จาก 6 ตุลาฯ กลับไป 14 ตุลาฯ และนักประวัติศาสตร์ที่ขโมยประวัติศาสตร์?! (3)

คราวที่แล้ว ผู้เขียนได้ตั้งคำถามว่า “ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ขโมยกันได้หรือไม่?”

แล้วผู้เขียนก็พยายามตอบคำถามที่ตัวเองตั้งขึ้นมา โดยเริ่มจากสมมุติฐานที่ง่ายที่สุด นั่นคือ ประวัติศาสตร์ที่เป็นข้อเขียนที่ถูกบันทึกไว้ในกระดาษ

เมื่อเรื่องราวถูกบันทึกไว้ในกระดาษ กระดาษนั้นก็ย่อมถือว่าเป็น “ประวัติศาสตร์” ได้ และเมื่อมีใครขโมยกระดาษชุดนั้นไป ก็ย่อมถือได้ว่าคนคนนั้นขโมยประวัติศาสตร์

และประวัติศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่ขโมยกันได้ตามเงื่อนไขที่ว่านี้

แต่การขโมยประวัติศาสตร์แบบนี้ จะส่งผลเสียต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นและถูกบันทึกไว้ก็ต่อเมื่อ

1. คนที่ขโมยไป เอาไปทำลาย ส่งผลให้ไม่มีใครรู้เรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ ไม่ว่าเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้นั้นจะจริงหรือเท็จ หรือจริงบ้างเท็จบ้างก็ตาม ยิ่งหากไม่มีใครอื่นที่บันทึกเรื่องราวที่ว่านั้นไว้ เรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ในกระดาษที่ถูกทำลายไปก็จะมลายหายไปด้วย ปล่อยให้คนรุ่นหลังเขียนประวัติศาสตร์ช่วงนั้นก็ไปตามยถากรรม หรือตามแต่จะมโนกันไป หากไม่มีหลักฐานอะไรหลงเหลือหลุดรอดมาให้ปะติดปะต่อตีความ

2. คนที่ขโมยไปเอาไปเก็บซ่อนไว้ ไม่เปิดเผย ซึ่งตราบเท่าที่ยังไม่เปิดเผย ผลก็ไม่ต่างจากข้อ 1

3. คนที่ขโมยไปแก้ไขข้อความในกระดาษนั้น ในแง่นี้ ถ้าไม่มีหลักฐานอื่นหลงเหลืออยู่ สิ่งที่ถูกบิดเบือนหรือตัดทอน ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่หายไป ก็เท่ากับขโมย

4. แต่ถ้าคนที่ขโมย ขโมยเพื่อไปขายหาสตางค์ คนที่ซื้อไปเอาไปเปิดเผยโดยไม่ได้มีการแก้ไขตัดทอนบิดเบือนแต่ประการใด ในแง่นี้ แม้ว่ากระดาษจะถูกขโมย หรือเปลี่ยนมือ

แต่ประวัติศาสตร์ไม่ได้ถูกขโมย เพราะข้อความที่บันทึกเรื่องราวนั้นยังอยู่เหมือนเดิม

 

ซึ่งในข้อ 4 นี้ ความ “จริง” (จริงตามที่ปรากฏตามตัวหนังสือในกระดาษ) ก็ยังคงความ “จริง” อยู่ ดังที่ตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ยกเรื่องพลังอำนาจของภาษาเขียนที่ผู้เขียนได้มาจากการอ่านงานของ อุมแบร์โต เอโค และ อุมแบร์โต เอโค ได้เอามาจากงานของ จอห์น วิลคินส์ ที่พิมพ์ในปี ค.ศ.1641 เรื่อง “Mercury, or, The secret and swift messenger : Shewing, how a man may with privacy and speed communicate his thoughts to a friend at any distance”

ซึ่งในแง่นี้และในเรื่องนั้น ประวัติศาสตร์ไม่ได้ถูกขโมย มีแต่ผลไม้เท่านั้นที่ถูกขโมย!

แต่ถ้ามีคนมองว่า “ประวัติศาสตร์” หรือการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตหรืออีกนัยหนึ่งคือ “ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์” (historical understanding) เป็นอะไรที่ไม่สามารถแยกออกจากจุดยืนและข้อจำกัดของคนคนหนึ่ง (คนที่เขียนหรือเล่าหรือพยายามสื่อสารเรื่องราวในประวัติศาสตร์) ที่พยายามหาความเข้าใจในประวัติศาสตร์นั้น อีกทั้งสำนึกของจุดยืนของเขาคนนั้น—ในกระบวนการที่เขาพยายามที่จะบรรยายและอธิบายสาเหตุและผลที่เกิดขึ้น—ก็ฝังลึกและตีกรอบขอบเขตของคำอธิบายทั้งหลายแหล่นั้นของเขาด้วย

ถ้าประวัติศาสตร์เป็นอย่างที่กล่าวมานี้ การขโมยประวัติศาสตร์ยังจะเป็นไปได้อยู่หรือไม่?

 

อย่างในกรณีเรื่อง “Mercury, or, The secret and swift messenger : Shewing, how a man may with privacy and speed communicate his thoughts to a friend at any distance” เราจะพบว่า แม้ว่าเจ้านายและคนรับใช้จะเห็นพ้องต้องกันว่า มีการขโมยผลไม้เกิดขึ้น และ (ยังดีที่) คนรับใช้ก็ยอมรับว่าแอบขโมยกิน แต่เจ้านายก็มีประวัติศาสตร์ในแบบของเขา นั่นคือ ข้อความในจดหมายของเขาคือหลักฐานสำคัญ แต่คนรับใช้ก็มีประวัติศาสตร์ของเขาอีกต่างหากด้วย

เพราะคนรับใช้เข้าใจว่า จดหมายนั้นคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่างที่มีอำนาจวิเศษหยั่งรู้ได้ แม้ว่าเขาจะเอาจดหมายไปซ่อนแล้ว จดหมายก็ยังหยั่งรู้อย่างถูกต้องแม่นยำได้ว่าเขาแอบกินผลไม้ไปกี่ลูก เจ้านายและคนรับใช้ต่างก็มีประวัติศาสตร์หรือความเข้าใจในประวัติศาสตร์ตาม

“จุดยืนและข้อจำกัดของแต่ละคน อีกทั้งสำนึกของจุดยืนของแต่ละคนก็ฝังลึกและตีกรอบขอบเขตของคำอธิบายทั้งหลายแหล่นั้นของแต่ละคนด้วย

ขณะเดียวกัน การที่ผู้เขียนขออนุญาตปรับแต่งเรื่อง “คนรับใช้ชาวพื้นเมือง-ผลไม้และกระดาษแผ่นหนึ่ง” จากงานของ อุมแบร์โต เอโค จะถือว่าเป็นการขโมยประวัติศาสตร์หรือเปล่า?

หรือเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์?

และการที่ อุมแบร์โต เอโค ยืมเรื่องดังกล่าวมาจาก จอห์น วิลคินส์ อีกทีหนึ่งนั้น ถือว่าเป็นการบิดเบือนหรือขโมยประวัติศาสตร์ด้วยหรือไม่?

และระหว่าง “ขโมย” กับ “บิดเบือน” อันไหนผิดมากกว่ากัน?

 

ขณะเดียวกัน ถ้าเปลี่ยนจากเรื่อง “คนรับใช้ชาวพื้นเมือง-ผลไม้และกระดาษแผ่นหนึ่ง” มาเป็นเรื่องอื่น

เช่น สมมุติว่า หลายปีที่แล้ว ชายหญิงคู่หนึ่งจูบกันในที่สาธารณะ และสังคมขณะนั้นถือว่าเป็นเรื่องต้องห้าม ผิดทั้งกฎหมายและประเพณี การจูบกันในที่สาธารณะถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก และชายหญิงคู่นั้นถูกจับเมื่อหลายปีที่แล้ว

แต่หลายปีผ่านมา ทั้งคู่ยืนยันว่า ไม่ได้จูบ แต่แค่บังเอิญปากอยู่ใกล้กันเท่านั้น ผู้คนในสังคมนั้นก็ยังถกเถียงกันอยู่มาโดยตลอดว่า ตกลงแล้ว ชายหญิงคู่นั้นทำผิดจริงหรือเปล่า?

ซึ่งชายหญิงคู่นั้นจะตั้งใจจูบกันหรือปากไปบังเอิญอยู่ใกล้กัน มันพิสูจน์ยาก เพราะมันอยู่ในใจของคนทั้งสอง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สังคมคลี่คลายไปในหลายๆ เรื่อง และการจูบกันในที่สาธารณะไม่ได้เป็นประเด็นอ่อนไหวเท่าไร อยู่มาวันหนึ่ง ชายหญิงคู่นั้นออกมายอมรับว่าวันนั้นเมื่อหลายปีที่แล้ว ได้จูบกันจริงๆ การปฏิเสธมาตลอดและมายอมรับในตอนหลัง ถือว่าขโมยประวัติศาสตร์ไปหรือไม่?

นั่นคือ ตลอดเวลาที่พวกเขาไม่ยอมรับ ถือว่าขโมยประวัติศาสตร์ไป และเมื่อยอมรับถือว่า “คืน” ประวัติศาสตร์ ใช่หรือไม่?

จะถือว่าเป็นการขโมยหรือไม่ก็คงต้องไปถกเถียงกัน

แต่สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ อะไรทำให้พวกเขาปฏิเสธตลอดเวลาที่ผ่านมา และอะไรที่ทำให้พวกเขาเพิ่งมายอมรับทีหลัง?

 

ในกรณี 14 ตุลาคม 2516 มีผู้เล่าเรื่อง (ประวัติศาสตร์ในความเข้าใจของเขา) ว่า

“เมื่อเวลาประมาณ 06.05 นาฬิกา ของวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม โดยการปะทะกันดังกล่าว บานปลายเป็นการจลาจล และลุกลามไปยังท้องสนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถนนราชดำเนินตลอดสาย รวมถึงย่านใกล้เคียง โดยในเวลาบ่าย พบเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่ง บินวนอยู่เหนือเหตุการณ์ และมีการยิงปืนลงมา เพื่อสลายการชุมนุม ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เชื่อว่า บุคคลที่ยิงปืนลงมานั้นคือ พันเอกณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพลถนอม และบุตรเขยของจอมพลประภาส ซึ่งคาดหมายว่าจะสืบทอดอำนาจต่อจากจอมพลถนอม และจอมพลประภาส”

แต่ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ.2546 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเวลา 30 ปี มีผู้เล่าเรื่องโดยอ้างอิงจากเอกสารราชการลับในเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่าทั้ง พ.อ.ณรงค์ และจอมพลถนอม มิได้เป็นผู้สั่งการในเหตุการณ์ 14 ตุลา และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ยังได้กล่าวอีกว่า พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่นิสิต นักศึกษา และประชาชนในการชุมนุม

แต่ก็เป็นการชี้แจงหลังเกิดเหตุมาเกือบ 30 ปี และเป็นการชี้แจงเพียงฝ่ายเดียวโดยที่ฝ่ายครอบครัวของทาง พล.อ.กฤษณ์ มิได้มีโอกาสชี้แจงกลับ

คำกล่าวของ พ.อ.ณรงค์ ขัดแย้งกับ นายโอสถ โกศิน อดีตรัฐมนตรีที่ใกล้ชิดกับ พล.อ.กฤษณ์ ซึ่งระบุว่า “พล.อ.กฤษณ์ เป็นบุคคลสำคัญที่ไม่ยอมให้มีการปฏิบัติการขั้นรุนแรงแก่นักศึกษา”