แพทย์ พิจิตร : ตำราของชัยอนันต์ สมุทวณิช กับ ทัศนะวิพากษ์ของนิธิ – “ความคิดทางการเมืองไทยมีแต่ของชนชั้นนำเท่านั้น”

อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้บุกเบิกการสอนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” ขึ้นที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อราวทศวรรษ พ.ศ.2520

และต่อมาก็ได้กลายเป็นวิชาในระดับปริญญาเอกด้วย

ที่สำคัญคือ ท่านทั้งสองได้ผลิตตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย” และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ก่อนที่จะพิมพ์เป็นตำราออกมา ท่านทั้งสองได้ส่งให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่าน

และท่านอาจารย์นิธิก็ได้เขียนตอบมาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “ปฏิกิริยา”

ซึ่งคราวที่แล้ว ผมได้คัดข้อความบางตอนของอาจารย์นิธิและได้เปรียบเทียบจุดยืนของอาจารย์นิธิกับนักวิชาการฝรั่งบางคนไป

คราวนี้จะมาเล่าต่อถึงปฏิกิริยาของอาจารย์นิธิที่มีต่อหนังสือ “ความคิดทางการเมืองไทย”

 

นักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์นิธิก็ย่อมต้องมองอะไรอย่างประวัติศาสตร์ นั่นคือ เน้นให้ความสำคัญกับบริบท รายละเอียดต่างๆ และความหมายของคำก็ขึ้นอยู่กับบริบท และก็ผันแปรไปตามบริบท เพราะเชื่อบริบทและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองในแต่ละช่วงเวลาและพื้นที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดความคิดและความหมายที่ใช้

อย่างเช่น อาจารย์นิธิตั้งข้อสงสัยในหนังสือ “ความคิดทางการเมืองไทย” ไว้ว่า “สงสัยว่า สุนทรภู่มีโลกทัศน์ทางการเมืองละม้ายคล้ายคลึงกับผู้แต่งมหาชาติคำหลวง ถึงเพียงนั้นจริงหรือ ในขณะที่สุนทรภู่มีชีวิตอยู่ใน “โลก” ที่แตกต่างอย่างมากไปกว่าผู้แต่งมหาชาติคำหลวงถึงเพียงนั้น

ส่วนนักรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะนักปรัชญาการเมืองก็จะพยายามหาแก่นแกนโดยการสกัดเปลือกหรือกระพี้ของความเป็นการเมืองออกไป เชื่อว่า น่าจะมีความเป็นสากลทั่วไปอยู่

เมื่อมองกันคนละมุมแบบนี้ ก็ย่อมจะขัดแย้งกันในทางวิชาการ เป็นของธรรมดา!

อาจารย์นิธิได้แสดงความคิดเห็นต่อไปว่า “อาจจะเป็นด้วยประเภทของหลักฐานบังคับ “ความคิดทางการเมือง” ของไทยที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จึงเป็นสมบัติของชนชั้นนำเท่านั้น เอกสารทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์ผลิตขึ้นโดยหรือเพื่อชนชั้นนำของสังคม (ยกเว้นสองบทสุดท้ายซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง) (นั่นคือ บทที่ 12 เทียนวรรณ และบทที่ 13 แนวความคิดทางสังคมและการเมือง ก.ศ.ร. กุหลาบ/ผู้เขียน) ผลอย่างหนึ่งของการนี้ก็คือ ทำให้รู้สึกว่า “ความคิดทางการเมือง” ไทยนั้นเป็นสิ่งที่นำมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น (เช่น อินเดีย ขอม ฯ/ ผู้เขียน)

แม้ว่าผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทที่ 2 ว่าจะพิจารณาลักษณะที่เป็นของ “พื้นเมือง” ควบคู่กันไปกับความคิดที่นำมาจากต่างชาติก็ตาม

แต่ความสนใจว่าอิทธิพลพื้นเมืองที่เข้าไปแทรกอยู่นั้นมีผลต่อ “ความคิดทางการเมือง” อย่างไร มิได้ถูกพิจารณาอย่างจริงจังเลย

ตัวอย่างเช่น ในบทที่ 1 ชัยอนันต์กล่าวว่า “การศึกษาแนวความคิดทางการเมืองของไทย จึงควรเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงความคิดทางการเมืองอินเดียโบราณ ซึ่งมีอิทธิพลโดยตรงต่อความคิดเกี่ยวกับการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์…”

สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ แต่เดิมมา ความคิดทางการเมืองของไทยมิได้เป็น “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” หรือ (คำว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” แปลว่าอะไร มีเพียงความหมายเดียวหรือมีความหมายตามแต่กาลเทศะ ดูเหมือนชัยอนันต์จะใช้คำนี้เหมือนเป็นแนวคิดสากลที่เหมือนกันไปหมด)

ลักษณะเทวภาพของผู้ปกครองเป็นเรื่องที่เอามาจากอินเดียเท่านั้นหรือ น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าไม่ใช่ ในตำนานของไทยเช่นตำนานล้านช้างและของไทอาหม กล่าวถึงการลงมาจากฟ้าของผู้ปกครองคนแรกตามคำสั่งของแถน

ด้วยเหตุดังนี้ ผู้เขียนทั้งสองจึงไม่สนใจวิเคราะห์สถาบันกษัตริย์มากไปกว่าคัมภีร์และตำราซึ่งได้อิทธิพลอย่างมากมาจากอินเดีย (หรือลังกา) และละเลยลักษณะที่สองว่าเป็นอิทธิพลพื้นเมือง ซึ่งไม่ปรากฏเป็นคัมภีร์หรือตำราไปโดยสิ้นเชิง

เป็นต้นว่า ไม่สนใจพระขะพุงผีหรือพระราชพิธีหลายอย่างที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งล้วนส่อไปในทางลัทธิงอกงามอุดมสมบูรณ์ทั้งสิ้น

ในสมัยหนึ่ง กษัตริย์ไทยทรงเป็นสมมุติเทพ เป็นจักรพรรดิ เป็นธรรมราชาแก่ขุนนางและชนชั้นนำ

แต่ทรงเป็นอะไรแก่ประชาชนที่ไม่รู้จักภาษาบาลีอ่านหนังสือไม่ออก และมีชีวิตที่มีขอบเขตแคบๆ เพียงในหมู่บ้านของตน ไม่มีระบอบการปกครองใดที่สามารถตั้งอยู่ในความว่างเปล่าได้ ความคิดทางการเมืองอะไรที่เป็นตัวเชื่อมสิ่งที่มาจากต่างชาติซึ่งครอบงำจักรวาลของกษัตริย์เข้ากับโลกเล็กๆของชาวนา”

 

จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า อาจารย์นิธิวิจารณ์ว่า อาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติศึกษาความคิดทางการเมืองภายใต้ข้อจำกัด

นั่นคือ เอกสารที่มีและหลงเหลือ และเอกสารพวกนี้ก็มักจะผลิตสร้างโดยชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครอง เพราะชนชั้นนี้จะกุมเทคโนโลยีในการสื่อสารซึ่งเป็นทั้งทุนทางสังคมและเครื่องมือในการปกครอง แม้ว่าชาวบ้านจะไม่รู้ภาษาอย่างที่อาจารย์นิธิว่า แต่ภาษาเขียนที่บันทึกกฎระเบียบหรือความยิ่งใหญ่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอธิบายหรือประกาศความหมายโดยทางวาจาในลักษณะมุขปาฐะ ก็จะทำให้ชาวบ้านรับรู้ความหมายของภาษาเขียนที่จารึกหรือสลักอยู่ในแผ่นหินดินเหนียวนั้น และภาษาเขียนเหล่านั้นก็จะแปลสภาพกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องเคารพกราบไหว้บูชา โดยมีความเข้าใจเลาๆว่า มันสั่งอะไรไว้

ซึ่งในแง่นี้ ทำให้นึกถึงสิ่งที่จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวไว้ในนามของ “สมสมัย ศรีสูทรพรรณ” ในว่า “แต่! เล่ห์เหลี่ยมและความจัดเจนของศักดินาที่สั่งสมมานับพันๆ ปี มีสูงกว่าชนชั้นกลาง” และเล่ห์เหลี่ยมและความจัดเจนของศักดินาที่สั่งสมมานับพันๆ ปีที่ว่านี้ สั่งสมอยู่ในรูปของอะไร? ถ้าไม่ใช่จารึกในแผ่นหินดินเหนียวหรือใบลานและสั่งสมทับทวี มีการชำระเพิ่มเติมพัฒนาเปลี่ยนแปลงทับซ้อน และกลายเป็น “ความคิดทางการเมือง” ไป และอาจถูกตีขลุมไปได้ว่าเป็น “ความคิดทางการเมือง” ของไทย

แต่แท้ที่จริงเป็นความคิดทางการเมืองของชนชั้นปกครองเท่านั้น

ซึ่งอาจารย์นิธิเชื่อว่า ความคิดทางการเมืองของชาวบ้านก็มี แต่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้แบบของชนชั้นปกครอง และก็ดูจะเป็นอะไรที่แตกต่างจากโลกของชนชั้นปกครอง

ดังนั้น อาจารย์นิธิจึงเห็นว่ามันน่าจะต้องมี “ตัวเชื่อมสิ่งที่มาจากต่างชาติซึ่งครอบงำจักรวาลของกษัตริย์เข้ากับโลกเล็กๆ ของชาวนา”

 

นอกจากนี้ นักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์นิธิจะไม่ยอมรับง่ายๆ หรือด่วนสรุปไปว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในที่ไหนๆ มีเนื้อหา-ความหมายเหมือนกัน และอาจจะมีความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละยุคและแต่ละพื้นที่ ซึ่งถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว คงไม่มีที่ไหนเหมือนกันเป๊ะ

และถ้าเป็นเช่นนั้น คำว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็อาจจะมีความหมายเดียวสำหรับที่ใดที่หนึ่ง เพราะที่อื่นๆ ก็ย่อมไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เลย แต่จะต้องเรียกแตกต่างกันไป

และการแบ่งยุคสมัยของมนุษย์ตามแบบของมาร์กซิสต์ก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ เพราะศักดินาไม่สามารถมีความเป็นสากลได้

แต่ในการศึกษาอะไรก็ตาม เราอาจจะต้องเริ่มจากการสร้างและแยกแยะตัวแบบ (typology) ขึ้นมา เช่น สร้างตัวแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น การจำแนกประเภท (typology) คือ แบบหรือประเภทต่างๆ ที่ถูกจัดให้เป็นระบบระเบียบ เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่สำคัญและใช้กันอย่างสืบเนื่องและลงหลักปักฐานมานานแล้วในทางสังคมศาสตร์ นักสังคมศาสตร์จะใช้การจำแนกประเภทในการก่อร่างสร้างแนวความคิด สกัดกลั่นกรองเกณฑ์การวัด สำรวจตรวจหามิติสภาพและจัดระเบียบข้ออ้างในการอธิบายความในสิ่งที่ศึกษา ช่วยในการสร้างและจัดประเภทและการชี้วัดและแยกแยะกรณีต่างๆ การจำแนกประเภทคือแบบหนึ่งของกรอบแนวความคิด (conceptual framework) ที่ทำหน้าที่ในการจัดประเภทของปรากฏการณ์โดยอิงกับเกณฑ์ที่มีความแน่นอนจำนวนหนึ่ง

คำถามคือ ถ้าไม่สร้างตัวแบบขึ้นมาในฐานะจุดเริ่มต้นการศึกษา เราจะมีจุดเริ่มต้นจากอะไร?