พระนางมัลลิกา มเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล

นางมัลลิกาที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามีอยู่ 2 ท่าน คือ พระนางมัลลิกาผู้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล กับ มัลลิกา ผู้เป็นภริยาของพันธุละเสนาบดี พระสหายสนิทของพระเจ้าปเสนทิโกศล จะนำมาเล่าขานสู่กันฟังทั้งสองท่าน

วันนี้ขอเริ่มด้วยพระนางมัลลิกาก่อน

เธอเป็นธิดาของนายมาลาการ (ช่างทำดอกไม้) เธอจะออกไปสวน ไปเก็บดอกไม้มาให้พ่อทำพวงมาลัย หรือจัดดอกไม้เป็นระเบียบไว้ขายเป็นประจำ

เธอได้ถวายดอกไม้พระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่อายุยังน้อย

ช่วงที่เกิดเรื่องราวนี้ เธอมีอายุอานามประมาณ 16 ปี ยังสาวรุ่น น่ารัก ขณะเก็บดอกไม้อยู่ เธอก็ฮัมเพลงไปพลางอย่างมีความสุข หารู้ไม่ว่ามีสุภาพบุรุษวัยรุ่นพ่อ “ยืนม้า” อยู่ใกล้ๆ ฟังเพลงเพลินอยู่ พอเธอร้องจบก็ปรบมือชื่นชม

สาวน้อยตกใจสีหน้าขุ่นเคืองที่มีคนมาแอบฟังเพลง เธอจึงเอ่ยขึ้นว่า “ไม่มีมารยาท”

สุภาพบุรุษหนุ่มใหญ่ (ไม่โสด) ขออภัยเธออย่างสุภาพ ทำให้นางหายเคือง เห็นเขาท่าทางอิดโรย จึงเข้าไปจูงอาชาพาเขาเข้าไปยังร่มไม้ใกล้ๆ

เขาเป็นใครไม่ทราบ แต่เห็นเขากิริยาท่าทางไว้ใจได้ จึงนั่งลงสนทนากับเขา รู้สึกมีความอบอุ่นอย่างประหลาดเมื่ออยู่ใกล้ๆ เขา

ฤๅว่า กามเทพได้ซุกซนแผลงศรเข้าเสียบหัวใจน้อยๆ ของเธอแล้วก็ไม่รู้

แล้วเขาก็รวบรัดว่า “แล้วจะมาเยี่ยมใหม่” ว่าแล้วเขาก็ขึ้นอาชาควบหายไป

สองสามวันผ่านไป ได้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง เชิญนางมัลลิกาธิดานายมาลาการเข้าวัง นั่นแหละเธอจึงได้รู้ว่าสุภาพบุรุษหนุ่มใหญ่ที่พบกับเธอวันนั้นมิใช่สามัญชน หากแต่เป็นเจ้าชีวิตของประชากรทั่วประเทศ

พระเจ้าปเสนทิโกศลได้รับนางมาไว้ในพระราชวัง ทรงอภิเษกสมรสกับเธอ นัยว่าทรงสถาปนาเธอเป็นพระมเหสีด้วย จะเป็นมเหสีเบอร์ไหนไม่ทราบชัด

ในอรรถกถาธรรมบทก็ว่าเป็นถึงอัครมเหสี แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลมาถึงวัยปูนนี้ก็ไม่น่าจะว่างตำแหน่งอัครมเหสีไว้ก่อนถึงนางมัลลิกา เพราะช่วงที่ได้พบนางมัลลิกา ก็เป็นระยะเวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแพ้ศึกสงครามกับพระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นหลานมาหยกๆ

พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นเป็นพระสหายกับพระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดาของพระเจ้าอชาตศัตรูได้ “ดอง” กับพระเจ้าพิมพิสาร คือ ต่างฝ่ายก็อภิเษกกับพระกนิษฐภคินี (น้องสาว) ของกันและกัน พระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระเจ้าอชาตศัตรูจึงเป็น “ลุง-หลาน” กัน เมื่อคราวที่พระองค์ต้องพเนจรมาเดียวดายมาพบมัลลิกานี้เพิ่งจะพ่ายสงครามกับพระเจ้าหลาน

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพิโรธที่อชาตศัตรูยึดราชบัลลังก์พระเจ้าพิมพิสารแถมยังทำปิตุฆาต (ฆ่าพ่อ) อีกด้วย จึงยกทัพไปรบ ตั้งใจว่าจะสั่งสอนพระเจ้าหลานให้สำนึก แต่บังเอิญแพ้พระเจ้าหลาน ตำราว่ารบหลายครั้งและแพ้ทุกครั้งเสียด้วย ฝีมือสู้พระเจ้าหลานไม่ได้ บางทีคงไม่ใช่ฝีมือดอก แก่แล้วพละกำลังก็ถดถอยเป็นธรรมดาครับ

มเหสีอีกองค์หนึ่งคือ วาสภขัตติยา ธิดาเกิดจากนางทาสีของพระเจ้ามหานาม แห่งศากยวงศ์ เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลขอขัตติยนารีจากพวกศากยะ มหานามก็เสนอให้ส่งธิดาของตนไปให้ เพื่อตัดปัญหาการปะปนกับสายเลือดอื่น (พวกศากยะทะนงในสายเลือดของตนมาก จะไม่ยอมให้ปะปนกับเผ่าอื่น) พระนางวาสภขัตติยานี้ อรรถกถาธรรมบทก็ว่าเป็นอัครมเหสี

เขียนคนละทีก็เลยขัดแย้งกันเองอย่างนี้แหละครับ ผมจึงไม่ใส่ว่าองค์ไหนเป็นอัครมเหสี พูดกลางๆ ว่าเป็น “มเหสีองค์หนึ่ง” สบายใจกว่าเยอะเลย

พระนางมัลลิกาเป็นสตรีที่มีความเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เป็นที่รักและชื่นชมของพระสวามีมาก พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น แม้ว่าในระยะหลังนี้จะหันมาสนใจในพระพุทธศาสนา ก็ยังมีความเชื่อลัทธิดั้งเดิมบางอย่างอยู่ เช่น เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีบูชายัญว่า ถ้าทำยัญพิธียิ่งใหญ่แล้วจะมีความสุขความเจริญ มีอำนาจวาสนา เป็นที่เกรงขามของพระราชามหากษัตริย์ทั่วทิศานุทิศ

ครั้งหนึ่งพระองค์รับสั่งให้ตระเตรียมพิธีบูชายัญยิ่งใหญ่ มีการฆ่าสัตว์อย่างละ 700 ตัวเซ่นสรวงด้วย พระนางมัลลิกานี่แหละเป็นผู้ทัดทานพระองค์มิให้ทำบาปมหันต์ปานนั้น ได้แนะนำให้พระสาวมีเข้าเฝ้า เพื่อขอคำแนะนำจากพระพุทธองค์ ในที่สุดพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงเลิกพิธีบูชายัญ

ความเฉลียวฉลาดของนางมัลลิกายังมีอีกมาก เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลแข่งกับชาวเมืองทำบุญกัน ประชาชนเขาทำทานอันประณีตและมโหฬารมาก พระเจ้าปเสนทิโกศลจนพระทัยว่าจะทำอย่างไรจึงจะมโหฬารและแปลกใหม่กว่าประชาชน

ก็ได้พระนางมัลลิกานี่แหละแนะนำให้ทำ “อสทิสทาน” (ทานที่ไม่มีใครเหมือน หรือ ทานที่ไร้เทียมทาน) รายละเอียดมีอย่างไร ขอผ่านไปก่อนก็แล้วกัน

พระนางมัลลิกาไม่มีพระราชโอรส เมื่อพระนางทรงพระครรภ์แก่ จวนจะมีประสูติกาล พระสวามีทรงปรารถนาอยากได้พระราชโอรส ตั้งความหวังไว้มากทีเดียว แต่พอได้พระราชธิดา พระราชบิดาถึงกับเสียพระทัยมาก เข้าเฝ้าปรับทุกข์กับพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ตรัสปลอบพระทัยว่า ลูกสาวหรือลูกชายไม่สำคัญต่างกันดอก เพศมิใช่เป็นเครื่องแบ่งหรือบอกความแตกต่างในด้านความรู้ความสามารถ สตรีที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ประพฤติธรรม และเป็นมารดาของบุคคลสำคัญ ย่อมประเสริฐกว่าบุรุษอีกมากมาย

อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามพระนางมัลลิกาว่า พระนางรักพระองค์ไหม รักมากเพียงไร ก็ตามประสาสามีภรรยา เมื่ออยู่ด้วยกันก็มักจะขอความมั่นใจว่า อีกฝ่ายยังคงรักตนเหมือนเมื่อครั้งยังข้าวใหม่ปลามันไหม คำตอบของพระมเหสีทำให้พระสวามีชะงักงันไปครู่หนึ่ง

พระนางตอบว่า พระนางรักตนเองมากกว่าสิ่งใด

ทรงน้อยพระทัยที่พระมเหสีไม่รักพระองค์เสมอเหมือนชีวิตของนาง เมื่อมีโอกาสเหมาะจึงกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงบทสนทนาของพระองค์กับพระมเหสี ทำนอง “ฟ้อง” ว่า พระมัลลิกาของพระพุทธองค์ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เรื่องแล้วนะ อะไรทำนองนั้น

พระพุทธองค์กลับตรัสว่า มัลลิกาพูดถูกแล้ว มหาบพิตร เพราะบรรดาความรักทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีความรักใดจะเท่าความรักตนเอง มัลลิกาเธอพูดจริง พูดตรงกับใจเธอ มหาบพิตรควรจะชื่นชมมเหสีที่ยึดมั่นในสัจจะ (ความจริง) เช่นนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงค่อยคลายความน้อยเนื้อต่ำใจลง

พระนางมัลลิกาเป็นพุทธสาวิกาผู้มั่นคงในธรรม และช่วยคนอื่นให้เข้าถึงธรรมด้วย ในฐานะพระมเหสีของพระราชา พระนางก็เป็นช้างเท้าหลัง ที่ช่วยประคับประคองให้ “เท้าหน้า” ก้าวไปอย่างมั่นคงในฐานะที่เป็นพระสาวิกาของพระพุทธเจ้า พระนางก็เป็นพระสาวิกาพึ่งตนเองได้ในทางธรรม และช่วยให้ผู้อื่น โดยเฉพาะพระสวามีพึ่งตัวเองได้ด้วย

จึงเป็นสตรีตัวอย่างที่ดีท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา