เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : เอาแป้งไหนผัด เอาพัดไหนโบก

จำจี้มะเขือเปราะ กะเทาะหน้าแว่น พายเรืออกแอ่น กระแท่นต้นกุ่ม สาวสาวหนุ่มหนุ่ม อาบน้ำท่าไหน อาบน้ำท่าวัด เอาแป้งไหนผัด เอาพัดไหนโบก เอากระจกไหนส่อง เยี่ยมเยี่ยมมองมอง นกขุนทองร้องวู้ ฯ

เพลงร้องเล่นของเด็กไทย สมัยเด็กจำได้ว่าร้องกันตามเนื้อข้างต้นนั้น มาสมัยหลังหลายคนจำได้ร้องได้แต่ตกสองวรรคนี้ไป คือสองวรรคที่ว่า

เอาแป้งไหนผัด เอาพัดไหนโบก

กลายเป็น “…อาบน้ำท่าไหน อาบน้ำท่าวัด เอากระจกไหนส่อง…”

ซึ่งนอกจากขาดจังหวะจะโคนของถ้อยคำแล้วก็ยังขาดใจความสำคัญอันเป็นขั้นตอนภายหลังจากเสร็จอาบน้ำ คือ ผัดแป้ง และ พัดโบก

 

ไปเห็นการสรงพระพักตร์พระมหามัยมุนีที่เมืองมัณฑะเลย์แห่งเมียนมาแล้วจึงเข้าใจว่าขั้นตอน “แป้งผัด-พัดโบก” นี้มีอยู่จริง

คือหลังจากสรงพระพักตร์ หรือ “ล้างหน้า” ขัดสีฉวีวรรณพระพักตร์พระพุทธรูปและเช็ดถูจนสะอาดดีแล้ว ก็จะใช้พัดใหญ่โบกลมเพื่อให้ผิวพระพักตร์แห้งสนิท แล้วใช้ผ้าลูบไล้จนผุดพรายประกายผ่องเรืองอร่ามขึ้น ณ กษณะนั้น

ได้เห็นเป็นรูปธรรมอีกที เมื่อวันที่คณะเราไปเยือนตลาดเมืองยองอู เมืองที่สถิตมหาเจดีย์ชะเวสิกอง อันน่าจะถือเป็นปฐมเจดีย์แห่งอาณาจักรพุกาม ซึ่งสถาปนาโดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ หรือที่ไทยเรียกพระเจ้าอนิรุธนั้น

ตลาดยองอู เป็นตลาดชาวบ้าน ขายสรรพสารพัด เช่นตลาดสดทั่วไป เราได้พบสาวงามอนงค์หนึ่ง เธอกำลังนั่งเลือกซื้อดอกไม้เคียงข้างอยู่กับคุณยาย

สมภพ บุตราช ศิลปินเขียนรูปร่วมคณะเรามีโอกาสได้เขียนรูปเธอโดยติดต่อผ่านมัคคุเทศก์เรา ซึ่งคุณยายและเธอเชื้อเชิญคณะเราไปที่บ้านซึ่งอยู่ใกล้กันชั่วเดินไม่ถึงสิบก้าวนั้น บ้านเธอเป็นร้านอาหารชื่อ “ชะเว เมตตา”

คำว่า “ชะเว” แปลว่า ทอง

เมตตา ก็คือ เมตตา นี่แหละ

ชะเวเมตตา ในความหมายของพม่าที่เขาพยายามอธิบายนั้นคือ น้ำใจงาม ประมาณนั้น

ftgjtfgjkjkf

เขียนรูปเสร็จ เราก็อยากดูกระบวนการขั้นตอนของการแต่งหน้าด้วย “ทานาคา” ซึ่งเห็นอยู่บนใบหน้าของแทบทุกคนทั้งผู้เฒ่าสาวหนุ่ม แม้ในไทยนี่ก็เถิด จะเห็นสาวทาหน้าด้วย “ทานาคา” อยู่ทั่วไปในชุมชนชาวมอญ พม่า

ทานาคา คือ ผงเปลือกไม้จากต้นไม้ที่ชื่อทานาคา เขาจะทอนเป็นท่อน นำท่อนทานาคานี้มาฝนส่วนเปลือกกับแท่นหินอย่างหินชนวน มักทำเป็นแป้นกลมๆ อย่างแท่นโม่แป้งมีร่องรางรอบไว้รองน้ำ เพราะเวลาฝนเปลือกทานาคา ต้องหยดน้ำลงละลายก็จะกลายเป็นแป้งผงชุ่มน้ำสีเหลืองอย่างขมิ้น

ตะละแม่สาวงามที่เธอมานั่งเป็นแบบให้สมภพเขียนรูปนี้เธอชื่อ “จูไล โม” แปลว่า ฝนเดือนกรกฎา คือ “โม” แปลว่า ฝน จูไลก็ JULY เดือนกรกฎาคมนี่แหละ เราจึงนิยามความหมายว่า เธอคือ “ฝนพรรษา” เพราะเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนเข้าพรรษาพอดี พรรษาก็แปลว่าฝน ถ้าจะแผลงให้วิลิศมาหรา ก็น่าจะเป็น “หยดวรุณ” หรือ “หยาดวสันต์” ประมาณนั้น

ตะละแม่หยาดวรุณ เธอก็ทาทานาคา เมื่อเราอยากชมขั้นตอนของทานาคา ตะละแม่มารดาของเธอจึงเรียกน้องสาวคนรองซึ่งกำลังแรกรุ่นงามไม่แพ้กันมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ทันที

แม่ล้างหน้าลูกแล้วฝนทานาคา ทาปาดเต็มใบหน้าให้ลูกสาวเป็นรองพื้น แล้วใช้พัดสานค่อยโบกแป้งบนใบหน้าให้แห้ง

นี่ไง พัดโบกพระพักตร์พระพุทธรูปมหามัยมุนี

 

จากนั้นแม่ก็จะใช้นิ้วไล้ผงแป้งทานาคามาปาดประตรงหน้าผาก บนสันจมูกกับบนสองแก้ม

นี่แหละใช่เลย ผ่องพักตร์พระพุทธรูปยามเปล่งประกายเมื่อต้องแสงก็จะเรืองอร่ามอยู่ตรงบริเวณนี้คือ พระนลาฏ (หน้าผาก) สันนาสิก (สันจมูก) และสองปราง (สองแก้ม)

รอยทานาคาที่ปาดป้ายบนสองแก้ม ก็ประหนึ่งการ “ปิดทอง” บน “สองปราง” นี่เอง

นี่ไง “ปรางทองผ่องเพียงจันทร์เพ็ญ”

สาธุ

สาธุให้กับศรัทธาของชาวพม่าที่เขาโยงวิถีชีวิตไว้กับศรัทธาในพระพุทธศาสนาจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน

ดั่งสีทองอันอร่ามเรืองรองบนยอดเจดีย์ บนพักตร์พระพุทธรูป และบนใบหน้าประชาชน

 

มหาเจดีย์ชะเวสิกอง ที่ว่าเป็นปฐมเจดีย์แห่งอาณาจักรพุกาม วันที่คณะเราไปคารวะนั้น เขากำลังซ่อมยอดพระเจดีย์โดยคลุมซุ้มยอดทั้งหมดไว้ เช่นเดียวกับมหาเจดีย์สำคัญอีกหลายองค์ในพุกาม อันเนื่องจากพิบัติภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เพิ่งผ่านมานั้น

ชะเว แปลว่า ทอง ดังกล่าว สิกอง เขาว่าแปลว่า มัดไว้ อันหมายถึง ชัยชนะ ทำนอง “ชุมชัย” กระมัง ฉะนั้น จึงเป็นประหนึ่งมหาเจดีย์แห่งชัยชนะ ก็คือชัยชนะของอาณาจักรพุกามที่มีต่ออาณาจักรดั้งเดิมของชาวมอญซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้มาแต่เดิม คือ บริเวณลุ่มน้ำอิรวดี ซึ่งพม่าเรียก “เอยาวดี”

น่าสังเกตคือ เขาออกเสียง ร. เป็น ย. เช่น “รัตนะ” เขาเรียก “ยาดานา”

ชนชาวมอญนี่แหละเป็นแรงงานสร้างมหาเจดีย์ทั้งหลายในพุกาม ซึ่งสร้างด้วยอิฐเป็นสำคัญ

ดังเราเรียก “อิฐมอญ” นี่ไง

 

ทานาคา

เดือนเอยเดือนหงาย

ดาวกระจายเดือนผจงขึ้นทรงกลด

ทานาคาทาทองผ่องเพ็ญยศ

งามหมดจดแจ่มละไมเป็นใยยอง

ประนมนิ้วนวลแก้มแจ่มจรัส

เอาแปรงปัดพัดโบกกระจกส่อง

พิศดูเดือนดาวเด่นยังเป็นรอง

ไม่เหมือนนวลหน้าน้อง…อุแม่เอย ฯ

ทาเอยทานาคา

ทาหน้าข้าหน้าน้องพักตร์ผ่องผิว

ประจงจัดปาดป้ายด้วยปลายนิ้ว

เป็นลายริ้วลายทองผ่องประไพ

เอาท่อนทานาคามาฝนเปลือก

ไล้นิ้วเกลือกน้ำกลั้วค่อยเกลี่ยไกล่

ประพิมพ์พักตร์ลักยิ้มยิ่งพิมพ์ใจ

งามเหมือนใบหน้าน้องปิดทองเอย ฯ