เพ็ญสุภา สุขคตะ : รักของอินสนธิ์

เพ็ญสุภา สุขคตะ

รักขื่น คืนขม คนเหงา

กล่าวทิ้งท้ายไว้ในฉบับที่แล้วว่าฉบับนี้จะคุยกันถึงประเด็น “ชีวิตและความรัก” ของคุณลุงอินสนธิ์ วงค์สาม ว่าล้มลุกคลุกคลาน หน้ากลบพื้นกันมากี่ครั้งกี่ครา

และทุกวันนี้ หลังจากที่ “ไร้เงาป้าแหม่มแล้ว คุณลุงใช้ชีวิตอย่างไร”

“จริงหรือไม่ที่คุณลุงไม่เคยมีความรักกับ “สาวไทย” ชอบแต่ “สาวแหม่ม”?”

นี่คือคำถามที่หลายๆ คนมักยิงใส่คุณลุงเวลาต้องการทราบถึงเรื่อง “หัวใจ” เหตุที่ถามเช่นนี้เพราะจากประวัติคุณลุงในสูจิบัตรฉบับต่างๆ นั้น ระบุว่าสมรสอย่างเป็นทางการกับสตรีต่างชาติ 3 ครั้ง (เรื่องจดหรือไม่จดทะเบียนสมรสค่อยว่ากัน ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ)

คือคุณลุงจะให้เกียรติผู้หญิงทุกคนที่เคยใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่มีความจำเป็นต้องปกปิดซ่อนเร้น ตัดชื่อของสตรีที่เป็นอดีตเหล่านั้นทิ้ง

สตรีต่างชาติ 3 นางที่ว่า รายแรกได้แก่ คุณบาร์บาร่า ลูกครึ่งฝรั่งเศส-อเมริกัน เพื่อนสาวที่เรียนด้วยกัน ณ คณะมัณฑนศิลป์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

สตรีท่านแรกนี้ให้กำเนิดบุตรชายคนเดียวของคุณลุง ชื่อ อินสนธิ์วู้ด หรืออินสนธิ์น้อย (จูเนียร์)

ปัจจุบันอินสนธิ์น้อยก็มีอายุกว่า 50 ปี ใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกา

 

ต่อมาเมื่อชีวิตรักต้องเลิกรากับคุณบาร์บาร่า (และไม่นานเธอได้เสียชีวิตลง) คุณลุงเริ่มปลูกต้นรักใหม่อีกครั้งกับคุณลอร์ร่า ชาวอเมริกัน ที่กรุงนิวยอร์ก แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน

มหานครนิวยอร์กเป็นเมืองใหญ่ คุณลุงรู้สึกอึดอัด หายใจไม่ทั่วท้อง ไม่ถูกจริตหนุ่มยองป่าซางที่วัยเยาว์มองไปทางไหนก็เคยเห็นแต่ทุ่งนาฟ้ากว้างสันเขา คุณลุงกับคุณลอร์ร่าจึงได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งใหม่ใกล้ทะเล ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ 2 ปีก่อนกลับเมืองไทย

การใช้ชีวิตแบบมะริกันชน ที่วันๆ ต้องทำมาหาเงินหัวหมุน เป็นบ้าเป็นหลัง ทั้งค่าบ้าน ค่าเช่าแกลเลอรี่ ค่าส่งเสียดูแลอินสนธิ์น้อย ค่าวัสดุอุปกรณ์สร้างงานศิลปะ ศิลปินต้องแข่งขันกันร่ำรวยเพื่อสร้างชื่อเสียงจอมปลอม

ส่งผลให้คุณลุงเริ่มสะสมความเครียด หาทางออกด้วยการดื่มเหล้าเบียร์ ติดเหล้างอมแงม กลายgป็นโรคเครียดจัด (โรคนี้มีชื่อเฉพาะเป็นศัพท์ทางการแพทย์ แต่บทความนี้ขอสงวนไว้ไม่เปิดเผย)

คุณลุงรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ตายทั้งเป็นชัดๆ นี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณลุงต้องการ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ชีวิตศิลปินคนหนึ่งแสวงหา

 

ท่ามกลางสภาวะทางจิตใจที่สับสนขัดแย้ง กับสุขภาพร่างกายที่ทรุดโทรมปางตาย ป่วยทั้งกายและใจเกินเยียวยา คุณลุงเลือกที่จะละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ขอนับหนึ่งใหม่ ด้วยการเดินทางกลับมาใช้ชีวิตเงียบๆ ที่บ้าน “ห้วยไฟ” ตั้งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างอำเภอป่าซาง ทางเข้าสู่อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน

คุณลุงเฝ้าบำบัดรักษาอาการของตนเองด้วยการเข้าป่าปลีกวิเวกอยู่ตัวคนเดียว โดยที่คุณลุงไม่ได้หอบเอาทรัพย์ศฤงคารอะไรติดตัวกลับมาเมืองไทยเลยแม้แต่หนึ่งสลึง

ขณะนั้นในประเทศไทยมีโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวที่สามารถรักษาโรคนี้ได้คือ โรงพยาบาลศิริราช แรกๆ เมื่อกลับจากอเมริกามาใหม่ๆ คุณลุงต้องเดินทางไปฝั่งธนฯ เพื่อเข้าพบแพทย์ตามนัดหมายทุกเดือน แต่ต่อมาคุณลุงรู้สึกอึดอัด เกิดคำถามว่า “ทำไมชีวิตถึงต้องมีพันธนาการอะไรมากขนาดนี้หนอ?”

เริ่มนึกถึงคำพูดของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในช่วงที่คุณลุงเกิดอาการ “ขบถ” หรือ “แอนตี้สังคม” สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยศิลปากรว่า

“เด็กคนนี้ไม่มีอะไรหรอก เวลาดื้อมากๆ เขาไม่ต้องการใคร ให้จับเขาไปอยู่ป่าเงียบๆ สักระยะก็หาย”

และแล้วก็จริงตามนั้น อาจารย์ศิลป์เคยส่งคุณลุงไปบวชที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ 1 เดือน กลับมาสภาพจิตใจก็รู้สึกเป็นปกติ อาจารย์ศิลป์นี่สมกับเป็น “ครูที่แท้จริง” ท่านไม่ได้สักแต่ว่าสอนไปวันๆ แต่ห่วงใยลูกศิษย์เหมือนลูก ท่านค่อนข้างมีสัมผัสที่ 6 มองปัญหาของศิษย์ทุกคนด้วยสายตาที่เฉียบขาดเสมอ

คุณลุงจึง “อัปเปหิ” ตัวเองอีกครั้ง หนีจากโลกและสังคมไทย-เทศ ไปใช้ชีวิตเงียบๆ ที่บ้าน “ห้วยไฟ” ไร้ไฟฟ้า น้ำประปา วันๆ ปลูกผักกินเอง ขุดบ่อน้ำบาดาลเอง ไม่ติดต่อสื่อสารใครทั้งสิ้น

แต่แล้ว ดวงคนเราไม่ว่าอยู่ที่ไหน ไกลแสนไกลเพียงไร ถ้าจะเกิด “บุพเพสันนิวาส” ขึ้นซะอย่าง ต่อให้อยู่ในรูในเลี้ยวที่ไหนก็แล้วแต่ “เนื้อคู่” (แท้) ยังตามมาบรรจบพบเจอกันจนได้

 

ท่านจันทร์-เฮลิคอปเตอร์สื่อรัก
ความลำบากพิสูจน์น้ำใจแม่ญิงบริติช

สตรีคนที่สาม และเป็นคนสุดท้าย? ที่เข้ามานั่งในชีวิตคุณลุงมีนามกรว่า Venetia Walkey เวเนเชีย วอล์กคีย์ เป็นชาวอังกฤษโดยสัญชาติ เกิดและเติบโตในครอบครัวทหารใกล้กรุงลอนดอน แต่เชื้อสายดั้งเดิมเป็นสกุลเจ้าจากราชวงศ์แมกย่าของฮังการีที่เข้ามาตั้งรกรากในอังกฤษนานเกือบ 200 ปี

“ป้าแหม่ม” หรือที่ “ท่านจันทร์” – หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ตั้งชื่อให้ว่า “วนิดา” นั้น เข้ามาเกี่ยวข้องกับคุณลุงได้อย่างไรหรือ ในเมื่อคุณลุงอุตส่าห์หลบลี้หนีหน้าสังคมมาซ่อนตัวลิบลับกลางดงไพรซะขนาดนี้แล้ว

คนที่เป็นสะพานเชื่อมรักให้คุณลุงอินสนธิ์ (ในวัย 40) กับป้าแหม่ม (ในวัย 42 ป้าแหม่มแก่กว่าคุณลุงปีเศษๆ คือป้าแหม่มเกิดพฤษภาคม 2475 คุณลุงเกิดกันยายน 2477) โคจรมาพบกันก็คือ “ท่านจันทร์” มหากวี หะหายกระต่ายเต้นชมจันทร์ ของเรานี่เอง

ท่านจันทร์มาสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วงบั้นปลายชีวิต มีบ้านอยู่ที่เชียงใหม่ ท่านจันทร์เป็นกวีเชื้อสายเจ้าที่ชอบขลุกตัวอยู่กับเหล่าศิลปิน ชอบสะสมงานศิลปะ ซึ่งช่วงนั้นป้าแหม่มได้เดินทางมาพักผ่อนเยี่ยมบ้านท่านจันทร์ที่เชียงใหม่พอดี และตามกำหนดการอีกไม่กี่วันก็ใกล้จะเดินทางกลับประเทศอังกฤKแล้ว

ก่อนหน้านั้น ป้าแหม่มเป็นสาวไฮโซ ที่เคยแต่งงานกับท่านทูตทหาร มีบุตรธิดารวม 2 คน ต่อมาหย่าร้างกันไป ป้าแหม่มเดินทางมาเมืองไทยด้วยแรงบันดาลใจของคนที่หลงใหล “จิตวิญญาณตะวันออก” มาฝึกเรียนเขียนภาพกับอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ซึ่งขณะนั้น ท่านจันทร์กับท่านกูฏ (ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ) ก็ช่วยงานอาจารย์เขียนอยู่ ทำให้ท่านจันทร์รู้จักกับป้าแหม่ม

ท่านจันทร์เห็นว่าป้าแหม่มชอบงานศิลปะและชอบสังสรรค์กับศิลปินไทย จึงกระซิบกระซาบกับป้าแหม่มว่า

“นี่วนิดา มีศิลปินลำพูนคนหนึ่ง ใช้ชีวิตอยู่ในป่าคนเดียว เคยมีประสบการณ์เมืองนอกหลายประเทศ พูดอังกฤษ-ฝรั่งเศสได้ดี สนใจอยากรู้จักไหม”

นี่คือจุดเริ่มต้นของ “ความรักครั้งที่ 3” ไปๆ มาๆ คุณลุงอินสนธิ์ถูกท่านจันทร์ลากออกมาจากป่า ให้เห็นเดือนเห็นตะวัน หลังจากที่ไม่เอาสังคม ไม่พูดไม่จากับใครมานานแรมปี

คุณลุงเล่าว่า เมื่อทราบจากท่านจันทร์ว่ามีกวีศิลปินหม้ายสาวสวยชาวอังกฤษอายุรุ่นราวคราวเดียวกันอยากพบ อยากรู้จัก คุณลุงก็ไม่ลังเลใจ ยินดีออกจากป่าไปพบเธอผู้นั้น

“สถานที่ที่เรา “ปิ๊ง” กัน หรือยุคลุงเรียก “ตกหลุมรัก” กันก็คือ บนเฮลิคอปเตอร์”

อะฮ่า!

“คือว่าตอนนั้น หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ญาติของท่านจันทร์ รับผิดชอบโครงการหลวง ได้อำนวยความสะดวกให้เราเที่ยวดูไร่โครงการหลวงจากมุมบนโดยเฮลิคอปเตอร์ นั่งกัน 5 คน มีคนขับ ท่านจันทร์ ลูกชายท่านจันทร์ ลุง และป้าแหม่ม”

แล้วไงต่อ ผู้ฟังอยากรู้อย่างใจจดใจจ่อ แทบจะอดรนทนไม่ไหวแล้ว

“อีตาคนขับเหมือนว่าจะมึนเมาอะไรสักอย่าง หรือแกตั้งใจจะแกล้งให้คนเขารักกันก็ไม่รู้นะ ดันหาจุด landing เอาเฮลิคอปเตอร์ลงไปจอดไม่เจอสักที บินวนไปวนมาเจอแต่ป่าแต่เขาเป็น 3-4 ชั่วโมง ซึ่งท่านจันทร์ตั้งใจพาพวกเราขึ้นมาโรแมนติกกันแค่ครึ่งชัวโมงเท่านั้น ไปๆ มาๆ ก็พาไป landing ไกลถึงที่แม่สะเรียงโน่นซะอีก (ขาขึ้นขึ้นที่ฝาง) ตอนออกจากเฮลิคอปเตอร์ มือป้าแหม่มมาอยู่ในอุ้งมือลุงได้ไงก็ไม่รู้ ฮิฮิ”

อะนะ เอาเป็นว่าสุดท้ายก็รักกัน เพราะท่านจันทร์และเฮลิคอปเตอร์เป็นสื่อรักให้นี่เอง

ในที่สุดป้าแหม่มก็ไม่ยอมกลับอังกฤษ สาวบริติชเชื้อสายเจ้าฮังกาเรียนผู้ใจเด็ดคนนี้เลือกแล้ว ที่จะละทิ้งความสะดวกสบายทุกอย่าง ยอมร่วมหัวจมท้ายกับศิลปินยอง ท่ามกลางสิ่งทุรกันดาร

ใครจะเชื่อว่าทั้งสองศิลปินช่วยกันนฤมิต “ป่าดิบ” ให้เป็น “หอศิลป์อุทยานธรรมะ” อันอลังการ ลงหลักปักฐานกันนานถึง 42 ปี ก่อนที่ฝ่ายหญิงจะลาจากโลกนี้ไปโดยไม่มีวันหวนคืน

 

คุณลุงอินสนธิ์ ในวันที่ไร้เงาป้าแหม่ม

ป้าแหม่มเสียชีวิตในเดือนเกิดของท่านคือพฤษภาคมปี 2560 ผ่านไปกว่า 1 ปีแล้วที่คุณลุงอินสนธิ์ใช้ชีวิตโดยไม่มีเงาของป้าแหม่มเคียงข้าง

หอศิลป์อุทยานธรรมะ ที่เคยคึกคักมีชีวิตชีวา ด้วยการที่ป้าแหม่มชอบชวนแม่ญิงยองมานั่งทอผ้าฝ้ายใต้เรือนสรไน มีแปลงปลูกฝ้าย สาธิตวิธีการเก็บฝ้าย อีดฝ้าย ปั่นฝ้าย ย้อมสีฝ้าย ก็พลันเงียบเหงาเซาซบ

ป้าแหม่มชอบเชิญคนมานั่งปฏิบัติธรรมสวดมนต์ฟังธรรมด้วยกันในทุกๆ วันพระ เสียงสวดเสียงเทศน์พลันเลือนหาย ดอกลั่นทมหอมหยับที่ป้าแหม่มให้ทุกคนเด็ดมาคนละดอกเพื่อเอาจุดเทียนลอยน้ำใน “อ่างพรหมวิหาร 4” หรือห้อง “น้ำพุแห่งปัญญา” ของคุณป้าก็พลันเหี่ยวเฉาคาต้น

จักรยานที่คุณป้าเพียรพยายามสร้างสัญลักษณ์ที่กงล้อทั้ง 8 ว่ามีความหมายในเชิงพุทธศาสนาเทียบได้กับ “มรรคมีองค์ 8” ก็ดี หรือเทียบได้กับ “หลักสากล 8 ประการ” ที่ยูเนสโกระบุถึงสุขภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พึงจะมีก็ดี

ทีมเด็กปั่นจักรยานที่คุณป้าก่อตั้งขึ้นมา เพื่อช่วย “ตอกย้ำ” “จักรยานวัยเยาว์” ของคุณลุงจากป่าซางปั่นสู่โรงเรียนจักรคำคณาทรก็ดี และช่วย “ต่อยอด” จักรยานยนต์แลมเบรตต้า ที่คุณลุงอินสนธิ์ใช้ท่องทะยานจากเอเชียสู่ยุโรปก็ดี กลายเป็นจักรยานที่มีใยแมงมุมหุ้มห่อยืนพิงฝาในโรงเก็บอย่างเหงาๆ ไร้เงาเด็กน้อยปั่นเล่นไปมา

เราต้องยอมรับว่า ป้าแหม่มเป็นคนที่ “ช่างจำนรรจา” (talkative) และเป็นนักบริหารจัดการองค์กรเพื่อรับใช้สาธารณะ (มากกว่าจริตของคุณลุงอินสนธิ์ที่เป็นศิลปินจริงๆ และไม่สันทัดเอาเสียเลยด้านงานมวลชน) ป้าแหม่มกล้าเขียนโครงการของบจัดกิจกรรมวัน “Peace Day” (วันสันติภาพโลก) ป้าแหม่มรับเป็นเจ้าภาพเชิญ ติช นัท ฮันห์ และทะไลลามะ รวมถึงอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) มาร่วมเป็นวิทยากร หลากหลายครั้ง

เมื่อป้าแหม่มจากไป ทุกคนยอมรับว่า หอศิลป์อุทยานธรรมะเงียบเหงาลงไปมาก เพราะกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ป้าแหม่มเป็นคนบริหารจัดการ

 

ฉบับหน้า จะเป็นตอนอวสานสำหรับการนำเสนออัตชีวประวัติของคุณลุง จะเจาะลึกในประเด็นที่ว่า ทุกวันนี้ คุณลุงอินสนธิ์มีโปรเจ็กต์จะทำอะไรบ้างไหม (นอกเหนือจากการสร้างและขายงานศิลปะ ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของท่านอยู่แล้ว)

ดิฉันหมายถึง คุณลุงพร้อมที่จะสืบสานปณิธานงานโครงการต่างๆ แทนป้าแหม่มบ้างไหม

เข้าใจว่าคุณลุงไม่สันทัดงานเหล่านี้จริงๆ

แต่ในฐานะที่คุณลุงเป็นศิลปินแห่งชาติ คุณลุงจะเปิดพื้นที่หอศิลป์ของคุณลุง เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนชาวป่าซาง ชาวลำพูน ชาวล้านนา ชาวไทย

และชาวโลกอย่างไรต่อไปได้บ้าง