ฉัตรสุมาลย์ : แม้แต่พระก็ไม่รู้นะ

วันก่อน (ต้นเดือนตุลาคม 2561) มีพระภิกษุมาเยี่ยม หลายรูปอยู่ ท่านธัมมนันทาก็ขอให้ท่านเขียนในสมุดเยี่ยม ท่านถามว่า “ให้เขียนอะไร” ท่านธัมมนันทาก็เรียนท่านไปว่า “เห็นอะไรดี อะไรไม่ดีก็เขียนไว้”

ท่านถามว่า “ไม่ดีก็เขียนหรือ”

อ้าว เขียนด้วยซีจะได้พัฒนาได้

ท่านธัมมนันทาท่านหยอดว่า “อีกหน่อย หลวงพี่เป็นสมเด็จ เราจะได้อาศัยใบบุญไง”

ในสมุดเยี่ยมของวัตรเล่มก่อน มีพระที่มาเยี่ยมวัตรแล้ว ต่อมาท่านก็ได้เป็นสมเด็จด้วย

ท่านธัมมนันทายืนยันว่า ไม่ใช่สมเด็จธรรมดา สมเด็จพระสังฆราชเชียวนะ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 14 และองค์ที่ 16 เคยมาเยี่ยมวัตรเรา และเขียนให้กำลังใจลูกผู้หญิงไว้ค่ะ

สิ่งที่พระท่านถามในวันนั้น ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับภิกษุณี ประเด็นการยอมรับไม่ยอมรับที่เราคุยกันจนเบื่อแล้ว

ท่านธัมมนันทาถามว่า “หลวงพี่รู้ไหมว่า หลวงพี่ถูกละเมิดสิทธิ์” หลวงพี่ 3-4 รูปมองหน้ากันอย่างงงๆ

“หลวงพี่ทราบใช่ไหมคะว่า เรื่องการอุปสมบทภิกษุณีนี้ พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้ภิกษุเป็นผู้บวชให้”

“ยังงั้นเหรอ เราไม่ค่อยได้อ่านละเอียด”

ท่านธัมมนันทารุกต่อ ยืนยันว่า “หลวงพี่ดูในพระวินัยซิ อยู่ในจุลลวรรค”

หลวงพี่ท่านยังพร้อมที่จะฟังต่อ ถามขึ้นว่า

“แล้วมันละเมิดสิทธิของพระอย่างไร”

 

หลวงพี่ท่านอาจจะไม่ได้ตามข่าว ทวนความเล็กน้อย

เมื่อตอนที่นริทร์กลึง บวชลูกสาว คือสาระ และจงดีนั้น การบวชคลุมเครือ ไม่เปิดเผยด้วยซ้ำว่าใครเป็นอุปัชฌาย์ทำการบวชให้

สมเด็จพระสังฆราชขณะนั้นคือ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงมีพระบัญชาถึงพระภิกษุสงฆ์ไทยในอาณัติของท่านว่า ห้ามไม่ให้พระสงฆ์ไทย ให้การอุปสมบทสตรี ไม่ว่าจะเป็นสามเณรี สิกขมานา หรือภิกษุณี

พระบัญชานั้น ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2471

ตอนนั้น ประเทศไทยยังปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระเจ้าแผ่นดินปกครองสูงสุด

พระบัญชา หรือคำสั่งนี้ ก็ไม่มีใครกล้าแหยม และยิ่งไปกว่านั้น เพราะการอุปสมบทอาจจะไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยด้วย

เวลาผ่านไป สังคมเปลี่ยนไป สังคมชาวโลกเปลี่ยนไป แต่ความเข้าใจในสังคมสงฆ์ดูจะย่ำอยู่ที่เดิม

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 มีการอุปสมบทภิกษุณีสงฆ์ครั้งแรกในประเทศไทย ที่ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอารามที่เกาะยอ จ.สงขลา

 

ในการพิจารณาการบวชนั้น มีวิธีการพิจารณา 4 ประการ คณะผู้ให้การบวช ผู้เป็นอุปัชฌาย์ ต้องมีพรรษาอย่างต่ำ 10 พรรษา และเป็นผู้ทรงธรรมวินัย พร้อมด้วยคณะสงฆ์ อย่างต่ำไม่น้อยกว่า 5 รูป

สำหรับเงื่อนไขข้อนี้ การบวชครั้งนั้นสมบูรณ์ คือผู้เป็นอุปัชฌาย์ เป็นพระมหาเถระ และมหานายก ท่านชื่อ มหินทวังสะ เป็นผู้ครองสองวัด คือวัดทีปทุตมาราม ในโคลอมโบ และวัดวสกาดุเว

คณะภิกษุสงฆ์ที่เข้าร่วมรวม 20 รูป ทั้งไทยและศรีลังกา

เงื่อนไขที่สอง ผู้ขอบวช ต้องมีอายุของการฝึกเป็นสิกขมานา อย่างต่ำ 2 พรรษา รักษาพระธรรมวินัยมาอย่างดี และอายุครบบวช

ครั้งนั้น มีสิกขมานาผู้ขอบวช 8 รูป มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระวินัยทุกประการ ผู้ที่เป็นอาจารย์สั่งสอนอบรมคือท่านธัมมนันทา ซึ่งเป็นภิกษุณีรูปแรกของไทย

เป็นอันว่า เงื่อนไขที่สองผ่าน

เงื่อนไขที่สาม สถานที่ที่ทำพิธีอุปสมบท อยู่ภายในสีมา ที่ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอารามนั้น พระภิกษุชาวสงขลากว่า 40 รูปได้รับนิมนต์มาสมมติสีมาก่อนหน้านั้น จึงแน่ใจได้ว่า สถานที่นั้นมีลักษณะถูกต้องตามที่พระวินัยกำหนด

เงื่อนไขที่สามผ่าน

เงื่อนไขที่สี่ คือคุณสมบัติในการสวดกรรมวาจา ผู้เป็นคู่สวด คือ ภิกษุ ดร.กลูปหานะ ท่านเป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีในมหาวิทยาลัยที่ศรีลังกา

การสวดออกอักขระจึงถูกต้องแม่นยำ

 

ในการอุปสมบทแบบศรีลังกานั้น ที่สมเด็จเจ้าฟ้า (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น) ทราบมาว่าท่านติง การที่ทางศรีลังกาไม่ระบุชื่อผู้ขอบวช และอุปัชฌาย์ผู้ให้การบวช

เฉพาะเรื่องนี้ ท่านธัมมนันทาเรียนท่านกลูปหานะ และได้เตรียมพร้อมความเข้าใจว่า ในประเทศไทยขอให้ระบุชื่อ เช่น ธัมมกมลา ศิษย์ของธัมมนันทา พูดให้ชัดเจน ไม่ใช่ออกชื่อแต่เพียงนาคิณี และชื่ออุปัชฌาย์ที่ใช้ว่า ติสสะ ก็ให้ระบุว่า มหินทวังสะ

เป็นไปตามเงื่อนไขของคณะสงฆ์ไทย

เรียกว่า กรรมวาจาถูกต้อง ไม่ใช่กรรมวาจาวิบัติ

เงื่อนไขข้อที่สี่ก็ผ่าน

ปรากฏว่า วันที่ 11 ธันวาคม 2557 มหาเถรสมาคมเรียกประชุมด่วน พิจารณาเรื่องการที่มีการอุปสมบทภิกษุณีที่เกาะยอ

ท่านพรหมเมธี (ตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการขอลี้ภัยอยู่ในประเทศเยอรมนี) ตอนนั้น ท่านเป็นโฆษกของกรรมการมหาเถรสมาคม

ท่าทางท่านขึงขังมาก ว่า การอุปสมบทนี้ผิด ทำไม่ได้ ท่านว่ามีการอุปสมบทภิกษุณี 47 รูปที่เกาะยอ

ดูเถิด ข้อมูลเบื้องต้นก็ผิดพลาดอย่างจัง ข้อมูลอย่างนี้ตรวจสอบได้นะ ยกหูถามไปที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีก็ได้ค่ะ กรรมการมหาเถรสมาคมท่านไม่ต้องทำเอง ท่านมีลูกศิษย์ มีหูมีตาเป็นตาสับปะรดอยู่ ทำไมถึงพลาดอย่างฉกรรจ์

คราวนั้น อุปสมบทภิกษุณี 8 รูป บรรพชาสามเณรี 47 รูป คนที่รู้เรื่องก็ท่านธัมมนันทานั่นแหละเพราะท่านเป็นคนให้การบรรพชาสามเณรีเอง

เราพิจารณาเงื่อนไขในการบวชทั้งสี่ข้อข้างต้นมาแล้ว และเห็นแล้วว่า การอุปสมบทในครั้งนั้น ถูกต้องตามพระวินัยทุกประการ

กรรมการมหาเถรสมาคม (ชุดก่อน) พิจารณาและมีคำสั่งให้ประกาศว่า การอุปสมบทครั้งนั้นไม่ถูกต้องเป็นโมฆะ

แต่ไม่บอกว่าผิดในเงื่อนไขข้อใดในวิธีการพิจารณาคุณสมบัติการบวชในสี่ข้อที่ว่ามา

เช่นนี้ก็เป็นการไม่ให้ความเคารพต่อพระมหาเถระที่เป็นอุปัชฌาย์นะ นึกว่าพระสงฆ์ไทยมาจากลังกาวงศ์เสียอีก

ในพระวินัยยังมีระบุต่อไปด้วยว่า สังฆกรรมที่ทำดีแล้วโดยสงฆ์ ไม่พึงรื้อถอน

 

คราวนี้ กรรมการมหาเถรสมาคมไม่ยุติเพียงนั้น ยังก้าวล่วงต่อไปว่า หากจะมีพระสงฆ์สายเถรวาทจะเดินทางเข้ามาให้การอุปสมบทในประเทศไทยต้องขออนุญาตจากมหาเถรสมาคมเป็นลายลักษณ์อักษร

ฝ่ายพระภิกษุณีสงฆ์ก็เข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งว่า ภิกษุณีสงฆ์ไม่สังกัดอยู่กับมหาเถรสมาคม

ก็ไปอ่าน พ.ร.บ.สงฆ์ดูแล้ว หน้าแรกเลย คำว่า “สงฆ์” ตาม พ.ร.บ.นี้ ให้คำนิยามว่า หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ และสงฆ์อื่น คือ จีนกับญวน

พูดชัดอย่างนี้

“สงฆ์” ของพระพุทธเจ้านั้น มีทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ แต่ “สงฆ์” ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไทย หมายเฉพาะภิกษุสงฆ์ค่ะ

หลวงพี่ท่านว่า ท่านไม่รู้

แล้วที่ขึ้นหัวข้อไว้ว่า พระภิกษุสงฆ์ถูกละเมิดสิทธินั้น อย่างไรเหรอ

ก็พระพุทธเจ้าอนุญาตพระภิกษุสงฆ์ให้บวชภิกษุณี

แต่พระบัญชาของพระสังฆราชตั้งแต่ 2471 ก็ยังถูกนำมาอ้างเป็นเหตุผลห้ามมิให้ภิกษุไทยบวชภิกษุณี

ท่าทีเช่นนี้ มันมิขัดกับพระพุทธบัญญัติหรือ

แล้วหลวงพี่ไม่ถูกละเมิดสิทธิหรือ

เออ อันนี้ ไม่รู้จริงๆ

 

ผู้เขียนเอง โดยส่วนตัว เข้าใจว่าทำไมจึงมีพระบัญชา 2471 ห้ามมิให้ภิกษุให้การอุปสมบทแก่สตรี เป็นกรณีเฉพาะ ที่สมเด็จพระสังฆราชท่านต้องการจัดการกับกรณีที่นรินทร์กลึงบวชลูกสาว อ่านในรายละเอียด ท่านให้เหตุผลไว้ว่า ไม่มีภิกษุณีที่จะให้การฝึกฝนอบรม ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น

ในความจริงไม่ทราบว่า คุณจงดี อ่านหนังสือได้ไหม แต่ผู้เขียนทราบว่าคุณสาระที่เป็นพี่สาวนั้น อ่านหนังสือไม่ออก เมื่อเป็นภิกษุณีแล้ว ใครจะสั่งสอนอบรม เป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว

แต่ในบริบทปัจจุบัน กรรมการมหาเถรสมาคมอาจจะถือโอกาสพิจารณาใหม่ ยกเลิกพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ.2471 เพื่อเป็นการเชิดชูพระเกียรติยศของพระองค์ท่านให้ประจักษ์ต่อสายตาของคนไทยในปัจจุบัน

ท่านก็อาจจะว่า ไม่มีประเพณีปฏิบัติมาก่อน อย่างนั้น อย่างน้อยที่สุด ก็อย่านำมาอ้างเป็นเหตุผลที่จะไม่อนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ไทยบวชภิกษุณีอีก

เมื่อประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 นั้น คำสั่งที่มีมาก่อนหน้านั้น หากขัดแย้งกับตัวบทกฎหมายก็ตกไปโดยปริยายอยู่แล้ว

ภิกษุณีไทยจึงไม่เห็นว่า พระบัญชานั้นเป็นอุปสรรรคต่อการอุปสมบทภิกษุณี