ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์ |
เผยแพร่ |
ศึกชิงหัวหน้าพรรค-ทำอุณหภูมิร้อนในประชาธิปัตย์ (ปชป.)
อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. หมายเลข 1 มองว่า คนอาจจะสนใจการแข่งขัน ว่าใครจะแพ้ ใครจะชนะ ธรรมดามีคนวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา ห่วงว่าจะมีแนวโน้มขัดแย้งหรือไม่ แต่ตัวผมมองเห็นอีกมุมหนึ่งซึ่งไม่ได้เห็นมานาน คือภาพที่คนเดินเข้ามาที่พรรค เพื่อมาสมัครสมาชิก
บางคนก็มองว่าเลือกพรรคนี้มานาน แต่ไม่เคยคิดจะเป็นสมาชิก เพราะไม่รู้ว่าจะมีส่วนอะไร
แต่วันนี้ขอมาสมัครเพื่อที่จะได้เลือกหัวหน้าพรรค
ผมเห็นความคึกคักตื่นตัวหลังจากลงพื้นที่หลายจังหวัด
คนตื่นเต้นว่ามีสิ่งใหม่กำลังเกิดขึ้นและเขาได้เป็นเจ้าของพรรคจริงๆ
: คนนอกมองยังไง “อภิสิทธิ์” ก็นอนมา
ผมไม่คิดว่าจะมีใครชนะแบบนอนมา เพราะผมเห็นผู้สมัครทั้ง 2 ท่านเอาจริงเอาจังกับการเดินสายหาคะแนน ผมไม่ประมาทเลย และทราบดีว่าการที่จะไปขอคะแนนเสียงไม่ว่าในสถานการณ์ไหนไม่ง่าย
แม้ผมเข้าสู่เวทีเลือกตั้งมา 26 ปีแล้ว ทุกครั้งผมรู้ดีว่าทุกคะแนนเสียงได้มาด้วยความยากลำบาก เพราะว่าเขาจะต้องตัดสินใจและพิจารณาให้ดี เราจะไปอยู่ในฐานะที่จะบอกว่าคนนั้นคนนี้จะเลือกเราแน่ ไม่ได้ครับ เราต้องไปทำให้เขามีความมั่นใจในตัวเราและเลือกเรา
: อะไรบ้างที่อยากเปลี่ยนแปลง
ทุกเรื่อง ทุกคนรอคอยการเปลี่ยนแปลง-การปฏิรูปทางการเมือง ผู้ที่มีอำนาจเองก็พูดมาแล้ว 4 ปี แต่ถ้าถามว่าถึงวันนี้แล้วมีอะไรบ้างที่ต่างจากการเมืองแบบเดิมๆ แม้กระทั่งพรรคใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นที่มา ที่มีคนของรัฐบาลอยู่ ที่เคยต่อว่าต่อขานนักการเมือง เรากลับเห็นปรากฏการณ์พลังดูด-ย้ายพรรค มันเป็นภาพแบบเก่าๆ ทั้งสิ้น
เราเคยมีเรื่องใหม่อยู่เรื่องหนึ่งในกฎหมาย นั่นคือเรื่องไพรมารีโหวต สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ ก็เลยถามว่าถึงที่สุดแล้ว เราจะไม่ปฏิรูปการเมืองกันหรือ?
ฉะนั้น ผมขอเริ่มที่ตัวเองและพรรคก่อน ถ้าเราทำครั้งนี้แล้วก็มีปฏิกิริยาตอบสนองทางบวก ผมก็หวังว่าต่อไปในอนาคตทุกพรรคการเมืองก็จะถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่ทำอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ทำ
และผมก็หวังต่อว่าพอเปลี่ยนกระบวนการสร้างหัวหน้าพรรคตรงนี้ เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับสมาชิก มันจะกลายเป็นพลังให้เราเข้าสู่การเลือกตั้ง และมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงประเทศต่อไป
: อะไรคืออภิสิทธิ์คนใหม่
ใหม่ในทุกด้าน ก็หนึ่งผมเองเป็นคนที่ไม่เคยหยุดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นสถานการณ์ที่ผมไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต คือไม่มีตำแหน่งทางการเมืองยาวนาน ผมก็ใช้เวลาตรงนี้ในการเรียนรู้พบปะผู้คนอย่างกว้างขวาง กลุ่มเกษตรกรกลุ่มแรงงาน กลุ่มสมาคมการค้าธุรกิจทั้งหลาย
พอเราไม่มีหมวก เขากล้าพูดกับเรามากขึ้น ทั้งปัญหาของรัฐบาลที่เขาได้รับผลกระทบ เขากล้าพูดอย่างตรงไปตรงมา
ฉะนั้น นโยบายที่จะนำเสนอออกมา ต้องเป็นนโยบายแบบก้าวกระโดดไม่ซ้ำแบบเดิม ผมเคยฝันมีความมุ่งมั่นและเชื่อว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมาผมอาจจะคิดว่าตัวเองมีเวลา อาจจะคิดว่าต้องทำเรื่องนี้ก่อนเรื่องนั้นไว้ที่หลัง แต่ถึงจุดนี้ผมมองว่าต้องทำทุกอย่างให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะฉะนั้น ผมจึงใช้คำที่พูดไปแล้วว่า “ผมไม่เกรงใจใครอีกแล้ว”
ไม่มีเรื่องไหนเล็กเกินไปและไม่มีที่เหลือสำหรับความลังเลอีกต่อไป นี่คือความแตกต่างที่กำลังจะเกิดขึ้น
เอาเป็นว่างานหลายเรื่องที่เราอยากทำ เช่น การกระจายอำนาจจริงๆ เมื่อไหร่เราจะมีเมืองหลักในภูมิภาคต่างๆ เป็นมหานคร เมื่อไหร่ที่เราจะได้เลือกผู้ว่าราชการจังหวัด ในอดีตเวลาเราพูดนโยบายแบบนี้ก็จะมีคนบอกว่าระวังจะถูกต่อต้านจากคนนั้นคนนี้ สุดท้ายเราก็ค่อยเป็นค่อยไป
มาถึงวันนี้ผมมองว่าเราตามปัญหาไม่ทันแล้ว ข้อจำกัดของการไม่กระจายอำนาจมันทำให้ความเจริญในหลายพื้นที่ไม่เกิด ผมเลยบอกว่าไม่เกรงใจใครอีกแล้ว ผมไม่มีเวลาประคับประคองอะไรอีกต่อไป
ผมเชื่อว่าประชาชนคงไม่ให้โอกาสผมไปมากกว่านี้อีกแล้ว
: คณิตศาสตร์การเมือง สะเทือนประชาธิปัตย์-พรรคใหญ่
จะใหญ่จะเล็กอยู่ที่ประชาชน ผมไม่ยอมแพ้ ระบบจะเป็นยังไงก็ตาม ผมถือว่าประชาชนต่างหากคือผู้กำหนด เราต้องเดินเข้าหาเขาให้เขาเลือกเรา ผมจะไม่เสียเวลาทะเลาะเรื่องกติกาอีกแล้ว รัฐธรรมนูญเขียนเสร็จแล้วกติกาเป็นอย่างนี้เราก็ต้องเดินหน้า
หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นและเลือกเรามากที่สุด และผมไม่กังวลเลยเรื่องสูตรการคำนวณคณิตศาสตร์ทางการเมือง มันเป็นเรื่องภายในว่าคุณจะได้ ส.ส.เขตเท่าไหร่ บัญชีรายชื่อกี่คน แต่มันไม่ได้เกี่ยวกับว่าผลลัพธ์ ในแง่ที่ว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะสามารถผลักดันอะไรหรือทำอะไรให้กับประชาชนได้
ผมอยากมาชวนทุกคนมาทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งของประชาชนว่าอยากจะได้การบริหารเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแนวหรือไม่ ไม่ใช่ว่าโม้กันว่าโตเกิน 4 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศกลับไม่รู้ว่าดีตรงไหน? เราต้องทำให้การเมืองมาคุยกันในเรื่องนโยบายแบบนี้ ไม่ใช่มานั่งถามกันว่าคุณจะไปยกมือให้คนนั้นหรือไม่? คุณจะเป็นพวกกับคนนั้นหรือเปล่า คุณจะทะเลาะกับคนนู้น ผมมีความรู้สึกว่าประชาชนก็คิดว่าการเมืองเป็นแบบเดิม มีคน 300-400 คนมานั่งต่อรองกัน ใครอยากจะเป็นตำแหน่งอะไร แต่เขาอยากจะรู้ว่าเมื่อไหร่เขาได้ใช้สิทธิ์แล้วเขาได้อะไร ระบบสวัสดิการที่ดี พื้นที่เสรีภาพ เรื่องแบบนี้คือสิ่งที่เราจะต้องชูขึ้นมาให้เป็นการเลือกตั้งของประชาชน และประชาธิปัตย์จะเสนอแนวทางหลักนี้
: คำให้สัมภาษณ์ ร่วมงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบมีเงื่อนไข
ผมเพียงแต่ยกเป็นตัวอย่างว่าเงื่อนไขมันต้องเป็นเรื่องของนโยบาย ไม่ใช่ว่าผมชอบใจคนนี้ผมอยากจะได้ตำแหน่งนั้น ผมบอกว่าใครก็ตามที่จะมาร่วมงานกับเราต้องเป็นเรื่องของนโยบาย ถ้าผมได้เสียงมามากไม่ต้องมาถามว่าผมจะร่วมกับใคร ผมต้องไปชวนคนมาร่วมกับผม แต่ว่าถ้าผมได้เสียงน้อย ใครจะชวนเราไปร่วมหลักคือต้องอยู่ที่นโยบาย
วันนั้นนักข่าวเอ่ยชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมาผมก็เพียงแต่ยกตัวอย่างให้เห็นว่าถ้าคุณประยุทธ์มีแนวคิดบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ยังคงเป็นแบบรัฐราชการ ไม่มีแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบตรงๆ ไม่กระจายอำนาจ ก็ไม่มีอะไรที่จะร่วมกันได้ ไม่ต้องไปตีความเป็นอย่างอื่น เหมือนกับที่ผมเคยพูดว่าพรรคเพื่อไทยปัญหาของเขาคืออะไร ถ้ายังเอาประโยชน์ของกลุ่มคนที่ตั้ง มีคนเป็นเจ้าของพรรคอยู่มันก็ไม่ใช่
: มีคนวิเคราะห์ประชาธิปัตย์จะเป็นตัวแปรสำคัญ
ผมตั้งใจให้ประชาธิปัตย์เป็นตัวหลักไม่ใช่ตัวแปร พรรคไม่ได้ดำรงมา 70 กว่าปีเพื่อจะเป็นกองเชียร์ตัวช่วยของใครหรือขัดขวางใคร
พรรคนี้ต้องมีแนวคิดอุดมการณ์ มีนโยบายเสนอทางเลือกที่ชัดเจน
: คนจำภาพ “บอยคอต”
การจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ลงสมัคร เป็นสิทธิ์ของพรรคการเมือง และการเลือกตั้งที่มีปัญหาหลายประเทศพรรคการเมืองต่างๆ เขาก็ใช้สิทธิ์นี้ จะถูกจะผิดจะเห็นด้วยหรือไม่ ผมเคารพความคิดเห็นของทุกคน และเราก็ทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้คือสิ่งที่เกิดจากการตัดสินใจร่วมกันของพรรค เราก็ไม่อยากจะเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น และเราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก ทุกคนต้องเรียนรู้ร่วมกัน
2 เดือนก่อนปฏิวัติผมพยายามเสนอทางออกให้ประเทศ 10 นาทีก่อนปฏิวัติผมก็ยังขอร้องพรรคเพื่อไทยอยู่เลยว่าให้คุยว่ามันมีทางออกที่ดีกว่ารัฐประหาร แต่ว่าไม่มีใครอยากจะคุย มันก็มาถึงจุดนี้ ถามว่าใครต้องรับผิดชอบ ก็ทุกคนต้องร่วมกัน ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาการประท้วง ปัญหาการบอยคอต มันเป็นห่วงโซ่ที่ต่อกัน ผมว่าตอนนี้มันหมดเวลาที่จะมาชี้ว่าใครผิดใครถูก วันนี้ควรจะมาบอกกัน มาช่วยกันว่าอย่าให้มันเกิดขึ้นอีกว่าจะทำอย่างไร
: เคยคิดจะวางมือการเมืองหรือไม่?
ผมพูดเงื่อนไขมาโดยตลอด ว่าจะวางมือทางการเมืองคือ
1. เมื่อเราคิดว่าเราทำทุกอย่างที่เราคิดว่าเราทำได้ ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ อยู่ไปก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็ไม่ควรอยู่
2. ในวิถีทางประชาธิปไตย ถ้าหากว่าสมาชิกพรรคหรือประชาชนส่งสัญญาณชัดว่าเขาไม่ต้องการเราแล้ว เราก็ต้องไป ง่ายๆ แค่นั้น
และโดยส่วนตัวผม ผมก็มีความเชื่อว่า คนเราถึงจุดหนึ่งมันก็จะอิ่มตัวเอง วันนี้ผมคิดว่าผมอายุ 54 ผมได้รับโอกาสมามากพอสมควร แล้วผมจะขอโอกาสครั้งนี้อีก ผมคงไม่ได้ไปมากกว่านี้แล้ว
เพราะฉะนั้นแล้ว นั่นคือเหตุผลที่ผมกำลังจะบอกว่าเวลาของผมที่เหลืออยู่มีไม่มาก ต้องทำทุกอย่างให้สำเร็จโดยรวดเร็ว
: ทำอย่างไรเราถึงจะหลุดจาก “วงจรรัฐประหาร”
ผมห่วงนะ พรรคผมก็ห่วง เราถึงพยายามจะบอกว่า ถ้าบังคับให้คนเลือกระหว่างเผด็จกับคนโกง สังคมไม่ควรจะต้องมาเลือก ฉะนั้น ประชาธิปัตย์จะเสนอแนวทางที่เป็นทางออก เราอาจจะไม่สามารถบริหารงานให้ถูกใจทุกคนได้ แต่เราจะบริหารบนความชอบธรรม มีธรรมาภิบาล และจะไม่สร้างเงื่อนไขให้มันกลับมาสู่จุดนี้อีก โดยมีนโยบายที่ตอบสนองประชาชนได้
ผมก็ยืนยันว่า บ้านเมืองจะไม่วนกลับมาอยู่จุดนี้อีก
ติดตามชมคลิปเปิดใจอภิสิทธิ์เนื้อหาเต็มๆ ที่ https://bit.ly/2AnlvEr