การศึกษา / ‘หมอธี’…สั่งผ่าตัดใหญ่ ยื้อชีวิต ‘องค์การค้าฯ-ศึกษาภัณฑ์’??

การศึกษา

‘หมอธี’…สั่งผ่าตัดใหญ่

ยื้อชีวิต ‘องค์การค้าฯ-ศึกษาภัณฑ์’??

 

เป็นปัญหา “เรื้อรัง” มายาวนาน สำหรับ “องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)”

ไม่ว่าจะหยิบ จะจับ จะแตะไปตรงไหนภายในองค์การค้าฯ ล้วนแล้วแต่เจอปัญหาแทบทั้งสิ้น

ตั้งแต่การบริหารจัดการที่ “ล้มเหลว” อย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ธุรกิจ และบุคลากร

การ “ทุจริต” ภายในองค์กรที่ฝังรากลึกมายาวนาน ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนผู้บริหารองค์การค้าฯ กี่คนต่อกี่คน

ไม่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใดจะพยายามเข้าไปเคลียร์ปัญหาต่างๆ สุดท้ายก็ต้องถอยไม่เป็นท่า

รวมถึงการเล่น “การเมือง” อย่างหนักหน่วงภายในองค์การค้าฯ ตั้งแต่อดีต ที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

“ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สั่ง “ผ่าตัด” องค์การค้าฯ น่าจะมาจากสาเหตุที่ “สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)” ประกาศแบบไม่ไว้หน้า “ตัด” โควต้าพิมพ์หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ขององค์การค้าฯ ที่เหลืออยู่ 70%

หลังจากก่อนหน้านี้ สสวท.ได้ตัดโควต้าพิมพ์หนังสือเรียนระดับมัธยมขององค์การค้าฯ ไปให้โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว 30% เนื่องจากความล่าช้าในการพิมพ์ และจัดส่งหนังสือเรียนให้โรงเรียนไม่ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2561

ทำให้รายได้ขององค์การค้าฯ ในส่วนนี้กว่า 800 ล้านบาท หายวับไปกับตาเลยทีเดียว!!

ในขณะที่มี “พนักงาน” ที่ต้องดูแลมากถึง 1,200 คนทั่วประเทศ

นพ.ธีระเกียรติจึงต้องออกโรงเชิญนายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท.มาเจรจาด้วยตัวเอง จน สสวท.ต้องยอมให้โอกาสองค์การค้าฯ ครั้งสุดท้าย

หากไม่สามารถพิมพ์และจัดส่งหนังสือเรียนได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนอีก ก็จะยกเลิกการจ้างองค์การค้าฯ

หรือถ้าองค์การค้าฯ พิมพ์และส่งหนังสือเรียนได้ตามกำหนด ก็อาจจะเพิ่มสัดส่วนการจ้างพิมพ์ให้มากกว่า 70%

 

อย่างไรก็ตาม หากดูสถานะทางการเงินขององค์การค้าฯ ที่เพิ่งรายงานให้คณะกรรมการ สกสค.ครั้งล่าสุด พบว่า ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้ามาบริหารประเทศ มียอดหนี้ 7,000 ล้านบาท ปี 2560 ยอดหนี้เหลือ 3,900 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าลิขสิทธิ์ 260 ล้านบาท ค่ากระดาษ  514 ล้านบาท ค่าจ้างพิมพ์ 840 ล้านบาท ติดหนี้บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) 1,081 ล้านบาท เพิ่งชำระเมื่อเดือนพฤษภาคม 120 ล้านบาท เหลือต้องชำระให้เดือนละ 5 ล้านบาท ต่อเนื่อง 6 ปี เจ้าหนี้ทางการค้าซึ่งใช้เงินหมุนเวียนในการชำระ 55 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังติดหนี้ธนาคารต่างๆ รวม 886 ล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ 220 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 255 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ 131 ล้านบาท และธนาคารกรุงไทย 280 ล้านบาท โดยเสียดอกเบี้ยเดือนละ 5 ล้านบาท

แต่องค์การค้าฯ ยังมีลูกหนี้ประมาณ  817 ล้านบาท แบ่งเป็น ลูกหนี้ที่ชำระหนี้แล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อออกใบเสร็จ 176 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างเก่า 17 ล้านบาท ลูกหนี้ที่ฝ่ายกฎหมายดำเนินคดี 71 ล้านบาท และลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการติดตามเก็บเงิน 551 ล้านบาท

ขณะที่เงินฝากในบัญชีขององค์การค้าฯ ยอด ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2561 เหลือเพียง 58.86 ล้านบาท!!

 

เพื่อให้การทำงานขององค์การค้าฯ เดินหน้าต่อไป นพ.ธีระเกียรติได้แต่งตั้งนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ. เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ภายหลังนายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัด ศธ.ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.ขอลาออก

โดยการประชุมครั้งล่าสุด นพ.ธีระเกียรติยืนยันว่าจะ “ไม่ยุบ” องค์การค้าฯ อย่างแน่นอน…

ที่ประชุมยังได้หารือถึงทางออกเบื้องต้น คือให้เร่งแก้ปัญหาเรื่องกำลังคน โดยให้ศึกษาข้อกฎหมายเพื่อทำแผนถ่ายโอน และลดภาระในส่วนเงินเดือน เนื่องจากองค์การค้าฯ ต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานมากกว่า 40 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการที่ สสวท.ตัดโควต้าการพิมพ์หนังสือเรียนเหลือเพียง 70% ยังส่งผลกระทบให้ตัวแทนร้านค้าที่มีอยู่กว่า 100 แห่ง ขอถอนตัวไปกว่า 90 แห่ง ที่ประชุมจึงเห็นพ้องให้ใช้วิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส ศึกษาแนวทางที่จะยกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับตัวแทนร้านค้าทั้งหมด เพื่อปลดล็อก และเปิดให้ซื้อขายได้อย่างเสรี

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเร่งด่วนที่องค์การค้าฯ ต้องเร่งทำอย่างแรก คือ สำรวจทรัพย์สิน และที่ดิน ว่ามีเท่าใด หากจำเป็นต้องขายทรัพย์สินใดก็ต้องทำ เนื่องจากมีหนี้สินเร่งด่วนที่ต้องชำระ ทั้งค่ากระดาษ และค่าจ้างพิมพ์ มากถึง 1,300 ล้านบาท จากหนี้สินทั้งหมด 3.9 พันล้านบาท

ที่ประชุมยังมอบหมายให้องค์การค้าฯ ไปจัดทำแผน และหาแหล่งเงินกู้ โดยไฟเขียวให้นำที่ดินและทรัพย์สินขององค์การค้าฯ ค้ำประกันเงินกู้ได้

รวมถึงให้องค์การค้าฯ เร่งประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยราชการต่างๆ ว่าได้ทำข้อตกลงกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ให้องค์การค้าฯ รับจ้างส่วนราชการโดยใช้วิธีการจ้างแบบพิเศษได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบปกติ และให้โรงเรียนที่ได้รับงบประมาณจัดซื้อหนังสือเกิน 5 แสนบาท ซื้อหนังสือเรียนผ่านตัวแทนจำหน่ายขององค์การค้าฯ ได้โดยไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้าง

นอกจากนี้ ยังให้องค์การค้าฯ สำรวจร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ทั่วประเทศ หากสาขาใด “ขาดทุน” ให้ “ยุบ” และเหลือไว้เฉพาะสาขาที่ทำกำไร เพื่อไม่ให้เป็นภาระ

จึงเป็นที่มาของกระแสข่าวยุบ “ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ราชดำเนิน” โดยจะย้ายไปรวมกับศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ราชบพิธ!!

นายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ยืนยันว่าไม่มีนโยบายยุบศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ หรือเอาคนออกอย่างแน่นอน

แต่ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์สาขาไหนที่ขาดทุน หรือไม่คุ้มค่า จะจัดทำแผนปรับปรุงเพื่อเพิ่มกำไร ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 10 สาขา

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ที่ทำ “กำไร” มีเพียง 1 สาขา คือ “ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ลาดพร้าว”

ทั้งนี้ ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ทั้ง 10 สาขา ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง 9 แห่ง และที่ จ.อุตรดิตถ์ อีก 1 แห่ง ได้แก่ 1.ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ราชดำเนิน 2.ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ลาดพร้าว 3.ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์คุรุสภา (สกสค.) 4.ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ราชบพิธ 5.ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์สนามกีฬาแห่งชาติ 6.ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ท้องฟ้าจำลอง 7.ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์อิมพีเรียลเวิลด์สำโรง 8.ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์สตรีท 9.ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์อ้อมน้อย และ 10.ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ปตท.อุตรดิตถ์ มีพนักงานรวมกว่า 200 คน

จากข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ถึงเดือนมิถุนายน 2561 ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ที่ยังมีกำไร มี 5 สาขา และขาดทุนอีก 5 สาขา

โดยสาขาที่ขาดทุนมากที่สุดคือ ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ราชดำเนิน ขาดทุนกว่า 10 ล้านบาท

ปัญหาการขาดทุนของศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ราชดำเนิน ซึ่งเป็นที่มาพร้อมกับกระแสข่าวว่าจะปิดตัวนั้น นายวีระกุลยืนยันว่าไม่ใช่การปิดถาวร แต่เป็นการปิด “ชั่วคราว” เพราะเจ้าของที่แจ้งปรับปรุงอาคารในพื้นที่ดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี จากนั้นจะย้ายมาเปิดในพื้นที่เดิม เพราะเป็นศึกษาภัณฑ์พาณิชย์สาขาแรกที่เกิดมาคู่กับองค์การค้าฯ ซึ่งปัจจุบันเช่าพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร ค่าเช่าเดือนละ 900,000 บาท หากปรับปรุงเสร็จ องค์การค้าฯ จะขอลดพื้นที่ลงเหลือ 800-1,000 ตารางเมตร ค่าเช่าเดือนละ 700,000-800,000 บาท

เบื้องต้นได้เตรียมกระจายบุคลากรของสาขาดังกล่าว 60 คนไปยังสาขาต่างๆ

ส่วนการถ่ายโอนบุคลากรขององค์การค้าฯ ไป สกสค. อยู่ระหว่างศึกษากฎหมาย แต่ต้องดูความสมัครใจ เพราะพนักงานองค์การค้าฯ รับเงินเดือนจากการทำธุรกิจ ส่วนบุคลากรใน สกสค.รับเงินเดือนจากรัฐ

ต้องติดตามว่า การผ่าตัดใหญ่ครั้งนี้ จะยื้อ “องค์การค้าฯ” และ “ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์” ให้ฟื้นจาก “โคม่า” ได้หรือไม่??