เปิดวิสัยทัศน์ “ผบช.ภ.7” กำราบอิทธิพล-ค้ามนุษย์ สั่งโรงพักรับแจ้งความ 100%

http://siameagle.com/topic-1166/%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%90%E0%B8%A1-%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%8859.html

พื้นที่ จ.นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ในเขตรับผิดชอบกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (บช.ภ.7) เป็นพื้นที่ภาคกลางมุ่งสู่ภาคใต้ตอนล่าง จัดเป็นพื้นที่สำคัญเชื่อมต่อกรุงเทพมหานคร

แต่ละพื้นที่ประชากรจะประกอบอาชีพ เกษตรกรรม ประมง และยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ

ที่ล่าสุดคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง พล.ต.ต.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (รอง ผบช.ภ.7) ขึ้นเป็น ผบช.ภ.7 แทน พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.ภ.7 คนเดิม ที่โยกไปเป็น ผบช.ภ.1

“โล่เงิน” สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.ต.สุทธิพงษ์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (รรท.ผบช.ภ.7) เจ้าของรหัสเรียกขาน เจดีย์ 1 หรือ บัว ในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ถึงนโยบายและวิสัยทัศน์ ที่ว่า

“พิทักษ์ภัยให้ประชา รักษาความสงบสุขของสังคม นิยมความถูกต้อง”

 

พล.ต.ต.สุทธิพงษ์ กล่าวว่า เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจถูกวิจารณ์อย่างมาก ถ้าเราพิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ของตำรวจ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ต้องใช้ความสำคัญในการป้องกัน (prevention) เพื่อมิให้อาชญากรรมเกิดขึ้น โดยปฏิบัติหน้าที่ในเชิงรุกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น งานสายตรวจออกตรวจป้องกันภัย งานสืบสวนหาข่าว งานตำรวจชุมชนมวลชนสัมพันธ์ ฯลฯ จะมีลักษณะการป้องกันอาชญากรรม เป็นมาตรการปกป้องคุ้มครองสวัสดิการให้แก่ประชาชนก่อนที่เหตุร้ายจะเกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้บุคคลหรือองค์กรอื่นใดละเมิดกฎหมาย ก่ออาชญากรรม สร้างความเดือดร้อน ความเสียหายในร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน

รรท.ผบช.ภ.7 กล่าวถึงด้านการป้องกันความเสียหาย หรือการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ว่า ทั้งที่เกิดจากการกระทำหรือไม่ใช่การกระทำของมนุษย์ โดยเจตนา หรือไม่เจตนา

บางกรณีตำรวจอาจต้องเข้าไปช่วยแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยตรง หรืออาจจะต้องติดต่อหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขดำเนินการแทน เช่น เกิดอุทกภัย อัคคีภัย ภัยพิบัติต่างๆ ฯลฯ

“เช่นเดียวกับการปราบปราม (suppression) เป็นหน้าที่ภายหลังจากมีเหตุการณ์ร้ายหรืออาชญากรรมเกิดขึ้นแล้ว ในการติดตามจับตัวคนร้ายบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายหรือผลร้ายที่เกิดขึ้น การปราบปรามทำได้หลายวิธี เช่น ตั้งแต่การเข้าระงับเหตุทะเลาะวิวาทเล็กน้อย ก่อนจะลุกลามไปมาก หรือติดตามสืบสวนหรือสอบสวน เพื่อจะสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ถ้าสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเพียงใด จะสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา อบอุ่นใจกับประชาชนที่มีต่อการทำงานตำรวจมากขึ้นเท่านั้น”

“อีกเรื่องคือการคุ้มครองสิทธิของบุคคล (protection) เป็นหน้าที่ ให้ความคุ้มครองสิทธิของบุคคลมิให้ถูกละเมิดโดยบุคคลอื่น ต้องเข้าไประงับยับยั้งการกระทำที่ล่วงละเมิด สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้เกิดขึ้น”

“รวมถึงการให้บริการ (service) หน้าที่ให้บริการ เป็นสิ่งส่งเสริม การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมให้ได้ผลดี สามารถลดเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุ อาจจะก่อให้เกิดอาชญากรรมหรือเหตุร้าย หรือความเดือดร้อนเสียหายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การบริการหรือแจ้งข่าวการจราจร การบริการฝากบ้านกับตำรวจเมื่อประชาชนไม่อยู่บ้าน ตอบปัญหาเดือดร้อนต่างๆ ทางโทรศัพท์ ฯลฯ”

รรท.ผบช.ภ.7 เผย

 

ส่วนเรื่องผู้มีอิทธิพลในพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัด พล.ต.ต.สุทธิพงษ์ กล่าวว่า ไม่วิตกกังวล แต่ขอเตือนให้ผู้ที่มีอิทธิพลในพื้นที่อยู่ในระเบียบข้อกฎหมาย ทั้งเรื่องฮั้วประมูล ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซุ้มมือปืน ฯลฯ ทั้งหมดจะทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย จะมีมาตรการเข้มข้นขึ้น

ต่อข้อถามถึงคดีดังข้ามปี ข่มขืนหญิงชราที่บางรายเสียชีวิตจากฝีมือคนร้าย พล.ต.ต.สุทธิพงษ์ กล่าวว่า “คดีข่มขืนหญิงชราที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ แม้จะเกิดมานานหลายปี ยังดำเนินการต่อไม่ได้ ผมยังให้ความสำคัญกับคดีดังกล่าวที่ยังติดค้างอยู่ ยังมีการสืบสวนสอบสวนอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีพร้อมทำแผนป้องกัน คดีอุกฉกรรจ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ บช.ภ.7 เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ติดตามจับกุมได้หมด”

“ส่วนคดีเกี่ยวกับทรัพย์และลักรถเกิดขึ้นน้อย จึงไม่กังวล”

 

ด้านปัญหาค้ามนุษย์ ที่ทั่วโลกต่างจับตา รรท.ผบช.ภ.7 บอกว่า ปัญหาแรงงานประมงต่างด้าวช่วงนี้ไม่ค่อยเกิดปัญหา เพราะทหารจากกองทัพเรือมีศูนย์ pipo และหน่วยศรชล ของทหารเรือ ใช้ตำรวจเข้าร่วม มีมาตรการตรวจสอบใน 4 จังหวัดชายทะเล ประกอบด้วย สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ การทำประมง การค้ามนุษย์ แรงงานผิดกฎหมายและเรื่องต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาล มีการตรวจทุกวัน

ส่วนงานด้านความมั่นคงและป้องกันยาเสพติดที่คนร้ายมักใช้เส้นทางผ่านนั้น พล.ต.ต.สุทธิพงษ์ เผยว่า มีด่านตรวจสอบตามเส้นทางหลักตั้งแต่ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตลอด 24 ชั่วโมง เข้า อ.หัวหิน เส้นบายพาส ต่อเนื่อง อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ออกถนนพระราม 2 ผ่าน จ.สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน นอกจากนี้ จะนำกล้องซีซีทีวีคุณภาพสูง จากเดิมที่มีอยู่เข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจและจราจร มาเสริมบนถนน โดยกล้องดังกล่าวจะสามารถส่องแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ และลดกระจกลงสำหรับถ่ายภาพใบหน้าผู้ขับขี่ ที่ผ่านด่านตรวจมาเก็บไว้ในข้อมูล จุดนี้อาจทำให้ผู้ที่สัญจรรถยนต์ผ่านไปมา อึดอัดด้านการจราจรที่ติดขัด

หากพบรถยนต์ต้องสงสัยจึงเข้าตรวจค้นอย่างละเอียด เพราะถนนในพื้นที่มีรถยนต์สัญจรจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ พล.ต.ต.สุทธิพงษ์ เผยด้วยว่า ได้สั่งให้ทุกสถานีตำรวจในสังกัด บช.ภ.7 ให้ความสำคัญกับประชาชนที่เดินทางมาติดต่อราชการบนสถานีตำรวจ โดยให้การบริการแบบ 100% หากผู้เสียหายมาแจ้งความให้รับแจ้งความทุกคดีตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยเฉพาะคดีจราจร จะต้องให้ความเป็นธรรม จะมีรองผู้บัญชาการ (รอง ผบช.) ที่รับผิดชอบกำกับดูแล ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จะทำยังไงก็แล้วแต่ ขอให้ประชาชนเดินทางลงจากโรงพักให้มีความสุข โดยเฉพาะร้อยเวรต้องใช้กิริยาวาจาสุภาพ ต้องตอบคำถามเขาได้ถ้าเขาสงสัย ประชาชนไม่รู้เรื่องข้อกฎหมาย หรือไม่ได้มาแจ้งความแต่มาปรึกษาก็ต้องรับการปรึกษาด้วย

“บางคดีไม่ใช่คดีอาญา แต่เป็นคดีแพ่ง หรือประชาชนได้รับความเดือดร้อนเรื่องอื่น อย่าผลักไสไล่ส่งให้เขาไปที่อื่นโดยไม่ชี้แจงหรือไม่ช่วย เรื่องบางเรื่องอาจไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ แต่เราต้องประสานงานไปหน่วยงานราชการอื่น ไม่ใช่ให้ไปที่โน่น ที่นี่ไม่เกี่ยว ไม่มีหน้าที่ มันไม่ใช่ ต้องทำความเข้าใจ แม้แต่เหตุที่ไม่ได้เกิดขึ้นที่โรงพักของตัวเองก็ต้องรับแจ้งความ เมื่อผู้เสียหายเขามาได้รับความเสียหาย เขาเดือดร้อนก็ต้องการความคืบหน้าของคดี พนักงานสอบสวนควรจะแจ้งความคืบหน้าของคดีให้ผู้เสียหายทราบว่าคดีนี้อยู่ระหว่างถึงไหน อะไร ยังไง เขาจะได้ไม่บอกว่าตำรวจไม่ทำงาน เป็นการทำความใจกับประชาชน”

พล.ต.ต.สุทธิพงษ์ รรท.ผบช.ภ.7 กล่าวทิ้งท้าย