ฉัตรสุมาลย์ : งานพระศาสนาที่บังกลาเทศ

ปกติไม่ค่อยได้ยินใครไปเที่ยวที่บังกลาเทศนะคะ ข่าวมาแต่ละครั้งมักจะเป็นเรื่องภัยพิบัติที่บังกลาเทศ น้ำท่วมผู้คนล้มหายตายจากเสียเป็นส่วนใหญ่

คราวนี้ท่านธัมมนันทารับนิมนต์ไปบังกลาเทศค่ะ ถ้าไปเที่ยวคงไม่ไปแน่ๆ แต่เป็นเพราะที่บังกลาเทศมีภิกษุณีสงฆ์ที่เพิ่งเกิดใหม่ เพราะเพิ่งมีการอุปสมบทกันไปเมื่อ 30 มกราคม 2559 ที่ผ่านมานี้เอง

ก่อนหน้านั้น ก็เคยรายงานในคอลัมน์นี้ว่า พระภิกษุ ดร.วรสัมโพธิ พระอาจารย์ผู้ทรงความรู้ชาวบังกลาเทศที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติธรรมที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ท่านได้จัดการบวชสามเณรีชาวบังกลาเทศเมื่อ พ.ศ.2554-2555 ต่อมาท่านถูกลงโทษจากคณะสงฆ์ในบังกลาเทศ โดยการประกาศลงพรหมทัณฑ์

เรียกว่า ประกาศไม่ยุ่งด้วย ประมาณนั้น

ท่าน ดร.วรสัมโพธิ ท่านก็ไม่ได้เดือดร้อน เพราะในความเป็นจริงท่านก็อยู่ที่อินเดีย ไม่ได้อยู่ที่บังกลาเทศอยู่แล้ว

 

จากเสียงของคนที่ไม่สนับสนุน ที่เคยติดต่อกับท่านธัมมนันทา ก็มักจะโจมตีว่า สามเณรีกลุ่มนี้เช่าบ้านอยู่ ไม่มีวัดอยู่เป็นหลักแหล่ง และบังอาจใส่จีวร

ก็ถ้าท่านมีวัดอยู่ คือพระเดชพระคุณภิกษุให้ท่านอยู่วัด ท่านก็คงไม่ต้องลำบากไปเช่าบ้านอยู่ ส่วนเรื่องบวชสามเณรีแล้วใส่จีวร ก็ต้องถามว่า ถ้าท่านไม่ใส่จีวรแล้วจะให้ท่านใส่อะไร การโจมตีที่ผ่านมาเป็นการโจมตีจากความมักคุ้นทางวัฒนธรรม ไม่ใช่คนที่รู้เรื่องศาสนาจริงๆ

แม้แต่การจัดงานทางศาสนา พวกสามเณรีบังกลาเทศก็ต้องไปจัดงานในพื้นที่ของชาวมุสลิม เพราะพระภิกษุท่านไม่เปิดพื้นที่ให้

แล้วมาดูตัวเลขของประชากรในบังกลาเทศก็ยิ่งน่าตกใจ เมื่อพบว่า เป็นประเทศใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) เป็นประเทศที่ประชากรหนาแน่นมาก มีจำนวนถึง +156.6 ล้านคน ประชากรที่ว่านี้ 89% นับถือศาสนาอิสลาม และโดยวัฒนธรรมและภาษา เป็นเบงกอลี (ภาษาเขียนว่า เบงกาลี แต่ออกเสียงว่า เบงกอลี)

ชาวพุทธมีเพียง .7% ยังไม่ถึง 1% เลยค่ะ ที่รังเกียจกันก็เป็นชาวพุทธนั่นแหละ กลับกลายเป็นว่า คนที่ออกมาสนับสนุนจัดที่ทางให้เวลาต้องการใช้พื้นที่เป็นมุสลิม

แปลกแต่จริง เราเห็นเรื่องแบบเดียวกันนี้ที่อินโดนีเซียค่ะ พระภิกษุในสายเถรวาทไม่อนุญาตให้ภิกษุณีแสดงธรรมในวัดของเถรวาท วัดของภิกษุณีที่อยู่ที่มาริบายานั้น อยู่ในดงมุสลิม พอถึงวันเสาร์อาทิตย์ ชาวมุสลิมก็มาขายผักที่ลานวัดของภิกษุณี แล้วก็นำผักมาถวายภิกษุณี การเกื้อหนุนกลับได้รับจากชาวมุสลิม

 

เมืองหลวงของบังกลาเทศอยู่ที่เมืองธากา แต่คราวนี้ท่านธัมมนันทาจะบินตรงเข้าเมืองจิตตากอง จิตตากองเป็นเมืองที่มีประชากรพุทธหนาแน่นที่สุด เป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นเมืองใหญ่เป็นที่สองรองจากเมืองหลวง

ปกติต้องบินเข้าธากา ซึ่งเป็นเมืองหลวง ล่าสุดมีสายการบินรีเจ้นต์แอร์บินตรงเข้าจิตตากอง สะดวกขึ้นมากทีเดียวค่ะ มิฉะนั้น จะต้องไปรอต่อเครื่องที่ธากาตั้ง 12 ชั่วโมง แน่นอนที่สุด ค่าโดยสารก็แพงมากขึ้น ก็มีสายเดียว เราก็ต้องง้อเขานั่นแหละ

โดยภูมิศาสตร์ บังกลาเทศถูกล้อมรอบโดยอินเดียทั้งด้านตะวันตก เหนือ และตะวันออก ตรงตะวันออกเฉียงใต้สุด มีพื้นที่ติดกับพม่าเล็กน้อย ทางด้านใต้เป็นอ่าวเบงกอลค่ะ แม่น้ำสายต่างๆ ในบังกลาเทศไหลลงทะเลที่อ่าวเบงกอลนี้ ประชาชนก็เบียดเสียดกันอยู่ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสายเล็กสายน้อย เขาจึงมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมตลอดเวลา

เมื่อตอนที่เป็นนักเรียน ผู้เขียนเรียนอยู่ในแคว้นเบงกอลตะวันตก ซึ่งอยู่ในอินเดีย เบงกอลตะวันออกคือปากีสถานตะวันออก

จนในที่สุดพื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นประเทศบังกลาเทศในปัจจุบัน

 

ความแตกต่างระหว่างเบงกอลตะวันตกในอินเดีย กับเบงกอลตะวันออก คือบังกลาเทศนั้น ไม่แตกต่างโดยภาษาและวัฒนธรรม ใช้ภาษาเบงกอลีเหมือนกัน แต่เขาแยกกันโดยศาสนาผู้คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในบังกลาเทศนับถือศาสนาอิสลาม ในขณะที่เบงกอลตะวันตกที่ยังอยู่กับอินเดียนับถือศาสนาฮินดู

แต่ก็มีชาวพุทธอยู่ 2 กระจุก ชาวพุทธสองกระจุกนี้ รวมแล้วยังไม่ถึง 1% ของประชากรบังกลาเทศ มีความแตกต่างกันมาก พวกหนึ่งเป็นพวกชาวเขาเป็นพวกจักมา และอีกพวกหนึ่งเป็นชาวเบงกอลีที่อยู่บนที่ราบโดยเฉพาะในเมืองจิตตากองใช้นามสกุลบารัว ถ้าเป็นชาวพุทธที่มาจากบังกลาเทศ เดาสุ่มไป 10 คนก็จะโดนบารัวเสีย 8 คน

ชาวพุทธสกุลบารัวหน้าตาผิวพรรณเหมือนแขกอินเดีย ถ้าเป็นชาวพุทธจักมา จะผิวขาวกว่า หน้าตาค่อนไปทางลูกผสมจีน

ธงชาติของเขาเรียบๆ ไม่ซับซ้อน จำได้ง่าย คือพื้นสีเขียว มีวงกลมตรงกลางสีแดงเงินที่ใช้สกุลตากา ใกล้เคียงกับรูปีอินเดีย ประมาณ 1 บาท ได้ 2 ตากา

 

บังกลาเทศ ชื่อเต็มๆ คือ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ การปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐระบบรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรี และมีประธานาธิบดี

หลังจากแยกตัวออกมาเป็นประเทศก็ผ่านความไม่เสถียรทางการปกครอง มีรัฐบาลทหารเข้ามาปกครอง จนในที่สุดเป็นประชาธิปไตยเมื่อ ค.ศ.2008 นับตั้งแต่แยกประเทศออกมา มีปัญหาเรื่องความยากจน แต่ในปัจจุบันสามารถลดทอนความยากจนลงได้จากร้อยละ 50 เหลือเพียงร้อยละ 30 โดยประมาณ พ.ศ.2558 ธนาคารโลกจัดลำดับว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ

ขณะนี้นายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งเป็นสตรี เธออยู่มาสามสมัยแล้ว คือ ชีก ฮาซินา แย่งอำนาจกันอยู่กับสตรีอีกนางหนึ่งที่มีอำนาจทางการเมืองไม่แพ้กัน คือ นางคาเลดา เซีย ต้องบอกว่า บังกลาเทศอยู่ภายใต้ผู้หญิงเก่งสองนางนี้ สลับกันขึ้นมามีอำนาจตั้งแต่ ค.ศ.1991 ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เป็นชาย ชื่อ อับดุล มุจิบูร์ ราห์มาน

ท่านทูตของบังกลาเทศที่ประจำประเทศไทยขณะนี้ ก็เป็นผู้หญิงค่ะ ท่าทางมีจิตใจเปิดกว้าง ท่านเป็นมุสลิม แต่รับงานที่ชาวพุทธเชิญเสมอ แน่นอน ก็ท่านเข้ามาอยู่ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธ ท่านก็ทำหน้าที่ของท่านได้อย่างดี

ธากา ซึ่งเป็นเมืองหลวงนั้น มีจำนวนประชากร 15.5 ล้านคน ในขณะที่จิตตากอง เมืองท่าที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นเมืองท่าใหญ่ที่สุดของประเทศ มีประชากร 5.5 ล้านคน

 

ที่ว่า ประชากรชาวพุทธของบังกลาเทศมีเพียงร้อยละ 0.7 นั้น จากประชากรทั้งหมด 156.5 ล้านคน นับว่ามีชาวพุทธล้านกว่าคน เบ็ดเสร็จก็ยังมากกว่าประชากรทั้งประเทศของภูฐาน ประชากรภูฐานทั้งประเทศมี 7 แสนคน

ที่ต่างกันคือ ภูฐานเป็นประเทศที่มีชาวพุทธส่วนใหญ่ ในขณะที่ชาวพุทธในบังกลาเทศแม้มีล้านกว่าคน แต่อยู่ในประเทศที่เป็นมุสลิม ความแตกต่างนี้จึงเป็นความแตกต่างที่มีนัยยะสำคัญ

ในจำนวนล้านกว่าคนนี้ มีคณะภิกษุสงฆ์สามคณะ เป็นคณะที่อยู่มาแต่เดิมในบังกลาเทศ 1 คณะ คณะที่ได้รับอิทธิพลมาจากพม่าอีก 1 คณะ และคณะสงฆ์ที่อยู่บนเขาอีก 1 คณะ

คณะสงฆ์พวกจักมาที่อยู่บนเขานั้น ท่านธัมมนันทาเคยคุยด้วยกับสังฆราชของเขา ท่านไม่มีปัญหากับภิกษุณี สงฆ์คณะเดียวที่มีปัญหากับภิกษุณี คือ คณะใหม่ที่สืบมาจากพม่า ที่ออกประกาศลงพรหมทัณฑ์แก่ท่านอาจารย์ ดร.วรสัมโพธิ ที่เล่าไปแล้วในตอนต้น

 

การที่ชาวพุทธเป็นชนส่วนน้อยถึงน้อยมากเช่นในบังกลาเทศนั้น ความหวาดกลัวอาจจะเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา พระภิกษุที่เป็นเจ้าอาวาสวัดบางรูป แสดงความเห็นว่า ลำพังพระภิกษุเองก็ยังอยู่กันยาก แล้วยังมีภิกษุณีเข้ามาอีก

คิดอีกแบบหนึ่ง ในสภาพที่เป็นผู้หญิงนั้นเอง ก็อาจจะอยู่ได้ง่ายกว่าพระภิกษุ เพราะการทำงานก็จะกระจุกตัวอยู่กับการปลูกฝังให้สังคมชาวพุทธเล็กๆ มีค่านิยมที่ดี ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม ท่านโคตมี หัวหน้าของภิกษุณีในบังกลาเทศนั้น อยู่ในวัย 41 ปี เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานมาตั้งแต่ยังไม่ได้บวช เมื่อก่อตั้งภิกษุณีสงฆ์ขึ้น น่าจะสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในหมู่ของชาวพุทธได้ในระดับหนึ่ง

ท่านพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ผู้ที่ติดต่อมาหาท่านธัมมนันทาแทนท่านนั้น ล้วนเป็นอุบาสกที่สนใจที่จะเข้ามาช่วยงานพระศาสนา แม้พระภิกษุที่ออกไปศึกษาอยู่ที่ฮ่องกง ก็ทำหน้าที่แปลงานต่างๆ ที่ท่านธัมมนันทาส่งไปให้ศึกษาล่วงหน้าเป็นภาษาเบงกอลี เรียกว่าท่านก็ยังมีผู้สนับสนุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เป็นทั้งอุบาสกและอุบาสิกา และแม้พระภิกษุที่มีความเข้าใจในพระวินัย

งานสร้างรากฐานให้พระศาสนาในบังกลาเทศผ่านกลุ่มภิกษุณีเหล่านี้ ก็คงไม่เป็นงานที่สูญเปล่า

กลับมาแล้วจะรายงานให้ทราบในรายละเอียดอีกทีหนึ่ง

27 ตุลาคม 2559 ภิกษุณีที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีก็รับนิมนต์ไปแสดงความสามัคคี ร่วมถวายเป็นพระราชกุศลในจังหวัดนครปฐมค่ะ