พระที่นั่งอนันตสมาคม : หน้าตาของความศิวิไลซ์ ในและนอกรั้วกำแพงวัง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ที่มา : wikipedia.org

พระที่นั่งอนันตสมาคม ที่สุดปลายของถนนราชดำเนิน ไม่ใช่พระที่นั่งที่ชื่อ “อนันตสมาคม” องค์แรกของสยาม

เพราะว่าก่อนหน้านี้ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีพระที่นั่งชื่อเดียวกันอยู่ในอะไรที่เรียกว่า “พระอภิเนาว์นิเวศน์” ซึ่งก็คือ หมู่พระราชมณเฑียรที่สร้างขึ้นใหม่จำนวน 11 หลัง (เป็นพระที่นั่ง 8 องค์ และหออีก 3 หอ) ในรัชกาลที่ 4 ระหว่างช่วง พ.ศ.2397-2402

ข้อความบางตอนใน “ประกาศเทวดาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร” ซึ่งก็คือคำประกาศที่ใช้ในการสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์ ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการสร้างหมู่พระที่นั่งใหม่เหล่านี้ของรัชกาลที่ 4 ว่า เป็นการสร้างพระราชวังตามแนวคิดแบบฝรั่งตะวันตก

ซึ่งก็สะท้อนถึงความศิวิไลซ์ ตามกรอบคิดในยุคสมัยของพระองค์เอาไว้ว่า

 

“…อนึ่งในแผ่นดินปัจจุบันนี้ได้มีทางพระราชไมตรีด้วยพระมหานครในแผ่นดินใหญ่ๆ ในแผ่นดินยุโรปแลทวีปอเมริกา…มีสิ่งของเครื่องราชบรรณาการมาถวายเจริญทางพระราชไมตรีล้วนๆ ดี หลายอย่างต่างๆ

ของจำพวกนี้จะทรงพระราชศรัทธาถวายบูชาพระรัตนตรัยในพระอารามหลวงเสียก็หาควรไม่ เพราะทูตที่มาแต่เมืองเจ้าของเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้น ก็เข้ามาเนืองๆ แล้วถามว่าเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้นยังคงเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงทางพระราชไมตรีสืบไปฤๅ ครั้งเมื่อจะจัดประดับประดาในพระที่นั่งสร้างอย่างสยามตามอย่างช่างโบราณ ก็จะดูพานขัดพระเนตร เปนที่ยิ้มเย้ยของแขกเมืองที่มาแต่ประเทศยุโรปจะพึงว่าได้ ว่าของสำหรับใช้อย่างอื่น เอามาใช้อย่างอื่นไป

เพราะฉะนั้น จึงโปรดให้ช่างสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์ โดยแบบอย่างท่วงทีคล้ายกับราชนิเวศน์ ซึ่งมีในมหานครข้างโยรปิยปถพี (คือ ยุโรปปฐพี, ผู้เขียน) เพื่อจะต้องท่วงทีกับสิ่งเครื่องประดับประดาที่ได้มาแต่โยรปิยมหานครต่างๆ ไว้สำหรับรับแขกเมือง และระลึกถึงทางพระราชไมตรีด้วยพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในโยรปิยปถพี เพราะทอดพระเนตรเห็นของราชบรรณาการพิเศษที่กล่าวมานี้อยู่เนืองๆ นั้น…”

(จัดย่อหน้าใหม่ เพื่อให้อ่านได้สะดวกขึ้นโดยผู้เขียน)

 

จากข้อความข้างต้นจึงสรุปได้ว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์ หรือพระราชนิเวศน์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ และใช้เก็บเครื่องราชบรรณาการของโลกตะวันตกเป็นการเฉพาะ คอลเล็กชั่นที่ถูกสะสมอยู่ในพระอภิเนาว์นิเวศร์นี้ก็คือ เครื่องราชบรรณาการที่แสดงให้เห็นถึงทั้งอำนาจและเครือข่ายความสัมพันธ์กับนานาชาติอารยะในโลกนั่นแหละครับ

สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระอภิเนาว์นิเวศน์นี้ ก็มีหน้าที่การใช้งานเพื่อการ “สมาคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” ตามชื่อของพระที่นั่งนี่แหละ คือเป็นพระที่นั่งที่รัชกาลที่ 4 เสด็จออกรับทูตจากประเทศต่างๆ ที่เดินทางมาทำหนังสือเจริญราชไมตรี ไม่ว่าจะเป็น ฮอลันดา, ปรัสเซีย, ฝรั่งเศส หรือโปรตุเกส เป็นต้น

ดังนั้น พระที่นั่งอนันตสมาคมฉบับโปรโตไทป์องค์นี้จึงเป็นพระที่นั่งองค์สำคัญ สำหรับเป็นหน้าเป็นตา และแสดงให้เห็นถึงความเป็นศิวิไลซ์ของสยาม ตามอย่างที่ระบุอยู่ในประกาศของรัชกาลที่ 4 ฉบับที่ผมคัดมาให้ดูกันข้างต้นนี่แหละ

แต่ถึงจะเป็นหน้าเป็นตาเท่าไหร่ ก็มีเฉพาะแขกบ้านแขกเมือง หรือผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์เท่านั้นเอง ที่จะสามารถเข้าไปชื่นชมกับหน้าตาของความศิวิไลซ์ที่รัชกาลที่ 4 ทรงเนรมิตให้กับสยามประเทศนี้ได้ เพราะหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ทั้ง 11 องค์ที่ว่านี้ ก็ล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นในเขตของพระบรมมหาราชวัง ที่มีกำแพงหนาเตอะ จนไพร่ธรรมดาๆ ที่ไหนก็มองเข้าไปไม่เห็นไม่ใช่หรือ?

และก็ยิ่งไม่ต้องนึกฝันว่าจะมีโอกาสเข้าไปเห็นความศิวิไลซ์ของประเทศตนเอง ให้เป็นบุญตาเลยด้วยซ้ำ

 

ดังนั้น ถึงแม้ว่ารัชกาลที่ 4 จะสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม รวมถึงพระอภิเนาว์นิเวศน์ทั้งหมู่ขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ของประเทศสยาม แต่ก็เป็นความศิวิไลซ์ที่ถูกล้อมอยู่ในกรอบของพระราชประเพณีเดิมๆ เกี่ยวกับคติการสร้างพระราชวังของสยามเท่านั้น

ในท้ายที่สุดพระที่นั่งองค์นี้ รวมถึงพระอภิเนาว์นิเวศน์ทั้งหมู่ก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้งานไปในรัชสมัยต่อจากนั้น เพราะว่าใน พ.ศ.2441 รัชกาลที่ 5 ก็ได้ทรงเริ่มต้นการสร้างพระราชวังดุสิต และทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังใหม่แห่งนั้น

ด้วยเหตุผลที่อ้างต่อๆ กันมาว่า ในพระบรมมหาราชวังนั้นอยู่กันอย่างแออัด และมีลักษณะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จึงทำให้ทั้งพระองค์เองและพระบรมวงศานุวงศ์นั้นประชวรกันอยู่บ่อยๆ

(และก็เป็นภายในพระราชวังแห่งใหม่นี้เอง ที่พระองค์ทรงริเริ่มสร้าง สวนพฤกษศาสตร์ หรือ Botanic garden ตามแนวคิดแบบตะวันตก คือ “เขาดินวนา” โดยมีสถานะเป็นกึ่งอุทยานภายในพระราชวังแห่งนี้ ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ)

พ.ศ.2445 นายคาร์โล อาเลกรี วิศวกรโยธา ชาวอิตาเลียน ผู้รับราชการอยู่ในสมัยนั้น ได้เข้าไปสำรวจพระอภิเนาว์นิเวศน์ รวมถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิม แล้วรายงานว่า พระที่นั่งองค์นี้ชำรุดและเสียหายมากแล้ว จนถึงกลับไม่แนะนำให้บูรณะซ่อมแซมกันเลยทีเดียว

เมื่อทรงได้รับคำแนะนำเช่นนั้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราชกระแสให้รื้อพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิมลง พร้อมๆ หมู่อาคารอื่นๆ ในพระอภิเนาว์นิเวศน์ โดยโปรดให้เก็บเสา กับศิลาที่ยังใช้การได้ไว้ใช้ในการอื่น

และก็ยังมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาด้วยว่า เป็นเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้รัชกาลที่ 5 โปรดให้นำชื่อของพระที่นั่งที่สำคัญในพระอภิเนาว์นิเวศน์ ไปตั้งเป็นชื่อของพระที่นั่งองค์ใหม่ในพระราชวังดุสิต เช่น พระที่นั่งนงคราญสโมสร ในสวนสุนันทา (ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต)

และก็แน่นอนว่า รวมถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย

 

น่าแปลกดีนะครับ รัชกาลที่ 5 เพิ่งจะทรงย้ายออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปอยู่ที่พระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ.2441 และเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น พระอภิเนาว์นิเวศน์ก็ชำรุดเสียหาย จนวิศวกรถึงกับแนะนำว่าไม่คุ้มที่จะบูรณะซ่อมแซม ทั้งๆ ที่พระอภิเนาว์นิเวศน์ทั้งหมู่ก็เพิ่งจะสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2402

พูดง่ายๆ ว่า พระราชมณเฑียร ที่เปรียบเสมือนหน้าตาความเป็น “อารยะ” ของประเทศสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 หมู่นี้ มีอายุการใช้งานแค่ไม่ถึง 50 ปีเสียด้วยซ้ำ?

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ พ.ศ.2442 หรือเพียงแค่ปีเดียวหลังจากที่รัชกาลที่ 5 เสด็จไปประทับที่พระราชวังดุสิต ก็โปรดให้มีการสร้างถนนราชดำเนิน เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างพระบรมมหาราชวัง กับพระราชวังดุสิต (ชื่อถนนก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น “ถนนของพระราชา”) โดยมีพระราชประสงค์ให้ถนนเส้นนี้เป็นความงามสง่าของบ้านเมืองเลยทีเดียว

ถนนราชดำเนินสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2446 เมื่อขยายแนวถนนจักรวรรดิวังหน้าเดิม เริ่มจากมุมถนนหน้าพระลาน และถนนสนามไชย มาบรรจบกับริมสนามหลวงด้านทิศตะวันออก ซึ่งจะต่อทอดไปถึงถนนราชดำเนินกลางที่สะพานผ่านพิภพลีลา เป็นอันต่อเส้นทางดำเนินของพระราชาระหว่างพระบรมมหาราชวัง กับพระราชวังแห่งใหม่คือพระราชวังดุสิต ที่รัชกาลที่ 5 ทรงประทับอยู่ตลอดช่วงปลายรัชสมัยของพระองค์

พร้อมๆ กับที่ได้เปลี่ยนเอาความศิวิไลซ์ของประเทศ ที่เคยกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตพระบรมมหาราชวัง ตามจักรวาลวิทยาแบบไทยๆ ออกมาสู่ภายนอกที่ประชาชน และผู้คนสามารถสัมผัสถึง (ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงเฉพาะผู้คนในเมืองกรุงเทพฯ ก็ตาม)

 

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ “พระที่นั่งอนันตสมาคม” องค์ใหม่ ซึ่งก็คือองค์ที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ โดยทรงพระราชทานนามพระที่นั่งเหมือนอย่างพระที่นั่งในพระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งก็แน่นอนด้วยว่ามีพระราชประสงค์ให้พระที่นั่งเป็นสถานที่สำหรับ “สมาคมไม่รู้จบ” ตามอย่างที่พระที่นั่งองค์เดิมของรัชกาลที่ 4 เคยถูกใช้งานในการต้อนรับบรรดาทูตจากนานาอารยประเทศ

(และก็เป็นในวันเดียวกันนี้เอง ที่ได้ทรงเสด็จเปิด พระบรมรูปทรงม้า ขึ้นที่ลานหน้าพระราชวังดุสิต โดยกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-18 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 เพื่อเฉลิมฉลองที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ครบ 40 ปีบริบูรณ์ และกำลังจะก้าวขึ้นสู่ปีที่ 41 ซึ่งนับว่าทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สยามในขณะนั้น อย่างมีนัยยะสำคัญ)

น่าสนใจนะครับ พระที่นั่งอนันตสมาคมองค์ใหม่นี้ ถูกตั้งอยู่ที่ปลายสุดของถนนราชดำเนินที่เชื่อมโยง “พระบรมมหาราชวัง” อันเป็นตัวแทนของอำนาจในจักรวาลวิทยาแบบก่อนจะเข้าสู่สมัยใหม่ของไทย เข้ากับ “พระราชวังดุสิต” ที่เป็นตัวแทนของอำนาจในจักรวาลวิทยาแบบใหม่ของสยาม ที่ความศิวิไลซ์ไม่ได้ถูกเก็บเอาไว้เฉพาะในกรอบของกำแพงพระบรมมหาราชวัง เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้

พระที่นั่งอนันตสมาคมองค์ใหม่ จึงเป็นหน้าตาของศูนย์กลางความศิวิไลซ์ ที่หลุดออกมาจากกำแพงพระบรมมหาราชวัง โดยมีเครือข่ายต่างๆ ที่ใช้แสดงถึงความเป็นอารยะ ไม่ว่าจะเป็นถนนราชดำเนิน, พระบรมรูปทรงม้า และเขาดินวนา เป็นต้น