เลือก ส.ว.กันไปทำไม ? โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

สิ่งที่ออกแบบตามอุดมคติเป็นไปอย่างหนึ่ง สิ่งที่เขียนในบทเฉพาะกาลกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง อะไรดี อะไรอัปลักษณ์ มาลองคิดวิเคราะห์กันจากข้อมูลดังต่อไปนี้ แล้วตอบคำถามดังกล่าวด้วยตัวเอง

กลไกของการมีวุฒิสภา เพื่อกลั่นกรองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร เช่นในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีการออกกฎหมาย วุฒิสภาก็จะมีหน้าที่กลั่นกรอง สามารถยับยั้ง ให้สภาผู้แทนฯ มีโอกาสไตร่ตรองใหม่ แต่รัฐธรรมนูญยังคงออกแบบให้น้ำหนักแก่ฝ่ายผู้แทนฯ หากเห็นว่าสิ่งที่เสนอไปถูกต้อง ก็สามารถยืนยันเพื่อผ่านกฎหมายได้

วุฒิสภายังมีหน้าที่ในการลงมติแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กกต. ป.ป.ช. คณะกรรมการสิทธิฯ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งทุกองค์กรล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการปฏิรูปบ้านเมืองและกับตรวจสอบให้การบริหารประเทศเป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น หากวุฒิฯ เลือกคนที่ไม่เป็นกลาง ไม่มีความรู้ความสามารถมาทำหน้าที่ดังกล่าว ก็ยากจะเล็งหาประสิทธิผลหรือความสำเร็จในการเดินหน้าประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น บทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ยังกำหนดให้ใน 5 ปีแรกตั้งแต่ที่มีรัฐสภาชุดใหม่ การให้ความเห็นชอบให้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ยังต้องเป็นมติเสียงข้างมากของการประชุมร่วมกันระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย

ใครที่คิดว่าวุฒิสภาไม่มีความสำคัญ ถึงบรรทัดนี้คงคิดใหม่ได้

สิ่งที่เปลี่ยนไปจากหลักการในรัฐธรรมนูญ

ที่เขียนไว้ในตัวบทรัฐธรรมนูญก็อย่างหนึ่ง แต่พอมาถึงบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญก็อย่างหนึ่ง ที่เขียนในตัวบทของ พ.ร.ป.ส.ว. ก็อย่างหนึ่ง แต่พอมาถึงบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ส.ว. ก็ไปอีกทางหนึ่ง ราวกับโฆษณาคอนโดฯ หรือบ้านจัดสรร ที่เวลาโชว์ห้องมีอุปกรณ์ตกแต่งเพียบ แต่เวลาซื้อได้แค่ห้องหรือบ้านเปล่าๆ เนื่องจากลืมดูตัวอักษรเล็กๆ ที่เขียนว่า ภาพสมมุติเพื่อประกอบการโฆษณา

สิ่งที่แตกต่างไปจากหลักการเดิมที่ออกแบบไว้เป็นอย่างดี แต่โดนบทเฉพาะกาลจากซ่อนเงื่อนของมือร่างกฎหมายและจากการแต่งแก้ของ สนช. ทำให้เปลี่ยนไป

เช่น

ประการแรก การเพิ่มจำนวน ส.ว. จากเดิม 200 คนในรัฐธรรมนูญ มาเป็น 250 คนตามบทเฉพาะกาล

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ดุลสัดส่วนระหว่าง ส.ว.และ ส.ส.เปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็น 2 : 5 เพิ่มเป็น 2.5 : 5

หรือจากเดิม 40% เพิ่มเป็น 50%

แปลว่า ในการลงมติต่างๆ ที่เป็นการประชุมร่วมของรัฐสภา ซีกฝั่งของ ส.ว.ต้องการคะแนนสนับสนุนเพิ่มจาก ส.ส.แค่อีกเพียง 126 เสียงก็จะเกินครึ่งของรัฐสภา (250+126 หรือ 376 จาก 750 คน) ซึ่งเดิมต้องการถึง 151 เสียงจึงจะมีโอกาสได้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภา (200+151 หรือ 351 จาก 700 คน)

เท่ากับใช้เสียง ส.ส.น้อยลงถึง 25 คน

ถ้าเป็นสมัยก่อน หากจะโหวตอะไรแล้วต้องได้เสียงเพิ่มอีก 25 เสียงแล้วต้องไปจ่ายเงินกันในห้องน้ำ คงต้องใช้เงินหลายสิบล้าน

ประการที่สอง ที่มาของ ส.ว.ก็เปลี่ยนแปลงไป

จากเดิมในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว. 200 คนมาจากกลุ่มอาชีพที่หลากหลายและผ่านกระบวนการสมัครและเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ เพื่อให้ได้ ส.ว.ที่เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยจากทุกสาขาวิชาชีพมาทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มาในบทเฉพาะกาลก็กลับเป็นว่า 200 คนแรกของ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งจาก คสช.เสีย 194 คน และเป็นโดยตำแหน่งจากแม่ทัพนายกองอีก 6 คน

ส่วน 50 คนที่เหลือ ให้มีกระบวนการรับสมัคร คัดเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ ให้เหลือ 200 แล้วส่งชื่อให้ คสช.คัดเลือกให้เหลือ 50 คน

แปลว่า 250 คนเต็มๆ เนื้อๆ ของ ส.ว.ใน 5 ปีแรก แทนที่จะมาจากกระบวนการที่ออกแบบไว้อย่างสวยงามราวแคตตาล็อกบ้านจัดสรร ก็กลับไปรวมที่ คสช.จะเอาใครมาเป็น ส.ว.เต็มๆ เนื้อๆ ตามนั้น

ประการที่สาม ว่าด้วยคุณสมบัติของ ส.ว. ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้เสียดีเลิศ เช่น ห้ามเป็นข้าราชการ ห้ามมีงานประจำในราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ห้ามเป็นรัฐมนตรีหรือพ้นจากเป็นรัฐมนตรียังไม่ครบห้าปี ห้ามเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ หรือพ้นจากการเป็น ส.ส.ยังไม่ครบห้าปี

แต่พอในบทเฉพาะกาลพานยกเว้นมากมาย เช่น เป็นข้าราชการได้

ในกรณี 6 คนที่มาจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ. 3 เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. เพื่อให้คนเหล่านี้มาเป็น ส.ว.ได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น ในกลุ่มที่ คสช.จะคัดเอง 196 คน บทเฉพาะกาลก็ยังยกเว้น เรื่องเคยเป็นรัฐมนตรีหรือพ้นจากรัฐมนตรีไม่ถึงห้าปีให้อีก ถือว่าใจดีจริงๆ

ส่วนประเด็นว่า สนช.ชุดปัจจุบันจะสามารถมาเป็น ส.ว.ทั้งทางสมัครและแต่งตั้งได้หรือไม่ เข้าใจว่าคงไม่มี สนช.คนใดมาลงช่องทางสมัคร เพราะต้องมีตีความกันอีกว่าสมัครทั้งๆ ที่ดำรงตำแหน่ง สนช.ได้หรือไม่

ส่วนกรณีรอแต่งตั้งในโควต้า คสช.นั้น หากไม่ได้ดำรงตำแหน่งราชการก็คงไม่มีปัญหา เพราะคำว่าเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือพ้นมาไม่ถึงห้าปี ไม่น่าจะเป็นอุปสรรค เพราะ สนช. คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มิใช่สภาผู้แทนราษฎร

เห็นหรือยังว่าวิชากฎหมายช่างซับซ้อนยอกย้อนยิ่ง

ประการที่สี่ กระบวนการรับสมัครและคัดเลือกตาม พ.ร.ป.ส.ว. ที่ปรากฏในตัวบทกับในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ส.ว. ก็แตกต่างกัน

ในตัวบทนั้น แบ่งกลุ่มอาชีพเป็น 20 กลุ่มเพื่อให้เกิดความหลากหลาย มีการเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ จนเหลือกลุ่มละ 10 คน รวม 20 กลุ่ม 200 คน

พอในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ส.ว. กลับแบ่งกลุ่มอาชีพเป็น 10 กลุ่ม และเปลี่ยนวิธีการสมัครในระดับอำเภอเป็น 2 วิธีคือ สมัครด้วยตนเอง และสมัครพร้อมหนังสือแนะนำชื่อจากองค์กรนิติบุคคล

ซึ่งแปลว่าหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน องค์กรอิสระ ฯลฯ สามารถเสนอชื่อคนที่เคยทำงานในหน่วยงานของตนลงสนามแข่งขันได้ด้วย

ดังนั้น 200 ชื่อที่นำส่ง คสช. เพื่อคัดให้เหลือ 50 คน จึงมีที่มาสองทางคือ สมัครเองจาก 10 กลุ่มอาชีพ กลุ่มละ 10 ชื่อ รวม 100 ชื่อ และสมัครโดยคำแนะนำชื่อขององค์กรนิติบุคคล 10 กลุ่มอาชีพ กลุ่มละ 10 ชื่อ รวม 100 ชื่อ

จบที่ คสช.จะเป็นคนจิ้มว่า 200 คนที่มาจาก 2 ทาง ทางละ 100 คน เมื่อจะต้องเหลือ 50 คน จะเลือกคนจากซีกใดมากกว่ากัน

แต่แปะข้างฝาไว้ก่อนได้ว่า ฝั่งตัวแทนองค์กรนิติบุคคลที่มีหน่วยราชการสามารถเสนอชื่อได้น่าจะมีสัดส่วนมากกว่าฝั่งสมัครกันเองแบบชาวบ้านตาสีตาสาอย่างแน่นอน

วันนี้คนสอนหนังสือในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญคงเหน็ดเหนื่อยขึ้น เพราะนอกจากสอนในสิ่งที่เป็นตัวบท ยังต้องอธิบายสิ่งที่เขียนในบทเฉพาะกาลที่มีสาระแตกต่างไปคนละเรื่อง

คนที่สอนวิชารัฐศาสตร์อาจมีเรื่องราวมากมายที่เอาไปเป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนที่สะท้อนถึงการใช้อำนาจรัฐและรูปธรรมของการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบในทางการเมืองโดยอาศัยตัวบทกฎหมายที่ฝ่ายตนเป็นผู้ร่างผู้ออกกฎหมาย

วันนี้ประชาชนคงได้แต่นั่งมองและเอาใจช่วยว่า ส.ว.ทั้ง 250 คนที่จะมีมาในภายภาคหน้า จะสามารถทำหน้าที่เป็นสภาของผู้มีคุณวุฒิในการช่วยกลั่นกรองกฎหมายของบ้านเมือง ช่วยดูแลกำกับการทำงานขององค์กรอิสระ และมีส่วนในการเลือกคนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างเหมาะสม มิใช่ ส.ว.ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการสืบทอดอำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบบหลับหูหลับตาเนื่องจากแค่เป็นพวกเดียวกัน

มิเช่นนั้นประชาชนคงมีคำถามดังๆ ว่า “เราจะมี ส.ว.ไปทำไมกัน”