คำ ผกา : สงบ-ราบคาบ

“ไม่มีใครอยากทำรัฐประหาร ถ้าบ้านเมืองไม่วุ่นวาย”

เมื่อได้ฟังประโยคเช่นนี้ ทำให้เรารู้สึกว่า คนที่เข้ามาทำรัฐประหารนั้นจะต้องมีความเสียสละสูงมาก เพราะเป็นสิ่งที่ “ไม่มีใครอยากทำ” แต่จำต้องทำ เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติสุข

ในสำนวนไทยอาจจะใกล้เคียงกับสำนวนที่ว่า เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ

หลายคนอาจจะบอกว่า การรัฐประหารจะมีความชอบธรรม หากคณะรัฐประหารเมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้ว (บนสมมุติฐานว่า ขณะนั้นสังคมกำลังเดินไปสู่ทางตัน หากกองทัพไม่ออกมาทำการรัฐประหาร อาจเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นได้) ก็ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการรีบลงจากอำนาจ ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว-เพราะมีแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นมีสิทธิในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่-ภายใต้รัฐบาลรักษาการ ต้องรีบจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ภายใต้การดูแลของ กกต. ที่เป็นอิสระจากรัฐบาลรักษาการ

จนการเลือกตั้งเสร็จสิ้น มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน คณะรัฐประหารวางมือ แยกย้ายกันกลับบ้าน กลับกรมกอง บ้านเมืองเข้าสู่โหมดประชาธิปไตย

แบบนี้ก็อาจพูดได้ว่า คนที่อาสาทำรัฐประหารนั้นมีความเสียสละ ที่เข้ามาทำเพื่อแลกกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

แต่ถ้าทำเช่นนั้น-คือ เป็นรัฐบาลรักษาการ, มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว, รีบจัดการการเลือกตั้ง, รีบลงจากอำนาจ-ก็จะมีคนทักท้วงว่า รีบไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยให้รีบเลือกตั้ง บ้านเมืองก็จะกลับเข้าสู่อีหรอบเดิม วุ่นวาย ทะเลาะกัน ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง วนลูปกลับไปที่โอกาสเสี่ยงของการเกิดสงครามกลางเมือง เดือดร้อนกองทัพต้องออกมาเทกแอ๊กชั่นอีก

ดังนั้น หลังรัฐประหาร ต้องให้สะเด็ดน้ำ ต้องให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดความวุ่นวายใดๆ ขึ้นอีก แล้วค่อยให้มีการเลือกตั้ง

ฟังดูดี

แต่ในระหว่างที่รอให้บ้านเมืองสะเด็ดน้ำ เกิดอะไรขึ้น?

รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และจัดการทำประชามติ ที่การรณรงค์คัดค้านร่างประชามติทำได้อย่างยากเย็น และยังอยู่ภายใต้แรงกดดันว่า ถ้าเราอยากเลือกตั้งก็ต้องหลับหูหลับตาให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้วค่อยไปลุ้นและกดดันให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ซึ่งภายใต้เงื่อนไขนี้มีอีกสองด่านให้ต้องผ่านคือ

ก. เราอยากเลือกตั้งเร็วๆ เราจึงลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยแทบไม่มีโอกาสครองเสียงข้างมากในสภาเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

ข. ในสภามี ส.ว.จากการแต่งตั้งอีก 250 คน

แต่เอาละ กำขี้ดีกว่ากำตด อยู่กับกติกาที่เสียเปรียบสุดๆ แต่ได้เลือกตั้ง ได้ลุ้น ก็ยังดีกว่ามองไม่เห็นแสงสว่างใดๆ ที่ปลายอุโมงค์

แต่ในระหว่างที่รอสังคมสะเด็ดน้ำ คนไทยอยู่ภายใต้การบริหารงานที่ไม่มีฝ่ายค้านในสภา

และมีการผ่านงบประมาณ การออกกฎหมายที่สำคัญหลายๆ อย่างอันมีผลกระทบต่อชีวิตของพลเมืองไทย ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น มีการออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ทำให้การยกระดับคุณภาพชีวิตพลเมืองผ่านการ empower คนที่เข้าไปถึงโอกาส และต้นทุนในการพัฒนาชีวิตถูกลดทอนลงให้เหลือแต่เพียงการสงเคราะห์ “คนจน” ด้วยการแจกเงิน เติมเงิน (เพียงเล็กน้อย) เท่านั้น คู่ขนานไปกับการเกิดขึ้นของโครงการประชารัฐที่มีพาร์ตเนอร์จากภาคเอกชนมาเข้าร่วมอย่างไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ และโดยไม่มีใครคัดค้าน

จนในที่สุดตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คณะผู้เสียสละทำหน้าที่เป็นรัฐบาลมาแล้วสี่ปีกว่าๆ ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจะได้วางมือ แล้วเปิดทางให้ประเทศเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งตามครรลองและตามกติกา (ที่มีคณิตศาสตร์อันซับซ้อน)

ทว่ามีพรรคการเมืองชื่อคล้ายๆ นโยบายหลักของรัฐบาลคือพลังประชารัฐ แถมยังมีรัฐมนตรีจากรัฐบาลมาเป็นว่าที่ผู้บริหารพรรค ว่าที่โฆษกพรรค

พีกขึ้นไปอีกคือ มีความกำกวมว่า อะไรคือการหาเสียง ใครเคลื่อนไหวอะไรได้ ใครเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้ ใครตัดสินว่าอันนี้ได้ อันนี้ไม่ได้?

แต่ที่แน่ๆ คือ ยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองหาเสียงแน่ๆ

ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยกังขาว่า เหตุผลที่เข้ามาทำรัฐประหารนั้น เข้ามาเพียงเพราะต้องการสร้างความสงบเรียบร้อยให้บ้านเมืองเท่านั้นจริงๆ หรือ?

เพราะฉะนั้น ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงมีเครื่องหมายคำถามอยู่เต็มไปหมด เช่น

คำว่าบ้านเมืองสงบนี้หมายถึงสงบอยู่ภายใต้ “ความกลัว” ใช่ไหม?

ไม่ได้สงบเพราะทุกคนรู้สึกว่า ดีจังเลย เราทุกคนต่างอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม เราทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นพลเมืองอย่างเสมอภาคกัน

ในขณะที่เรามี กกต. แต่ตอนนี้เวลามีคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คสช.ก็บอกให้ไปถาม กกต.

พอไปถาม กกต. กกต.ก็บอกว่าแล้วแต่ คสช.

ทีนี้หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แล้วคนไม่มีความ “วางใจ” ในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหนก็ตาม-ถ้า-มีกลุ่มคนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งขึ้นมาแล้วออกมา “ก่อความวุ่นวาย”

นั่นจะหมายถึงความชอบธรรมของการทำรัฐประหารหรือไม่?

แล้วเราก็สมมุติต่อไปว่า ถ้าฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งภาวนาทุกวันขอให้การรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของประเทศ เกิดกังขาในผลการเลือกตั้ง ความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ

ก. เงียบ ยอมรับผล เพราะรู้ว่า ถ้าออกมาโวยวาย ก็เท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร (ซึ่งในสังคมปกติ การออกมาประท้วง ถึงเรียกร้องให้ตรวจสอบความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้งเป็น “สิทธิอันชอบธรรม” และไม่มีวันกลายเป็นเงื่อนไขให้ทำรัฐประหารเด็ดขาด”) แล้วอยู่ภายใต้รัฐบาลที่อ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งไปเฉยเลย

ข. ฝ่ายที่ฝันถึงการรัฐประหารฉวยโอกาสนี้ออกมาเรียกร้อง ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง อ้างว่าไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ปูพรมแดงให้รถถังออกมาอีกรอบ

จะเห็นว่าทั้งหมดคือสภาวะกระอักกระอ่วน และท้ายที่สุด จะทำให้เราหนีไม่พ้นการรัฐประหารไปได้เลย เพราะขยับซ้ายก็วุ่นวายได้ ขยับขวาก็เป็นเงื่อนไขให้มีการเสียสละจำต้องออกมารัฐประหาร ทั้งๆ ที่ไม่อยากทำแต่ต้องทำเพื่อแลกกับความสงบสุขของบ้านเมือง

เพราะฉะนั้น สังคมไทยต้องตั้งสติให้ดีกับวาทกรรมที่ว่าด้วยการรัฐประหารเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยรู้เท่าทันว่า การรัฐประหารสามารถยุติความขัดแย้งและสร้างความสงบได้ชั่วคราวด้วยการทำให้พลเรือนมีชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัว ดังสะท้อนให้เห็นในผลโพลช่วงแรกๆ หลังการรัฐประหารที่คนส่วนใหญ่ออกมาแสดงความกังวลว่า ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเลย เพราะเลือกตั้งทีไรก็เต็มไปด้วยความแตกแยก ขัดแย้ง วุ่นวาย

เมื่อ “กลัว” ความแตกแยก ขัดแย้ง จึงไม่อยากให้เลือกตั้ง อยู่กันไปแบบนี้ดีกว่า

สังคมไทยต้องกลับไปหาหลักการและเหตุผลอย่างพื้นฐานว่า เครื่องมือยุติความขัดแย้งที่ดีที่สุดคือ การเคารพในกติกาของระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ

เคารพในเสียงข้างมาก ไม่กีดกัน กดทับเสียงข้างน้อย

กลับไปหาการเลือกตั้ง เคารพเสียงประชาชนที่แสดงออกผ่านบัตรเลือกตั้ง ต่อรอง แก้ไขกฎ กติกา กฎหมายกันภายใต้กลไกของรัฐสภา

พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องพยายามใช้กลไกของรัฐสภาที่มีอยู่ในการเพิ่มอำนาจของประชาชนผ่านการออกกฎหมาย และการแก้ไขกฎหมาย

ผู้แพ้ในการเลือกตั้งและนิยามว่าตนเองเป็น “เสียงข้างน้อย” ต้องผลักดันเสรีภาพในการพูด คิด เขียน และการแสดงออกทางการเมือง เพื่อให้เสียงของตัวเองไปสร้างสมดุลกับอำนาจการเมืองอย่างเป็นทางการที่เล่นกันอยู่ในสภาให้ได้

สังคมไทยต้องมองว่า การคัดค้าน การแสดงออกทางการเมือง ไปจนถึงความขัดแย้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของครรลองประชาธิปไตย เป็นความปกติ เป็นความธรรมดา มีแต่สังคมเผด็จการ อำนาจนิยมเท่านั้นที่จะสร้างสังคมที่มีสงบราบคาบ เงียบงันขึ้นมาได้ ดังนั้น เราต้องชั่งน้ำหนักว่า ระหว่างสังคมที่เสียงเซ็งแซ่ของความไม่ลงรอยกัน กับสังคมที่เงียบงัน เยียบเย็น ห่มคลุมไว้ด้วยความกลัว เราเลือกจะอยู่กับสังคมแบบไหน?

ด้วยวิถีทางนี้ เราจึงจะสร้างสังคมที่สันติสุขขึ้นมาได้ และสันติสุขนี้ไม่ได้แปลว่า “สงบ” และยิ่งไกลไปกว่าความหมายของคำว่า “ราบคาบ”

แน่นอนที่สุด ในวิถีทางนี้ ในสมการนี้ ไม่มีคำว่ารัฐประหาร

ตรงกันข้าม หากเราสมยอมกับวาทกรรมที่ว่า การรัฐประหารเป็นภาวะ “จำยอม” เพื่อแก้ไขปัญหาทางตันของบ้านเมือง สิ่งที่ตามมาคือวงจรของการรัฐประหารอันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะในภาวะที่ไม่มีฉันทามติจากเสียงข้างมากอันถือเป็นที่สุด ย่อมมีคนเสียผลประโยชน์ แล้วจัดตั้งความวุ่นวายสมมุติขึ้นมาสักอันหนึ่งเพื่อใช้เป็นบัตรเชิญของการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า

รัฐประหารไม่ใช่เครื่องมือยุติความขัดแย้ง ตรงกันข้าม อาจกลายเป็นเครื่องมือของผู้ที่ต้องการหาผลประโยชน์จากความขัดแย้งที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติก็เป็นได้

สิ่งที่จะยุติความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืนคือ ฉันทามติของเสียงข้างมาก และขันติธรรมต่อความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ของสังคมอันเป็นภาวะปกติของสังคมโลกมนุษย์นี้