ยุวดี ธัญญศิริ นักข่าวทำเนียบ กับ “มาตรการความปลอดภัย”

เจ๊ยุ หรือ นางยุวดี ธัญญศิริ เป็นนักข่าวสายทำเนียบที่คนทำงานสื่อ หากเคยผ่านงานภาคสนามจะต้องรู้จัก

เพราะเจ๊อยู่ทำเนียบมาอย่างยาวนาน นายกรัฐมนตรี และ ครม. เปลี่ยนไปคนแล้วคนเล่า ชุดแล้วชุดเล่า แต่เจ๊ยุก็ยังอยู่

แม้จะเกษียณอายุจากบางกอกโพสต์มาแล้ว แต่ยังทำงานฟรีแลนซ์ หรือเป็นผู้สื่อข่าวอิสระอยู่

ยังทำงานด้วยความรักในอาชีพ แม้ฐานะทางครอบครัว สถานะทางสังคม ในฐานะภรรยาของอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เปิดช่องให้เจ๊ยุพักผ่อน หยุดทำงานได้สบายๆ

ก่อนหน้านี้ มีข่าวกระเส็นกระสายมาเป็นระยะ ในเรื่อง “ความปลอดภัย” และการจัดระเบียบในทำเนียบรัฐบาล

และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม โฆษกไก่อู หรือ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ออกมากล่าวกรณีขอความร่วมมือจากผู้สื่อข่าว โดยเรียกคืนบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลที่สำนักโฆษกฯ ออกให้ เปลี่ยนมาใช้บัตรเข้าออกทำเนียบแบบชั่วคราวแทน ว่า ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่สำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายเพิ่มมาตรการการรักษาความปลอดภัยในหน่วยงานราชการให้มีความเข้มข้นขึ้น

การเพิ่มมาตรการนั้นจะไม่เข้มข้นเฉพาะสื่อมวลชน แต่รวมถึงบรรดาข้าราชการในทำเนียบ ที่จะต้องทำบัตรประจำตัวใหม่ทั้งหมด

จากเดิมขั้นตอนการทำบัตรสื่อมวลชนจะต้องมีหนังสือรับรองจากต้นสังกัด รูปถ่าย และต้องกรอกรายละเอียดต่างๆ ก่อนยื่นให้สำนักโฆษกฯ พิจารณาออกบัตร

แต่มาตรการใหม่ทุกคนจะต้องมากรอกข้อมูลส่วนตัวและถ่ายรูป ณ สถานที่ที่เตรียมไว้ ที่สำคัญคือต้องมีหนังสือรับรองจากต้นสังกัดรับรอง

เมื่อถามว่าบัตรสื่อมวลชนใบเดิมจะหมดอายุในสิ้นปีนี้อยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องเร่งดำเนินการตอนนี้ ทั้งที่บัตรชั่วคราวสามารถปลอมแปลงได้ง่ายกว่า

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นใครจะรับผิดชอบ แสดงว่าในโลกมนุษย์หรือในประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นไม่ได้หรือ เรามีความรู้สึกว่าคนเข้านอกออกในทำเนียบเยอะ จึงต้องขอตรวจสอบซ้ำ ถามว่าใครเดือดร้อนอะไรหรือไม่ แต่ถ้าไม่เดือดร้อนก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหา อย่าคิดตั้งแง่ เพราะจะไม่มีอะไรที่สามารถทำได้เลย ต้องดูถึงความจำเป็น

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลพยายามกีดกันผู้สื่อข่าวบางคนไม่ให้เข้ามาทำข่าวในทำเนียบ

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่มีใครมองเช่นนั้น เพราะข้าราชการจะมองโดยการเอาระบบเป็นตัวตั้ง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎกติกา หากไม่มีบัตรประจำตัวที่สำนักโฆษกฯ ออกให้ ก็ต้องนำบัตรประจำตัวที่ตนสังกัดออกให้มาแลก เมื่อต้องการเข้ามาทำข่าวในทำเนียบ

สำหรับบัตรประจำตัวสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ประจำปี 2559 เดิมจะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคมนี้

ตามปกติสำนักโฆษกฯ จะเริ่มดำเนินการจัดทำบัตรใหม่ให้ในระหว่างธันวาคม-มกราคมของทุกปี ซึ่งกรณีการเรียกบัตรคืนที่เกิดขึ้นนั้น บรรดาสื่อมวลชนต่างตั้งข้อสังเกตไปในทิศทางเดียวกันว่า จะมีผลกระทบต่อผู้สื่อข่าวบางรายที่ไม่มีหนังสือรับรองสถานะจากต้นสังกัด

ซึ่งเมื่อทำเนียบไม่ออกบัตรให้ ต่อไปก็ไม่สามารถเข้ามาทำข่าวในทำเนียบได้อีกต่อไป

 

วันรุ่งขึ้น 1 พฤศจิกายน เจ๊ยุ หรือ ยุวดี ธัญญศิริ เผยว่า ยอมรับในมาตรการจัดระเบียบสื่อมวลชน และมาตรการรักษาความปลอดภัย ที่ควรมีขอบเขต

เนื่องจากปัจุบันมีสื่อมวลชนอยู่เป็นจำนวนมากและไม่รู้ว่าใครเป็นใคร รวมถึงการแต่งกายที่ไม่สุภาพ เพราะทำเนียบถือเป็นศูนย์กลางของการบริหารประเทศ ที่ควรมีขอบเขตที่ชัดเจน

เจ๊ยุกล่าวว่า ที่ผ่านมาตัวเองทำถูกระเบียบทุกอย่าง และได้มีหนังสือรับรองจากต้นสังกัดในเครือบางกอกโพสต์ในตำแหน่งผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ แต่หากบอกว่าไม่ให้ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์เข้ามาทำงานในทำเนียบรัฐบาลแล้วก็พร้อมปฏิบัติตาม และตั้งข้อสังเกตถึงการอนุญาตเข้า-ออก ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ของสำนักข่าวต่างประเทศอื่นๆ ด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไร

ช่วงเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ทำเนียบไม่อนุญาตให้ นางยุวดี ธัญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายในทำเนียบ อ้างว่าบัตรหมดอายุและไม่มีต้นสังกัดประจำ หากจะเข้าทำเนียบต้องแลกบัตรเข้า แต่นางยุวดีตัดสินเดินทางกลับไม่ได้เข้าไปภายในทำเนียบ

ต้นสายปลายเหตุ น่าจะมาจากการที่เจ๊ยุ เป็นผู้สื่อข่าวที่กล้าถามคำถามอย่างตรงไปตรงมา จนบางครั้งสร้างความไม่พอใจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาแล้ว

และเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อมอบเสื้อที่ระลึกวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก และกล่าวเรียกร้องต่อนายกฯ ว่า เพื่อแสดงถึงการตระหนักในความสำคัญของเสรีภาพสื่อ ขอให้ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ยังเป็นข้อจำกัดของสื่อ โดยเฉพาะคำสั่ง คสช. ที่ 97/2558 และ 103/2558

ทาง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับนายมีชัยว่า เสรีภาพเท่าที่มีอยู่ยังไม่พออีกหรือ ทำให้นายวันชัย กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าไม่พอ แต่เป็นการรณรงค์ในวันเสรีภาพสื่อมวลชน ไม่ได้หมายถึงจะขอนายกฯ มอบเสรีภาพให้มากขึ้น แต่มีกฎหมายบางข้อที่อยากขอร้องให้นายกฯ ยกเลิก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราไปยุ่งอะไรกับพวกท่าน วันที่ระลึก ก็เข้าใจ และจะดูให้ แต่ถ้ายกเลิกบางข้อก็ต้องเพิ่มในบางข้อ ถึงอย่างไรขอให้ทุกคนมีความสุข ขอให้ทำเพื่อบ้านเมือง

จากนั้น นางยุวดี ได้กล่าวว่า เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน ทำให้นายกรัฐมนตรีหันกลับมาและถามว่า ใครพูด จากนั้นผู้สื่อข่าวอาวุโส กล่าวว่า “ยุวดี” นายกรัฐมนตรี จึงกล่าวว่า ระวังตัวด้วย

ซึ่งนางยุวดี กล่าวว่า ไม่เป็นไรค่ะ ระวังอยู่แล้ว

 

บทบาทหรืออาชีพสื่อ โดยเฉพาะการทำงานข่าวในทำเนียบของเจ๊ยุ จะหยุดเพียงแค่นี้หรือไม่ ยังเป็นที่สงสัย

ถ้าจะต้องยุติเพียงเท่านี้ก็น่าเสียดายแทนประชาชน เพราะคำถามของนักข่าว ก็คือการเสาะแสวงหาความจริงให้สังคม ให้ผู้อ่าน ที่ไม่สามารถไปซักถามผู้มีอำนาจโดยตรงได้

สำหรับสื่อ การตั้งคำถามเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ แม้ว่าบางครั้งก็จะตามมาด้วยคำเตือนให้ระวังตัวก็ตาม

องค์กรสื่อต่างๆ จะแสดงบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้ น่าจะต้องติดตามกันต่อไป