ๋วๆ

ว่าไปแล้ว คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราชอบอ่าน

เพราะคนชอบรู้เรื่องราวคนอื่น คนมีชื่อเสียงยิ่งดูเป็นที่อยากรู้ของคนอื่นๆ

ทั้งๆ ที่บางครั้งเราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า คนบางคนทำอะไร

มีชื่อเสียง หรือเป็นที่รู้จักได้อย่างไร

 

ในสถานีวิจัยสัตว์ป่า หรือหน่วยพิทักษ์ป่ากลางป่าลึก ไม่ใช่ “แดนกันดาร” แล้ว

มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ณ มุมใดของโลก คนที่นี่ก็รู้พร้อมกับคนในเมือง

งานวิจัยนั้นทำควบคู่ไปกับงานป้องกันรักษาสัตว์ป่า รวมถึงแหล่งอาศัยของพวกมัน

หลายครั้งมีสัตว์ป่าถูกฆ่าตายขึ้นอืด

 

ปัญหาของคนดูแลป้องกันสัตว์ป่าคือ มีผู้ลักลอบเข้ามาฆ่าสัตว์ รวมทั้งบุกรุกทำลายพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ

ส่วนปัญหาของผู้ต้องดูแล “คน” คือ มีประชากรเพิ่ม ความต้องการขยายพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์มากขึ้นทุกวัน พื้นที่อันเป็นแหล่งอาศัยของชีวิตในป่าหดแคบลงเรื่อยๆ

คนจึงแสดงบทบาทของแต่ละคน

เราทุกคนต่างล้วนเป็นนักแสดง

 

ถึงวันนี้ เมืองชายป่า แทบหาแผงขายหนังสือไม่ได้

หนังสือประเภทต่างๆ ที่เคยมีเกลื่อนแผง หายไป

ไม่มี “ข้ออ้าง” เข้าเมืองเพื่อซื้อเสบียง แต่จริงๆ คือซื้อหนังสือ

ในป่า เราไม่ได้อ่านน้อยลง เพียงแต่ไม่ได้อ่านบนกระดาษ

คนทำงานในป่า ก็ไม่ต่างจากคนในเมือง อยู่บนสันเขา ในหน่วย ใต้ต้นไม้ ต่างก้มหน้าก้มตากับสมาร์ตโฟน

มีสัญญาณอยู่แทบจะทุกพื้นที่

ไม่ต้องนั่งดูน้ำ ดูดวงจันทร์ หรือคุยกับมด

เรายังคงอ่านเมื่อมีเวลาว่าง

“อ่าน” เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองอย่างละเอียด

อ่านอย่างพยายามหาให้พบว่า “สาระ” อยู่ที่ใด