วางตัว (ผู้นำตำรวจในอนาคต)

มีเสียงเล่าลือกันว่า นายทหารที่จบการศึกษามาจาก “โรงเรียนเหล่า” (cadet) เมื่อรับราชการไปได้สักระยะใหญ่ๆ ก็พอจะมองเห็นศักยภาพการทำงานของแต่ละคนว่าใครระดับไหน เชี่ยวชาญสาขาอะไร

แต่ละรุ่นจะมีการ “วางตัว” ไว้ล่วงหน้าว่า ใครบ้างที่ควรจะก้าวไปถึงระดับ “บิ๊ก” ของหน่วย และจะไปให้ถึงจุดนั้นได้อย่างไร มีใครที่จะสนับสนุนออกแรงดึงหรือผลักดันได้บ้าง

ผมเป็น cadet เหมือนกัน แต่เป็นเหล่าตำรวจและอยู่ท้ายแถว ก็เคยสงสัยพฤติกรรมของนายตำรวจชั้นหัวแถวบางนาย (ดังที่เคยเขียนเล่าให้ฟังในคอลัมน์นี้เมื่อนานมาแล้ว) ว่าเขาแสดงความเป็นห่วงเป็นใยคนที่เขาได้วางตัวไว้

เขาแสดงความเป็นห่วงเป็นใยข้ามหัวผมไปมาราวกับผมเป็นคนนอกวงการตำรวจ

และอีกหนหนึ่ง นายตำรวจท่านหนึ่งมาปรับทุกข์ถึงความไม่ก้าวหน้าในการรับราชการตามที่ควร กับเพื่อนร่วมรุ่นที่เติบโตเร็วกว่า น้ำเสียงปรับทุกข์นั้นฟังเหมือนต่อว่าต่อขาน เป็นการต่อว่าต่อขานที่ไม่ได้รับการสนับสนุนตามที่ควรจะได้จากการวางตัว

อย่างไรก็ตาม ในเคสหลังนี้เพียงไม่นานก็เป็นไปตามที่วางตัวไว้ คนที่มาปรับทุกข์ได้ก้าวข้ามไปเป็นบิ๊กตำรวจ และเป็นผู้บังคับบัญชาของเพื่อนคนที่เขามาปรับทุกข์นั้นเอง

หลังจากเกษียณอายุราชการ ผมได้ฟังนายตำรวจรุ่นน้องที่เป็นระดับบิ๊กท่านหนึ่งเล่าว่า ตำรวจก็มีประเพณี “วางตัว” อย่างทหารเหมือนกัน เพียงแต่ในสายตำรวจมักจะเกิดการพลิกล็อกได้ง่ายกว่าและบ่อยกว่า เพราะโครงสร้างของตำรวจไม่แข็งแกร่งเท่าทหาร ตำรวจตกอยู่ภายใต้อำนาจและความครอบงำของการเมือง และหลายครั้งตำรวจง่อนแง่นไปตามกระแส

ชีวิตในช่วงเวลาทำงานกับในช่วงเวลาเรียนช่างแตกต่างกันมากมายเหลือเกิน

เมื่อวันครบรอบ 117 ปีของการก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ก่อนถึงเวลางานเลี้ยง พล.ต.อ.วีระ วิสุทธิกุล (นรต.17) อดีต รอง.อ.ตร. ได้ชักชวนผมขึ้นไปรำลึกถึงความหลังที่อาคาร “รักษวินัย” (กองร้อย 3) ด้วยว่าเราเคยเป็น “นักเรียนปกครอง” ของที่นี่มาก่อน ท่านวีระได้ถ่ายรูปผมนั่งที่เตียงที่เคยนอนเป็นที่ระลึก

แต่ผมไพล่ไปนึกถึงคนที่นอนเตียงติดกันถัดไปคือ นรต.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ (พล.ต.อ./อ.ตร.)

ที่เขียนนี้มิได้มีเจตนาจะโอ้อวดว่าเคยปกครองท่านสวัสดิ์ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้โอดครวญถึงวาสนาที่ห่างกันราวฟ้ากับดินของคนที่เคยนอนเตียงติดกัน เจตนาที่แท้จริงก็คือ อยากให้เห็นถึงความเป็นปกติธรรมดาของชีวิตที่แตกต่างกันไป

ความเจริญก้าวหน้าในการรับราชการของนักเรียนเหล่าก็เช่นกัน

(อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่านักเรียนเหล่าส่วนใหญ่ต่างก็พยายามจะดึงเพื่อนให้เดินเคียงไปด้วยกันเท่าที่จะทำได้ นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมี “นายพล” มากที่สุดในโลก)

ผมยกตัวอย่างท่านสวัสดิ์ที่ใกล้ตัว เพื่อให้ได้รับรู้ถึงความมานะในการเล่าเรียนปริญญาโทเพิ่มเติมที่สหรัฐ การทำงานอย่างเหนื่อยยากและเสียสละ ต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงของกรมตำรวจ ต้องต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและการถูกกลั่นแกล้งจากคณะรัฐประหารผู้กุมอำนาจรัฐในยุคที่ท่านเป็น อ.ตร.

ผมมี “ภาพจำ” เก่าๆ ของท่านสวัสดิ์อยู่ภาพหนึ่ง ครั้งที่ท่านเป็น สวญ.สน.จักรวรรดิ และผมเป็น สว.รถวิทยุกองปราบปราม…

กลางดึกคืนหนึ่ง ขณะที่ผมนั่งรถสายตรวจตระเวนไปในท้องที่ สน.จักรวรรดิ ได้ยินเสียงปืนหลายนัดดังมาจากตรอกซอยของถนนราชวงศ์ ผมรายงานแจ้งศูนย์สามยอดฯ พร้อมกับแล่นรถช้าๆ ไปทางเสียงปืน สักครู่พบรถสายตรวจของ สน.จักรวรรดิ จอดซุ่มอยู่ในเงามืด พ.ต.ท.สวัสดิ์ส่งสัญญาณมือให้รถวิทยุกองปราบปรามถอยกลับออกไป

ผมสั่งพลขับถอยกลับทันทีที่เห็นท่านสวัสดิ์ ด้วยความเชื่อมือและเชื่อใจท่าน

ผมมีแต่เพียงภาพจำเท่านั้น ไม่ได้ติดตามรายละเอียดของเสียงปืนแต่อย่างใด

และผมเชื่อที่เขาพูดกันว่านายตำรวจรุ่นพี่ที่เป็นแคนดิเดตตำแหน่ง อ.ตร.ในยุคท่านสวัสดิ์ต่างหลีกทางและร่วมมือกันสนับสนุน “วางตัว” ให้ท่านสวัสดิ์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของกรมตำรวจ

วิบากกรรมที่ท่านสวัสดิ์เผชิญมา เมื่อเปรียบเทียบกับความสุขสบายของคนมีบุญอย่างผมซึ่งเป็น “ตำรวจไซด์ไลน์” ตัวจริง คงจะทำให้เห็นชัดถึงความปกติธรรมดาของการรับราชการ

ผมคำนึงถึงเรื่องการ “วางตัวผู้นำ” ของนักเรียนเหล่า เมื่อได้อ่านคำวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งแต่งตั้งนายตำรวจชั้นนายพลล่าสุด (27 กันยายน 2561) ในการแต่งตั้งระดับผู้บังคับการ หรือ ผบก. มี “ขอยกเว้นหลักเกณฑ์เป็นกรณีพิเศษ” ในตำแหน่งสำคัญ เช่น พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ขึ้นเป็น ผบก.ป., พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ขึ้นเป็น ผบก.ถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ (ที่เพิ่งเปิดเป็นหน่วยใหม่) และ พ.ต.อ.สำราญ นวลมา ขึ้นเป็น ผบก.สปพ.

ผู้บังคับการหน่วยสำคัญข้างต้น เป็น นรต.รุ่น 50 อายุ 42 หรือ 43 ปี ซึ่งนับว่าเติบโตเร็ว ทำสถิติเกือบเทียบเท่า พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ครั้งขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบก.ตชด.ภาค 3 เมื่ออายุ 40 ปี

ในเนื้อข่าวไม่บอกรายละเอียดของการขอยกเว้นหลักเกณฑ์เป็นกรณีพิเศษนั้น ว่าเป็นหลักเกณฑ์อะไรบ้าง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหลักเกณฑ์ของระยะการครองตำแหน่ง หรือหลักเกณฑ์ของ “อาวุโส” นั่นเอง

ตัวผมเองซึ่งเติบโตในราชการอย่าง “ช้าผิดปกติ” แต่เมื่อครั้งเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น ผกก. ได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์เป็นกรณีพิเศษกับเขาเหมือนกัน เพราะผมไม่ได้ผ่านหลักสูตร ผกก. และเป็นการแต่งตั้งข้ามหน่วยงาน อย่างที่สื่อเรียกว่า “ข้ามห้วย”

ทั้งนี้ ด้วยความเอาจริงเอาจังของ พล.ต.ต.บุญชอบ พุ่มวิจิตร และ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ผบช.น. ยุคนั้น ที่ท่านชี้แจงหน่วยเหนือถึงความจำเป็นจนได้รับอนุมัติ

ผมจึงไม่รู้สึกต่อต้าน “การขอยกเว้นหลักเกณฑ์เป็นกรณีพิเศษ” หากผู้บังคับบัญชาสามารถชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นจนเป็นที่ยอมรับ

ส่วนในประเด็นของการ “วางตัว” ตามธรรมเนียมประเพณีของ “นักเรียนเหล่า” นั้น ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเพียงคำร่ำลือหรือไม่ จึงค้นหาข่าวสารเบื้องลึกเอาจากกูเกิลและเอาคำวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อโซเชียลมากลั่นกรอง แล้วก็ได้พบโปรไฟล์ของ “ผู้การประเทศไทย” พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช

เป็นบุตรของ พล.ร.อ.สมภพ ภูริเดช อดีตผู้การเรือรบหลวง จบมัธยม ร.ร.สาธิต ม.ศรีนครินทรวิโรฒ นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 34 นรต.รุ่น 50 ปริญญาโท MIS Management Information System จากสหรัฐ จบปริญญาเอกเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากจุฬาลงกรณ์ฯ จบหลักสูตรสืบสวนสอบสวนกลาง หรือ FBI จากสหรัฐ ฯลฯ

นี่อาจจะเป็นการ “วางตัวผู้นำตำรวจ” ในอนาคตก็ได้ หรืออาจจะเป็นการ “ปฏิรูปตัวเองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ก่อนที่จะถูกคณะกรรมการปฏิรูปฯ หั่นและลดทอนกำลังไม่ให้เติบโตไปกว่าเดิมก็ได้