เศรษฐกิจ / รัฐหมดหวัง ‘ท่องเที่ยว’ วืดเป้า นับหนึ่งปี ’62 ขอนักเที่ยว 40.9 ล้านคน งานนี้ต้องพกดวงอย่าซ้ำรอยปี ’61

เศรษฐกิจ

 

รัฐหมดหวัง ‘ท่องเที่ยว’ วืดเป้า

นับหนึ่งปี ’62 ขอนักเที่ยว 40.9 ล้านคน

งานนี้ต้องพกดวงอย่าซ้ำรอยปี ’61

 

จากสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เป็นกลุ่มหลักมีอัตราลดลงอย่างมาก

จนทำให้ภาครัฐตื่นตัวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งปีนี้เหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือนเท่านั้น แต่ไม่ว่าอย่างไร คงกู้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวปีนี้ให้เป็นไปตามเป้าที่ 39 ล้านคนคงไม่ได้

ล่าสุดจึงปรับเป้าลดลงเหลือ 35 ล้านคน

และวางเป้าหมายใหม่สำหรับปีต่อไป

 

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ได้เตรียมมาตรการดึงนักท่องเที่ยวจากทุกทิศ ไม่เพียงแต่ทำแผนดึงตลาดจีนกลับมาเที่ยวไทยเพียงอย่างเดียว โดยมาตรการมีดังนี้

  1. การเร่งฟื้นฟูระดับความสัมพันธ์และร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ไทยเป็นประตูทางผ่านหลักของการท่องเที่ยวในภูมิภาคทั้งด้านการตลาด การขนส่ง การลงทุน การบริหารจัดการ รวมถึงการขจัดปัญหาและอุปสรรคในการท่องเที่ยว
  2. การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก โดยสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ
  3. การเร่งพัฒนา บูรณะ ฟื้นฟูมรดกและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมทั้งในเขตเมืองและนอกเมืองเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวใหม่ สร้างแหล่งจับจ่ายซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยว โดยจะส่งเสริมบทบาทเอกชนร่วมกับชุมชนในการรักษาแหล่งท่องเที่ยว
  4. การเพิ่มความหลากหลายของการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม โดยส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งในรูปแบบการจัดสหกรณ์การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว

และ 5. เพิ่มมาตรการอำนวยความสะดวก สร้างความปลอดภัยและป้องกันการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว รวมทั้งเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง

 

ขณะที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ฉายภาพรวมยุทธศาสตร์ปี 2562 จะเน้นพัฒนาทั้งด้านซัพพลายและดีมานด์

โดย ททท.จะเข้ามามีบทบาทในด้านนี้มากขึ้น มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยการผลักดันให้สินค้าท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่นได้รับความนิยมในตลาดโลก (local go global) พร้อมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งใหม่และเก่า

ด้วยการสร้างแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลกจาก 5 เซ็กเตอร์ ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม, เชิงธุรกิจ, เชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทย, เชิงเรือสำราญ และท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ของชาติ

ส่วนการพัฒนาด้านซัพพลาย มี 3 กลยุทธ์หลัก คือ

  1. go Thainess สร้างสรรค์สินค้าและกิจกรรมบนพื้นฐานวิถีไทย เพื่อสร้างรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
  2. go sustainable มุ่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสู่สากลอย่างยั่งยืนบนสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับขีดความสามารถในการรองรับแต่ละพื้นที่
  3. go ecofriendly สร้างนักท่องเที่ยวที่เป็นมิตรและมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่สร้างการรับรู้ แต่ต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะมิติสิ่งแวดล้อม

 

ขณะที่ด้านดีมานด์ ปี 2562 ยังคงทำตลาดภายใต้แบรนด์อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายอยากเข้ามาท่องเที่ยวและสัมผัสบรรยากาศจริง เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศ พร้อมปรับสัดส่วนนักท่องเที่ยวระหว่างเมืองหลักและเมืองรองให้สมดุลมากขึ้น

โดยมี 28 สำนักงานต่างประเทศของ ททท.เป็นหัวหอกหลักในการกระตุ้นกลุ่มเป้าหมายเดินทางมาท่องเที่ยว ผ่านแนวคิด Discover unique local experiences with million shades of Thailand กับ 5 แนวทาง ประกอบด้วย

  1. go local เน้นส่งเสริมเมืองรอง ด้วยการเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ และพร้อมขายจาก 55 จังหวัด โดยมีเป้าหมายทุกสำนักงานต่างประเทศของ ททท.ต้องขายอย่างน้อย 1 เมืองรอง
  2. go high-end มุ่งเพิ่มรายได้ต่อคน โดยปี 2562 วางเป้าหมายตัวเลขการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมากกว่า 4% เจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรี่และกลุ่มความสนใจเฉพาะด้าน
  3. go new customer มุ่งหาลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น

4.go low season ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดระยะไกล เดินทางมาเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่นมากขึ้น

และ 5. go digital ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยการนำบิ๊กดาต้ามาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งอาจจะดูเหมือนว่า ททท.จะให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายในเชิงรายได้เป็นส่วนใหญ่

แผนที่กล่าวมานี้ เพื่อเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยในปี 2562 ที่ 40.9 ล้านคน ชดเชยจากปีนี้ที่วืดเป้าจาก 39 ล้านคน เหลือเพียง 35 ล้านคน!!

 

โดยแผนปีหน้า ททท.ยังคงดำเนินการที่เน้นต่อยอด 3 จุดเดิมได้แก่

ใช้วิถีการกินนำไปสู่การสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น เดินหน้าตอกย้ำความเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่โดดเด่นเรื่องอาหารด้วย Michelin Guidebook 2019 (มิชลิน ไกด์บุ๊ก) เล่มที่ 2 กำหนดเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนนี้

รวมถึงโครงการ Eat Thai, Visit Thai ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดตัวโครงการ ณ กรุงลอนดอน โดยแนวทางการทำงานคือการใช้ร้านอาหารไทยในสหราชอาณาจักร เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์เผยแพร่อาหารไทยในแต่ละภูมิภาคไปยังเมืองใหม่ๆ พร้อมนำเสนอวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร การปรุง ด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น ซึ่งจะกระตุ้นความต้องการวัตถุดิบจากเมืองไทยมากขึ้น

ด้านรองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ย้ำถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่มีอัตราลดลง ได้ให้ความสำคัญถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่ต้องการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นถึงความสำคัญเรื่องนี้ และต้องทำควบคู่กันคือเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยและแคมเปญการตลาด เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยให้ได้ในปีนี้ 10 ล้านคน

รองนายกฯ สมคิดได้ให้ไอเดียเรื่องการนำมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival (VOA) หรือการทำวีซ่าฟรี ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองให้กับนักท่องเที่ยวจีนและประเทศอื่นๆ รวม 21 ประเทศ ซึ่งปกติจัดเก็บที่อัตรา 2,000 บาทต่อคน ใน 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ คือพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้

แต่ดูเหมือนว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวยังมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยที่ดีดลูกคิดแล้วคุ้ม แม้ต้องเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ที่ 3,000 ล้านบาท แต่จะได้รายได้คืนมาจากนักท่องเที่ยวจีนประมาณว่า 1.5 ล้านคนมาเที่ยวมาใช้เงินราว 7.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนฝ่ายค้านมองว่ายังมีอีกหลายวิธีที่เรียกความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาโดยไม่ต้องลดแลกแจกฟรีเช่นนี้

 

จากการสำรวจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มมีการกำหนดตัวชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศ กรณีตลาดจีนหายไปจะคิดเป็นประมาณไม่ต่ำกว่า 33% ของตลาดด้านท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่ง ททท.มีแผนจะนำตลาดอาเซียนเข้ามาหนุนเพราะคำนวณแล้วจะใกล้เคียงกับตลาดจีน แต่อาจต่างกันที่ค่าใช้จ่ายของอาเซียนยังต่ำอยู่ นั่นเพราะบริการต่างๆ ของไทยอาจไม่ตอบโจทย์ตลาดอาเซียน จึงควรปรับเพิ่มกิจกรรมที่กระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้น

ยังเหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนในการดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยในปีนี้ ต้องมาลุ้นกันว่าจะดึงกลับได้มากน้อยแค่ไหน แต่ดูจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกยามนี้แล้ว ผลคงไม่ได้ตามที่รัฐบาลคาดหวัง

ดังนั้น ที่พอหวังได้ เริ่มนับหนึ่งใหม่ปีหน้า มาดูกันว่าภาวะการท่องเที่ยวไทยจะสดใส นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเที่ยว 40.9 ล้านคนตามหวัง หรือจะซ้ำรอยเดิม แบบผีซ้ำด้ำพลอย ทั้งสะดุดขาตัวเอง และภาวะเศรษฐกิจโลกไม่เป็นใจ