“ส.ว.” แค่เริ่มต้นก็เหนื่อยแล้ว

การเมืองกำลังคึกคักด้วยวาระที่จะมี “การเลือกตั้งทั่วไป” ซึ่งหมายถึงเลือก “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” หรือ “ส.ส.”

แม้จะโกลาหลกันพอสมควร ด้วยพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าหรือพรรคใหม่ คล้ายกับจะต้องเริ่มสตาร์ตในจุดเดียวกัน ตั้งแต่ระดมหาสมาชิก เลือกคณะกรรมการบริหาร วางตัวบุคคลในบัญชีรายชื่อที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 3 คน

แต่ละพรรคมีเรื่องราวจะต้องทำกันมาก

เทคนิคหรือวิธีการเป็นไปตามความชาญฉลาดของผู้นำแต่ละพรรค

ที่กำหนดไว้คือ การเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าวจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อีก 4 เดือนข้างหน้า

เพียงแต่ครั้งนี้ ความสำคัญไม่ใช่มีแค่การเลือกตั้ง ส.ส.เท่านั้น

การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ก็มีความหมายมากมายอย่างยิ่ง

รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลพวงของรัฐประหารครั้งนี้ ชัดเจนในเรื่องต้องการให้คนกลุ่มหนึ่งมีโอกาสเข้ามาเกื้อหนุนอำนาจของคนบางกลุ่มโดยเข้ามาเป็นสมาชิกรัฐสภาโดยไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน

แต่จะเรียกว่า “สรรหา” ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเป็น “ส.ว.” ที่มาจากการแต่งตั้งของคนกลุ่มหนึ่ง

เป็นกลุ่มเดียวกับที่เข้าชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศ จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

เป็น “ส.ว.” ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับ “ผู้แทนราษฎร”

ด้วยเหตุที่ ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน รัฐบาลหากเริ่มต้นด้วยความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ย่อมชวนให้ยินดี แต่หากเป็นรัฐบาลที่ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจตั้งแต่ต้น ย่อมมีคำถามมากมายถึงความเหมาะสม

ความเชื่อมั่นจะมีปัญหาน้อย หากเป็นรัฐบาลที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือก เพราะถึงอย่างไร ส.ส.เป็นผู้ได้รับเลือกจากประชาชน

การตัดสินใจของ ส.ส.จึงอยู่บนพื้นฐานว่าใกล้ชิดกับความเชื่อมั่นของประชาชนมากกว่า

และเมื่อครั้งนี้ ส.ว. 250 คน ซึ่งมาจากการสรรหา จึงเป็นเหตุให้มีคำถามเรื่องความเชื่อมั่นของประชาชนอยู่เหมือนกัน เพราะเป็นนักการเมืองที่ไม่ได้เลือกให้เข้ามา

ดูเหมือนว่า “นิด้าโพล” จะตระหนักถึงความกังวลนี้ จึงทำหน้าที่หาคำตอบ โดยทำการสำรวจเรื่อง “การสรรหา ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560”

และคำถามหนึ่งในนั้นคือ “ท่านเชื่อมั่นต่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าจะสามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่”

และคำตอบมากที่สุดคือ ร้อยละ 36.46 ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น รองลงมาร้อยละ 29.95 ค่อนข้างมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 16.28 มีความเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 14.93 ไม่มีความเชื่อมั่นเลย ร้อยละ 2.38 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สรุปภาพรวมในฝ่ายไม่เชื่อมั่นรวมแล้วร้อยละ 50.75 ฝ่ายที่เชื่อมั่นร้อยละ 46.23

ดูแล้วเหมือนจะสูสีระหว่างความเชื่อมั่นกับไม่เชื่อมั่น

ทว่าในทางการเมือง ผู้มีประสบการณ์ย่อมรู้ดีว่า หากเริ่มต้นต่ำกว่าครึ่ง การเดินหน้าต่อไปซึ่งพิสูจน์แล้วว่าแนวโน้มจะทรุดลงเสียทุกครั้ง

สําหรับการทำหน้าที่ ซึ่ง “นิด้าโพล” ในคำถามที่ว่า “อยากให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีลักษณะแบบใดมากที่สุด”

และคำตอบร้อยละ 42.81 บอก มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับของประชาชน

ร้อยละ 23.83 ระบุว่ามีความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด

ร้อยละ 11.68 มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์การทำงานในด้านกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ

ร้อยละ 9.69 ไม่เห็นแก่ลาภยศ เงินทอง หรือผลประโยชน์อันมิชอบ

ร้อยละ 4.92 เป็นผู้มีอุดมการณ์ ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีศักดิ์ศรี

ร้อยละ 3.33 สามารถสอบสวนการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างมีประสิทธิภาพ

ร้อยละ 3.18 ใช้ความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ ส.ว.อย่างเต็มที่

ร้อยละ 0.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

จึงเป็นการเริ่มต้นที่เหนื่อยไม่น้อย