จิตต์สุภา ฉิน : เราต่างอยู่ในฟองสบู่ของตัวเอง

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

โลกอินเตอร์เน็ตทุกวันนี้เป็นโลกที่มองไปทางไหนก็ถูกใจเราเสียทุกอย่าง

อยู่บนเฟซบุ๊ก ก็รายล้อมไปด้วยโพสต์จากเพื่อนที่สนิทชิดเชื้อกัน คิดเห็นแบบเดียวกัน มีความเชื่อทางการเมืองเหมือนกัน (เพราะคนที่เห็นต่างถูกลบออกจากรายชื่อเพื่อนไปนานแล้ว)

กดเข้าไปอ่านข่าวในแอพพลิเคชั่นรวมข่าวแอพพ์โปรดก็เห็นแต่ข่าวที่ตรงกับความสนใจ ทั้งบันเทิง เทคโนโลยี ผู้หญิง แฟชั่น

ไม่มีข่าวการเมือง สงคราม ฆาตกรรมโผล่มาให้หงุดหงิดเสียอารมณ์

เปิดทีวีกดปุ่มเน็ตฟลิกซ์สุดแสนจะดีใจ เจอแต่หนัง-ซีรี่ส์เรื่องที่ชอบ ดูซีรี่ส์แนวรักโรแมนติกจบไปเรื่องหนึ่ง ก็มีหัวข้อแถวใหม่เด้งขึ้นมาแนะนำพร้อมคำอธิบายว่า “เพราะคุณดู…(เรื่องเมื่อกี้) เราก็เลยแนะนำให้ดูเรื่องในหมวดหมู่เดียวกันเหล่านี้ต่อ”

นี่มันช่างเป็นโลกในอุดมคติจริงๆ หันไปทางไหนก็มีแต่ของที่เราชอบ เหมือนอยู่ท่ามกลางสายลม แสงแดด และดอกไม้ คุณผู้อ่านคุ้นๆ กันไหมคะ

น่าจะคุ้นอยู่หรอกนะคะ เพราะนี่แหละคือโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ ทุกครั้งที่เราก้มมองหน้าจอ

 

อินเตอร์เน็ตเต็มไปด้วยเนื้อหามากมาย

เราเชื่อกันว่าการใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตเยอะๆ ก็จะทำให้เราได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งมันก็อาจจะจริงในระดับหนึ่ง แต่เราลืมนึกไปว่าเทคโนโลยีที่ช่วยคัดกรองเฉพาะสิ่งที่เราสนใจมาให้เราเห็นตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นผลลัพธ์การค้นหาที่ดูจากประวัติการเยี่ยมชมเว็บไซต์ในอดีต สิ่งที่แนะนำโดยดูจากสถานที่ที่เราอยู่ หรือโพสต์ของเพื่อนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยบ่อยๆ ทั้งหมดนี้ทำให้เราเหมือนอยู่ในฟองสบู่ที่ลอยเคว้งคว้างอ้างว้างอยู่คนเดียว

จะมองไปทางไหนก็เห็นแต่เงาสะท้อนของตัวเองจ้องมองกลับมา และเราก็เข้าใจไปว่าฟองสบู่ของเราคือโลกทั้งใบ

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้นในบริบทแบบไทยๆ ก็คงจะตรงกับสำนวน “กบในกะลา” ที่สุด

คำว่าฟิลเตอร์ บับเบิล (filter bubble) เป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ที่ว่ามานี้ เกิดจากการที่อัลกอริธึมของเว็บไซต์ต่างๆ ถูกออกแบบมาให้คัดเลือกเฉพาะสิ่งที่เราสนใจมาแสดงให้เราเห็น นับวันอัลกอริธึมนี้ก็จะยิ่งเก่งขึ้นเรื่อยๆ มันรู้จักและเข้าใจเราดีขึ้น จนคัดเลือกเฉพาะสิ่งที่ตรงกับความชอบและความสนใจของเราจริงๆ มาให้ เวลาผ่านไปฟองสบู่ก็หดเล็กลงๆ จนท้ายที่สุดเราจะนึกว่าโลกใบนี้มีแต่คนที่คิดและเชื่อตรงกับเราเท่านั้น

ความน่ากลัวของฟองสบู่ฟิลเตอร์คือการปิดกั้นโอกาสในการที่เราจะได้เข้าถึงความคิดเห็นที่แตกต่าง

หรือความรู้ใหม่ที่อยู่นอกเหนือความสนใจตามปกติของเรา

 

เพื่อเป็นการสาธิตให้เห็นว่าฟองสบู่นี้มีอยู่จริง

อีไล แพริเซอร์ นักเคลื่อนไหวบนอินเตอร์เน็ตผู้คิดค้นคำเรียกฟิลเตอร์ บับเบิล ได้ยกตัวอย่างการทดลองของเขาว่า เขาให้เพื่อนๆ ลองค้นหาคำว่า “อียิปต์” บนกูเกิลและส่งผลลัพธ์การค้นหามาให้เขาดู

จากนั้นก็นำผลลัพธ์การค้นหามาเปรียบเทียบกันดู

แพริเซอร์พบว่าเพื่อนสองคนที่ค้นหาคำเดียวกันกลับได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน

คนหนึ่งได้ลิงก์เกี่ยวกับการปฏิวัติอียิปต์ปี 2011 มากมาย

ในขณะที่เพื่อนอีกคนหนึ่งไม่เห็นลิงก์แบบเดียวกันนี้เลยสักลิงก์ จะมีที่เห็นร่วมกันอยู่บ้างก็คือหัวข้อเกี่ยวกับข่าวและการท่องเที่ยวเท่านั้น

แปลว่าทุกครั้งที่เราค้นหาอะไรบางอย่างบนกูเกิล เราอาจจะไม่ทันได้ฉุกคิดเลยว่าผลลัพธ์การค้นหาของเรากับของเพื่อนอาจจะมีหน้าตาไม่เหมือนกันเลย

ย้อนกลับมามองตัวเองบ้าง ไม่ใช่ว่าไม่เคยรู้ว่าปัญหาเรื่องนี้มีอยู่ แต่ซู่ชิงก็มีแนวโน้มที่จะลืมไปว่าทุกวันนี้เราเลือกห่อหุ้มตัวเองด้วยข้อมูลที่ทำให้เรารู้สึกอุ่นสบาย ไม่แปลกปลอม

จนเวลาผ่านไป เรานึกว่าทุกคนในประเทศนี้น่าจะติดตามเพจเดียวกันกับที่เราติดตาม

เสพข่าวแบบเดียวกับที่เราเสพ และคิดเหมือนๆ กับเราไปหมด

จนมาวันหนึ่งฟองสบู่ของซู่ชิงก็แตกจนได้

จากการได้คุยกับน้องที่เพิ่งรู้จักกันไม่นานและได้เรียนรู้ว่า แม้เราสองคนจะอยู่บนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเดียวกัน

แต่กลับไม่มีอะไรทับซ้อนกันเลยแม้แต่อย่างเดียว

ราวกับเราอยู่กันคนละโลกก็ไม่ปาน

 

การอยู่ในฟองสบู่แบบนี้มันก็สบายดีนะคะถ้าหากว่าเราสามารถเลี้ยงให้มันไม่แตกและล่องลอยต่อไปได้

แต่เมื่อไหร่ที่มันแตกโพละเท่านั้นแหละ เราจะตาสว่างทันที

และจะอดไม่ได้ที่จะคิดว่า “เฮ้ย ที่ผ่านมาตั้งนานหลายปี เราพลาดอะไรไปบ้างเนี่ย”

คล้ายๆ กับเวลาเราตกหลุมรักใครสักคนหัวปักหัวปำจนเราไม่เคยเห็นข้อเสียของเขาเลย

อยู่มาวันหนึ่งหมดรักเอาดื้อๆ ก็กลับได้เห็นโลกตามความเป็นจริงว่าเขาก็ไม่ใช่คนที่ดีที่สุด

และโอ้โห โลกใบนี้ยังมีอะไรอย่างอื่นที่น่าสนใจ รอให้เราเรียนรู้อยู่อีกเต็มไปหมด

ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้อันจำกัดของกบในฟองสบู่อย่างเราๆ เท่านั้น แต่มันยังส่งผลไปเป็นวงกว้างกว่าที่คาด

ว่ากันว่าการที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาพลิกโผออกมาได้เป็นผู้นำบุคลิกสุดแหวกแนวอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มาจากภาวะฟองสบู่ฟิลเตอร์นี่แหละ

เช่นเดียวกับผลโหวตเบร็กซิทให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปด้วย ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่างก็ต้องครุ่นคิดอย่างหนักว่าจะเริ่มต้นลงมือเจาะฟองสบู่ฟิลเตอร์กันอย่างไรดี

มีข่าวว่าเฟซบุ๊กจดสิทธิบัตรระบบที่จะช่วยให้เนื้อหาที่ผู้ใช้งานแต่ละคนได้เห็นมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความคิดเห็นทางการเมือง

ในขณะที่ผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์ อย่างแจ๊ก ดอร์ซีย์ ก็ออกมายอมรับผิดตรงๆ ว่าทวิตเตอร์มีส่วนทำให้ปัญหาฟองสบู่ฟิลเตอร์สาหัสกว่าเก่า

เขาบอกว่าปัญหานี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ทวิตเตอร์เปิดให้ผู้ใช้งานกดติดตามคนที่ตัวเองสนใจแล้ว เพราะนั่นแปลว่าเราก็จะได้อ่านเฉพาะความคิดเห็นของคนที่คิดแบบเดียวกับเรา ดอร์ซีย์บอกว่าปัญหาเรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ไข และต้องทำให้คนเห็นทวีตจากทั้งสองฝ่ายด้วยการกดติดตามหัวข้อแทนที่จะกดติดตามบุคคล เขาเชื่อว่านี่จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำลายฟองสบู่ได้

อันที่จริงถ้าหากเราต้องการเจาะฟองสบู่ที่ล้อมรอบตัวเราให้แตก ซู่ชิงว่าเราไม่ต้องรอพึ่งเครื่องมือใหม่ๆ จากเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์หรอกค่ะ

แค่เราได้ตื่นรู้ว่ามันมีฟองสบู่ล้อมรอบเราอยู่จริง มีกะลาครอบเราอยู่จริง แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง

มองหาความรู้ที่อยู่นอกเหนือคอมฟอร์ตโซนของเรา

ฟังเสียงของคนที่อยู่นอกวงสนทนาเดิมๆ ของเราแล้ว อย่างน้อยๆ ก็น่าจะเป็นการแหวกฟองสบู่ให้กว้างขึ้น หรือแง้มกะลาให้เปิดขึ้นสักนิดสักหน่อยก็ยังดี

ที่แน่ๆ หากคุณอ่านบทความนี้จนจบ ซู่ชิงคิดว่าคุณน่าจะเห็นฟองสบู่ที่โอบล้อมรอบตัวคุณเป็นครั้งแรกแล้วละค่ะ