เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : วิตกแห่งวิจารณ์

ไร่วมงานค่ายวรรณกรรมเยาวชนในโครงการชื่อ “อ่านเขียน เรียนรู้สู่งานวิจารณ์” จัดโดยธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น สถานที่ ณ อาศรมวงศ์สนิท รังสิต คลองสิบห้า ระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคมที่ผ่านมา จัดมาเป็นปีที่ 4

ผู้เข้าอบรมคือเยาวชนระดับมัธยมปลายกับอุดมศึกษา จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ จำนวนราวหนึ่งร้อยคน

นอกจากไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้วผู้ได้รับคัดเลือกจากผลงานที่ส่งมาคัดกรองทั้งหมดนี้ ยังได้รับทุนการศึกษาคนละสองหมื่นบาททุกคนอีกด้วย

วิทยากรสามท่านมีชมัยภร บางคมบาง จรูญพร ปรปักษ์ประลัย วีรศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

วรรณกรรมสามประเภท มีสารคดี เรื่องสั้น และบทกวี โดยแบ่งกลุ่มตามความสนใจจากงานทั้งสามประเภท

งานตัวอย่างยกเป็นเรื่องให้ฝึกวิจารณ์ ดังนี้

สารคดีคือเรื่อง “สะพานไม่เหนือสายน้ำเชี่ยว” ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

เรื่องสั้นคือ เรื่อง “เสื้อคลุมของผู้พัน” ของศิริพงศ์ หนูแก้ว ซึ่งเป็นเรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้าปีนี้

บทกวีคือ “ธงชาติผืนเก่า” ของจันทร์ เดือนแรม กวีรางวัลพานแว่นฟ้าปีนี้เช่นกัน กับบทกวีชื่อ “ปลายทางของเส้นขนาน” ของระวี ตระการจันทร์ รางวัลพานแว่นฟ้าอีกเช่นกัน

เป็นค่ายวรรณกรรมที่มีชีวิตชีวาของคนหนุ่มสาวต่างสถาบันจากทุกภาคที่มีรสนิยมเดียวกัน

คือ รักงานวรรณกรรม

ไม่ใช่แค่รักอ่านรักเขียนเท่านั้น แต่รักที่จะ “วิจารณ์” ด้วย ซึ่งนับเป็นสุดยอดของการรักวรรณกรรมนั่นเลยทีเดียว

วิจารณ์คือการพิจารณา ติชม ซึ่งต้องใช้ภูมิรู้ชนิดที่เรียกว่าเป็น “วิจารณญาณ” คือความรู้ที่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นอย่างไร คืองานนั้นมีดีมีด้อย ทั้งรูปแบบและเนื้อหา กับประเมินคุณค่าของงานนั้นได้ด้วย

ภูมิรู้แห่งวิจารณญาณตรงนี้แหละที่สังคมเราวันนี้ยังขาดอยู่ ที่จริงไม่เฉพาะวรรณกรรมเท่านั้น หากในงานศิลปะแทบทุกแขนงทั้งจิตรกรรม ปฏิมากรรม สถาปัตยกรรม นาฏกรรม (คือการแสดง) คีตกรรม และวรรณกรรม

เราปล่อยให้งานศิลปกรรมเหล่านี้ตกอยู่ในสภาพตามยถากรรมจริงๆ หรือ

จริงอยู่ หน่วยงานรัฐได้เข้ามาดูแลอยู่บ้าง ดังมีกระทรวงวัฒนธรรม กับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดประกวด จัดแสดงงานศิลปกรรมทั้งหลายอยู่ไม่น้อยเลย

แต่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นงานส่วนปลายส่วนยอด โดยมีส่วนที่เป็นรากเป็นฐานนั้นเรากลับละเลยไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร

ตัวอย่างงานวรรณกรรมที่เรายังไม่ใส่ใจเท่าที่ควรคือ การปลูกฝังและส่งเสริมนิสัย “รักการอ่าน”

เราส่งเสริมให้มีหนังสือดี แต่งดี แต่เราละเลยด้านส่งเสริมการอ่าน คือการมีคนอ่านจำนวนมากดีไปพร้อมกันด้วย

เพราะฉะนั้น สภาพการณ์วันนี้คือ หนังสือดีมีมาก หรือมีจำนวนที่เป็นปฏิภาคผกผันกับจำนวนผู้อ่าน ซึ่งมีอยู่จำกัด แต่เท่าเดิมหรือน้อยลงด้วยซ้ำไป

ความข้อนี้ไม่ได้หมายให้ลดการส่งเสริมดังที่มีอยู่ ทำอยู่นี้ดีแล้ว ควรทำเพิ่มขึ้นไปเถิด เพียงแต่ขอให้ช่วยกันดูแลในส่วนที่เป็นฐานรากด้วย

มีหนังสือดีแต่ไม่มีคนอ่าน

นี่คือยถากรรมของบ้านเราวันนี้

ผู้รู้ว่าไว้ว่า

“คนที่รู้หนังสือแต่ไม่อ่านหนังสือ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ไม่รู้หนังสือ”

วันนี้บ้านเราก็กำลังเป็นอย่างนี้คือ มีคนไม่รู้หนังสือเพราะไม่อ่านหนังสือมากที่สุด เกือบจะเป็นอันดับท้ายๆ ของกลุ่มประเทศอาเซียนแล้วกระมัง

เคยมีภาพเผยแพร่เด็กนักเรียนมัธยมญี่ปุ่นมาเที่ยวไทยที่สนามบินเชียงใหม่ เด็กยึดพื้นที่นั่งเต็มพื้นหยิบหนังสือมาอ่านอย่างเอาจริงเอาจังกันทั้งห้อง

อีกข่าวคือสิ่งที่เด็กนักเรียนฟินแลนด์กลัวที่สุดคือ การลงโทษไม่ให้อ่านหนังสือสองวัน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต้องร่วมกันใส่ใจส่งเสริมสนับสนุนให้มาก ไม่แพ้การจัดประกวดให้รางวัลก็คือ การส่งเสริมการอ่าน ส่งเสริมการรักในศิลปะทุกแขนง ไม่ใช่มุ่งให้เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ หากให้เป็นผู้เสพงานศิลป์ที่ดีให้มากที่สุดอย่างจริงจังและจริงใจด้วย

งานวรรณกรรมก็คือ การส่งเสริมให้รักอ่าน

ดังค่าย “อ่านเขียน เรียนรู้สู่งานวิจารณ์” ที่จัดกันนี้

สถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งหลายก็ควรมีกิจกรรมเชิงรูปธรรมทำนองนี้ให้มากขึ้น

ช่วยดึงเด็กออกมาจากจอแผ่น ก้าวสู่แผ่นกระดาษจริงๆ กันเถิด

ต่อไปนี้ลองอ่านข้อเขียนวิจารณ์งานวรรณกรรมของเยาวชนจากค่ายดังกล่าว ซึ่งคัดตัดตอนมาพอเป็นตัวอย่าง ดังนี้

สารคดี วิจารณ์โดย นิศามณี ศรีสุข ม.วลัยลักษณ์

“…เหตุการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์เรื่องใดๆ ความเจ็บใจ และความยากลำบากกายใจ ยังคงไหลวนกลับมากลับไปในหัวไม่จบสิ้น และได้ฝากทิ้งท้ายไว้อย่างน่าเห็นใจ ทำให้ดิฉันเข้าใจถึงหัวอก ความโดดเดี่ยวของผู้เขียนอย่างสุดใจด้วยประโยคสุดท้ายที่ว่า… “รู้เพียงว่า ณ ที่นี้… ผมคงต้องดิ้นรนสร้างสะพานอยู่โดยลำพัง” ฯ”

เรื่องสั้นวิจารณ์โดย พัชรพร ศุภผล ม.ราชภัฏภูเก็ต

“…ผู้พันวิสันต์ทำเสื้อคลุมหายไปแล้ว แต่ในชีวิตจริงของเราทุกท่าน ยังมีผู้คนที่สวมทัพเสื้อคลุมนั้นอยู่ เราทุกท่านเองก็เช่นกัน ข้าพเจ้าเลือกสีเสื้อคลุมแล้ว ท่านล่ะ เลือกเสื้อคลุมสีอะไร หาคำตอบในใจด้วยตัวท่านเองเถิด ฯ”

บทกวีวิจารณ์โดย อมลวรรณ จันเพชร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“…ไม่ควรย้อมสีธงชาติใหม่ สิ่งใดที่เป็นอยู่แล้วนั้น เราควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ถึงย้อมสีไปก็ไม่อาจบดบังความจริงที่เกิดขึ้นได้ “ธงชาติผืนเก่า” ได้สื่อถึงการเป็นพลเมืองที่ดีของชาติในระบอบประชาธิปไตย ผ่านวิธีการสอนในสถาบันครอบครัว ฯ”

หลากหลายข้ดคิดเห็นที่ได้จากการอ่านวรรณกรรมของคนหนุ่มสาวเยาวชน ให้ความหวังถึงความดีมีค่าไม่เฉพาะชีวิตพวกเขาเท่านั้น

หากคืออนาคตของประเทศเราด้วย