“หนุ่มเมืองจันท์” เล่าเรื่อง การออม ของพ่อเลี่ยม

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

เคยได้ยินชื่อ “เลี่ยม บุตรจันดี” ไหมครับ

เขาเป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” จากชุมชนบ้านนาอีสาน จังหวัดฉะเชิงเทรา

ผมไม่เคยรู้จัก “พ่อเลี่ยม” มาก่อน จนวันหนึ่งมาเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ในรายการ “ยุทธการพอเพียง” ทาง “โมเดิร์นไนน์” ด้วยกัน

รายการ “ยุทธการพอเพียง” เป็นเรียลลิตี้โชว์รูปแบบใหม่ของ สสส.

ไม่มี “นักล่าฝัน” มีแต่ “ชาวบ้าน” 5 คนจากพื้นที่ต่างๆ ทุกภาค

ไม่มีรางวัลให้ มีแต่การใช้ชีวิตที่เป็น “ตัวอย่าง” ให้กับคนทั่วประเทศ

ผม พ่อเลี่ยม และ “อาจารย์ยักษ์” อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นผู้สังเกตการณ์คอยให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม

ทำมา 2-3 เดือนแล้วครับ

ถือเป็นงานที่ผมค้ากำไรเกินควรมากเลย

เพราะถือเป็นงานที่ผมได้เรียนรู้วิธีคิดใหม่ๆ จาก “พ่อเลี่ยม” และ “อาจารย์ยักษ์” มากมาย

เป็นวิธีคิดที่แตกต่างจากนักธุรกิจหรือนักการเมืองที่ผมสัมภาษณ์อยู่เป็นประจำ

ไม่ซับซ้อน แต่เรียบง่ายและลุ่มลึก

เรื่องบางเรื่องผมก็นึกไม่ถึง อย่างเช่น มุมมองเรื่อง “รายจ่าย”

ทุกครั้งที่ทั้งคู่เห็น “บัญชีครัวเรือน” ของ “ผู้ปฏิบัติการ” ทั้ง 5 คน

เขาจะหงุดหงิดที่เห็นค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารหรือสินค้าอุปโภคบางอย่างเช่น แชมพู น้ำยาล้างจาน ฯลฯ

“อาจารย์ยักษ์” และ “พ่อเลี่ยม” มีความเชื่ออยู่ประการหนึ่งว่าถ้าที่ไหนมี “ดิน” ที่นั่นไม่อดตาย

ปลูกผักได้ เลี้ยงสัตว์ได้

ไม่ต้องซื้ออาหาร

แชมพู น้ำยาล้างจาน ก็ทำเองได้

หลักคิดของเขาคือ คนเราสามารถทำ “รายจ่าย” ให้เป็น “รายได้” ไม่ยาก

ปลูกผัก นอกจากกินเองแล้ว ยังนำไปขายได้อีกด้วย

ครั้งหนึ่ง “พ่อเลี่ยม” ไปเยี่ยม “พ่อเกษม” ผู้ปฏิบัติการคนหนึ่งในภาคอีสาน

ขนาด “พ่อเกษม” ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แล้ว

“พ่อเลี่ยม” ยังติงเลยว่า “พ่อเกษม” น่าจะลดค่าใช้จ่ายได้อีก

เพราะที่บ้านยังซื้อ “น้ำตาล” อยู่

รู้ไหมครับว่า “พ่อเลี่ยม” แนะ “พ่อเกษม” ว่าอย่างไร

เขาเสนอให้ “พ่อเกษม” ปลูกอ้อยครับ

อ้อยโตเมื่อไร “พ่อเลี่ยม” จะกลับไปสอนวิธีทำ “น้ำตาล” ให้

 

“อาจารย์ยักษ์” กับ “พ่อเลี่ยม” จะมี “คาถาวิเศษ” แก้ปัญหาแตกต่างกัน

“คาถา” ของ “อาจารย์ยักษ์” คือ คำว่า “คุณธรรม”

ฟังตอนแรกก็งงๆ ว่าเรื่องคุณธรรมมาเกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาปากท้อง

เป็นคำพ้องเสียงครับ

ไม่ใช่ “คุณธรรม”

แต่เป็น “คุณ-น่ะ-ทำ”

คือ ตัวคุณเองต้องลงมือทำ อย่ามัวแต่คิด หรือคิดแต่ละซื้ออย่างเดียว

คุณ-น่ะ-ทำ

ส่วน “พ่อเลี่ยม” นั้น “คาถา” ของเขา คือคำว่า “ท.ท.ท.”

ไม่ใช่ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย”

แต่เป็น “ทำ-ทัน-ที”

อย่ามัวแต่คิด อย่ามัวแต่รอเวลา

ทำเลย “ทำ-ทัน-ที”

คมไหมล่ะครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่ทั้งคมและน่ารัก

เป็นเรื่องของ “พ่อเลี่ยม”

“พ่อเลี่ยม” เล่าว่าที่ชุมชนบ้านนาอีสานถ้าครอบครัวใดมีลูก ทางสหกรณ์ของชุมชนจะมอบ “เงินขวัญถุง” ให้

มีลูกปั๊บ รับไปเลย 500 บาท

ถือเป็น “ของขวัญ” ให้กับสมาชิกใหม่ของชุมชน

แต่พ่อ-แม่ ที่ได้เงินไปจะต้องปลูกต้นไม้ 20 ต้นในพื้นที่ใดก็ได้ในชุมชนนี้

“ต้นไม้” 20 ต้นนี้จะเป็นสมบัติของเด็ก

ต้นไม้นี้ห้ามตัด จนกว่าเด็กจะมีอายุ 18 ปีขึ้นไป

เด็กเติบใหญ่ ต้นไม้ก็เติบโต

เด็กให้ความสดชื่นแก่ครอบครัว ต้นไม้ก็ให้ร่มเงาแก่ชุมชน

เมื่อเด็กอายุ 18 ปี ต้นไม้ก็มีอายุ 18 ปีเท่ากัน

จนวันหนึ่งที่เด็กคนนั้นแต่งงาน เขาก็ใช้สิทธิตัดต้นไม้ของเขาไปปลูกเรือนหอได้

แต่ทันทีที่ตัดต้นไม้ เขาก็ต้องปลูกต้นใหม่ขึ้นมาทดแทนตามจำนวนต้นที่ตัดไป

ตามหลักการ “ถอนมา-ปลูกคืน” ของ “พ่อเลี่ยม”

น่ารักไหมครับ

“พ่อเลี่ยม” ได้สร้างระบบธนาคารแบบใหม่ที่เหมาะกับชุมชนของเขา

“ธนาคารต้นไม้”

และยังสร้างระบบการออมแบบใหม่ ที่ไม่ใช่การออมเพื่อตนเองเพียงอย่างเดียว

แต่ยังเป็นการออมเพื่อโลกอีกด้วย

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบ เป็นเรื่องการออมเหมือนกัน

แต่เป็นการสอนให้เกษตรกรรู้จักการเก็บเงิน

“เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาเล่าเรื่องนี้ใน “ยุทธการพอเพียง”

เขาบอกว่าตามปกติคนจะบอกว่า “รายรับ-รายจ่าย = เงินเก็บ”

แต่ถ้าสอนชาวบ้านแบบนี้เมื่อไร สมการจะออกมาอีกแบบหนึ่ง

นั่นคือ “รายรับ-รายจ่าย = หนี้”

เพราะคิดว่าเหลือเท่าไรจึงจะเก็บ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะใช้จ่ายไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายรายจ่ายมากกว่ารายได้

กลายเป็น “หนี้”

ดังนั้น ทุกครั้งที่เขาสอนชาวบ้านเรื่องการออม “เอ็นนู” จะเสนอสมการใหม่

“รายรับ-เงินเก็บ = รายจ่าย”

คือ พอมีรายได้เข้ามาก็ให้หัก “เงินเก็บ” ไว้ก่อนเลย

จากนั้นเหลือเงินอยู่เท่าไรก็พยายามจัดสรรให้พอกับรายจ่าย

ด้วยสมการแบบนี้ ชาวบ้านจึงจะเก็บเงินอยู่

หลักคิดเรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่วิธีการนำเสนอของ “เอ็นนู” น่าสนใจ

เรียบง่ายและตรงประเด็น

ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องตีความมากมาย

คงคล้ายๆ กับปรัชญาการออมของ “ติ๊น”

รู้ไหมครับว่าหลักการออมของ “ติ๊น” คืออะไร

ง่ายมากเลยครับ

“ติ๊น” บอกว่าถ้าเป็น “ผู้ชาย” หากต้องการเก็บเงินก็ให้หา “ผู้หญิง” ดีๆ สักคน

แล้วให้เธอเก็บเงินของเรา

แต่ถ้าเป็น “ผู้หญิง” ก็ให้พยายามหา “ผู้ชาย” ดีๆ สักคน

…แล้วเอาเงินของเขามาเก็บ